จริยธรรม “ลอรีอัล” Transparency Grand Prix

อาจเป็นเพราะเมื่อเดือนตุลาคม 2560 ผ่านมา ประมวลจริยธรรม (Code of Ethics) ของ ลอรีอัล กรุ๊ป ได้รับรางวัล Transparency Grand Prix จากงานประกาศผลรางวัล Grand Prix de la Transparence ครั้งที่ 8 ในสาขารางวัลใหม่ที่มีการมอบให้ครั้งแรกสำหรับปีนี้

ทั้งนั้นเพราะ Transparency Grand Prix เป็นรางวัลที่มอบให้แก่ภาคธุรกิจที่ดำเนินกิจการด้วยความโปร่งใส โดยยึดตามผลของการศึกษาความโปร่งใสที่สรุปออกมาในแต่ละปี โดยมีรายงานในเอกสารทางการเงินสาธารณะของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในกลุ่มดัชนี SBF 120 ของประเทศฝรั่งเศส

สำหรับเรื่องนี้ “ฌอง-ปอล แอกง” ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารลอรีอัล กรุ๊ป กล่าวว่า เราภูมิใจที่คณะกรรมการด้านวิชาการอิสระของ Transparency Grand Prix ตัดสินให้ประมวลจริยธรรม (Code of Ethics) เป็นสิ่งสำคัญต่อการดำเนินงานของบริษัท เราทุกคนรู้สึกเป็นเกียรติที่ประมวลจริยธรรมของเราได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภายนอก

คำถามจึงเกิดขึ้นว่า “ประมวลจริยธรรม” ทำไมถึงมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของลอรีอัล กรุ๊ป ?

และใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานทางด้านจริยธรรม (Ethics) ของลอรีอัล กรุ๊ป ?

คำตอบคือจริยธรรมขององค์กรมีความสำคัญเช่นเดียวกับผลประกอบการทางธุรกิจ และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และลอรีอัล กรุ๊ป ที่ก่อตั้งขึ้นบนพื้นฐานของหลักจรรยาบรรณที่เข้มแข็ง อันเป็นแนวทางการขับเคลื่อนจริยธรรมขององค์กร ประกอบด้วย 4 เรื่องด้วยกัน คือ ความซื่อตรง (integrity), ความเคารพซึ่งกันและกัน (respect), ความกล้าหาญ (courage) และความโปร่งใส (transparency)

ทั้งยังมีเป้าหมายสำคัญที่จะทำให้ลอรีอัล กรุ๊ป เป็นองค์กรตัวอย่างในทุกประเทศทั่วโลก ด้วยการบูรณาการหลักจริยธรรมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหัวใจในการดำเนินธุรกิจ ที่จะต้องมีนโยบายทางด้านจริยธรรม คือ นวัตกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคม, การรักษาสิ่งแวดล้อม, สังคม และความรับผิดชอบทางสังคม และความมีใจรักเพื่อนมนุษย์

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นคำตอบที่ลอรีอัล กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจตามนโยบายจริยธรรมขององค์กร ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2543 ที่มีการจัดทำจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ พร้อมกับแต่งตั้งผู้บริหารสูงสุดฝ่ายจริยธรรมองค์กรขึ้นในปี 2550 ทั้งยังมีการปรับปรุงจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจเรื่อยมา ด้วยการจัดพิมพ์เป็น 45 ภาษา รวมทั้งอักษรเบรลล์ และเอกสารอิเล็กทรอนิกส์อีกกว่า 22 ภาษา

ที่สำคัญ ลอรีอัล กรุ๊ป ยังเป็นหนึ่งในองค์กรชั้นนำที่เข้าร่วมโครงการข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (Global Compact Lead Company) โดยได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 100 องค์กร ที่ติดอันดับใน Global Compact 100 Stock Index เพื่อร่วมลงนามยอมรับหลักการเสริมสร้างพลังแห่งอำนาจสตรี อันเป็นข้อริเริ่มของผู้หญิงในองค์การสหประชาชาติ และข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติที่สอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

จนกระทั่งปี 2560 ลอรีอัล กรุ๊ป ได้รับการยกย่องให้เป็นองค์กรที่มีจริยธรรมสูงสุดของโลก (World”s Most Ethical Company) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8

ฉะนั้นเมื่อถามว่า ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังต่อการผลักดันทิศทาง และนโยบายทางด้านจริยธรรมของลอรีอัล กรุ๊ป จนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ คำตอบคือ “เอ็มมานูเอล ลูแลง” รองประธานกรรมการอาวุโส และประธานฝ่ายจริยธรรมของลอรีอัล กรุ๊ป ซึ่งเมื่อไม่นานผ่านมา เขามีโอกาสเดินทางมายังสำนักงานลอรีอัล (ประเทศไทย) พร้อมกับให้สัมภาษณ์หลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องจริยธรรมขององค์กรโดยเฉพาะ

“เอ็มมานูเอล ลูแลง” บอกว่า ลอรีอัลมีความเชื่ออย่างมากว่า การที่วัฒนธรรมทางด้านจริยธรรมเข้มแข็ง จะทำให้องค์กรเข้มแข็งไปด้วย ต่างจากองค์กรที่ไม่ค่อยมีจริยธรรม เพราะการมีจริยธรรมจะช่วยปกป้องสินทรัพย์ ปกป้องมูลค่าของบริษัท ทั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์กร

“สำหรับผมความเชื่อมั่นเปรียบเสมือนค่าเงินในการวัดองค์กรว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ นอกเหนือจากมูลค่าทางการลงทุนทางการเงิน ผมจึงเชื่อว่า ความซื่อสัตย์ คือ ผลพลอยได้จากการที่เรามีจริยธรรม และการมีจริยธรรมจะทำให้องค์กรดีตามไปด้วย เพราะทำให้พนักงานรู้สึกมีส่วนร่วม และเป็นตัวดึงดูดให้คนมีความสามารถเข้ามาทำงาน หรือว่ารักษาคนให้สามารถทำงานกับบริษัทต่อไปได้”

“เพราะบริษัทต้องพึ่งพาคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันมีการเรียกร้อง และตั้งคำถามมากขึ้นกับบริษัทเรื่องของวัฒนธรรมการทำงาน เขาอยากทำงานกับบริษัทที่มีความซื่อสัตย์ และอยากทำงานกับบริษัทที่มีจริยธรรม เราจึงต้องทำให้เขาเชื่อว่าองค์กรของเรามีจริยธรรม เราต้องทำให้เขาเชื่อว่า องค์กรของเรามี purpose ที่ต้องการเพิ่มฐานลูกค้าในประเทศเกิดใหม่ หรือตลาดใหม่ ๆ”

“แต่การจะไปถึงตรงนั้นได้ เราต้องเผชิญกับความท้าทาย 2 เรื่อง คือ สิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติในธุรกิจ เราต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย เพราะเกี่ยวข้องกับปรัชญาการบริหารองค์กร และแนวทางในการบริหารจัดการคน”

“เอ็มมานูเอล ลูแลง” บอกว่า เรื่องของปรัชญาการบริหารองค์กร เราต้องยอมรับก่อนว่า ลอรีอัลเป็นผู้นำทางด้านความงาม และเราไม่สามารถมองข้ามความงามจากภายในได้ ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เช่นเดียวกับแนวทางในการบริหารคน เนื่องจากลอรีอัลมองเห็นความเป็นมนุษย์ของทุกคนบนโลกใบนี้ เราไม่ใช่องค์กรของการทำตามกฎระเบียบ

“ดังนั้น การที่เรานำเรื่องจริยธรรมเข้ามาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ จึงเป็นการทำให้พนักงานทุกคนเห็นความเชื่อมั่นในระยะยาว ทำให้เขาเชื่อใจ มั่นใจว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ในทุกประเทศที่เรามีสาขา และเราให้ความสำคัญกับภาษาท้องถิ่น เราจึงแปลบทบัญญัติของจริยธรรมออกเป็น 45 ภาษา มีอักษรเบรล์สำหรับคนตาบอดด้วย ที่สำคัญ เราสนับสนุนทุกคนให้พูดในสิ่งที่คิด เพราะสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจร่วมกันขององค์กร ทั้งยังเป็นการสร้างการอยู่ร่วมกันภายในกลุ่ม โดยมีเราเป็นผู้สนับสนุนการฟังอย่างตั้งใจด้วย”

“นอกจากนั้น เรายังมี country self assessment tools หรือเครื่องมือประเมินตัวเองของแต่ละประเทศ ซึ่งจะมีเรื่องการประเมินสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติทางธุรกิจ หรือขนบธรรมเนียมต่าง ๆ เพื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราทำว่า ทำอย่างไรจะลดความเสี่ยงเรื่องคอร์รัปชั่น การล่วงละเมิดทางเพศ หรือสิ่งแวดล้อม โดยเครื่องมือนี้จะมีอยู่ประมาณ 400 คำถาม เป็นคำถามที่ละเอียดมาก ซึ่งไม่มีใครสามารถตอบได้ทุกข้อหรอก”

“เพราะสิ่งที่เราทำ คือ ให้แต่ละประเทศประเมินจุดยืนของตัวเอง และอีกอย่างหนึ่ง คือ เราต้องการให้แต่ละคนเข้ามาคุยกัน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ เพื่อแชร์ว่าแต่ละคนรู้อะไรกันมาบ้าง เพื่อนำความคิดเห็นเหล่านี้มารวมกัน ไม่เว้นแม้แต่เรื่องความลับธุรกิจ การแข่งขันทางภาษี หรือการแข่งขันทางการตลาด รวมถึงความขัดแย้งในผลประโยชน์ เพราะเราต้องการวัดว่า องค์กรของเราอยู่ตรงไหน เพื่อทำเป็นรายงานออกมา พร้อมกับแนะนำว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อพัฒนางานต่อไป”

เนื่องจากสิ่งที่คาดหวังเกี่ยวพันกับแผนการดำเนินงาน ความรับผิดชอบ เพราะในนั้นมีเรื่องการประเมินจริยธรรมของผู้นำด้วย ดังนั้น ผู้บริหารทุกคนจึงต้องทำการประเมินตัวเองว่ามีจริยธรรมไหม เนื่องจากมีตัวชี้วัดด้วยว่า เขาจะต้องปรับปรุงอะไร ? ตรงไหน ? ต่อไปอย่างไรบ้าง ?

ฉะนั้น เมื่อถาม “เอ็มมานูเอล ลูแลง” ว่า การที่องค์กรมีจริยธรรมจะตอบโจทย์ทางธุรกิจอย่างไรบ้าง เขาตอบว่า มีอย่างแน่นอน เพราะอย่างที่บอก เราต้องการเข้าถึงผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นถ้าจะเข้าถึงผู้บริโภคระยะยาว ถ้าเราไม่มีจริยธรรม อาจต้องหยุดดำเนินธุรกิจเหมือนกับองค์กรอื่น ๆ ผ่านมา

“ที่สำคัญ พนักงานยุคมิลเลเนียลเขาอยากทำงานกับองค์กรที่มีจริยธรรม เพราะเคยมีงานวิจัยออกมาว่า พนักงานยุคมิลเลเนียลยอมที่จะลดเงินเดือนตัวเองลง 17% เพื่อทำงานกับบริษัทที่มีจริยธรรม ถ้าเรามองอย่างเราอาจไม่เห็นด้วย แต่สำหรับพวกเขา งานวิจัยปรากฏออกมาอย่างนี้จริง ๆ ซึ่งเป็นแนวคิดของพนักงานรุ่นใหม่สมัยนี้”

“สิ่งสำคัญกว่านั้น คือ คู่ค้า พันธมิตรธุรกิจใหม่ ๆ เขาจะยอมรับมากขึ้น อยากทำการค้ากับเรามากขึ้น ถ้าองค์กรของเรามีจริยธรรม แต่ในทางตรงข้าม เราก็เรียนรู้ที่จะปฏิเสธ ถ้าพวกเขาไม่ถูกต้องตามจริยธรรมของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคอร์รัปชั่น การขออนุญาตผลิตภัณฑ์ใหม่ในแง่ของศุลกากร หรือภาษี พูดง่าย ๆ เรายอมที่จะปิดธุรกิจ ไม่ทำงานด้วย เพราะเรามองการลงทุนระยะยาว เราไม่ได้ถือเป็นความเสียหาย เนื่องจากเราไม่ยอมที่จะทำให้จริยธรรมของเราด่างพร้อยเป็นอันขาด”

อันเป็นคำตอบของ “เอ็มมานูเอล ลูแลง”

ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนคุ้มกฎจริยธรรมของลอรีอัล กรุ๊ป ในวันนี้