พันธกิจผู้นำบนเวทีโลก นำเทคโนโลยีช่วย CO2 ต้องเป็นศูนย์

การประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกด้านความยั่งยืน ประจำปี 2564 (UN Global Compact Leaders Summit 2021) ของ United Nations Global Compact (UNGC) ซึ่งเป็นเครือข่ายความยั่งยืนยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกภายใต้องค์การสหประชาชาติ ได้ชูประเด็นการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นวาระสำคัญของโลก

โดยปีนี้ฟอรั่มถูกจัดแบบเสมือนจริงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยมีผู้นำองค์กร ธุรกิจ ภาครัฐ ตลอดจนนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมงานกว่า 25,000 คน

สำหรับปีนี้ถือเป็นวาระสำคัญของประเทศไทยที่แสดงบทบาทและเจตจำนงในการร่วมลดโลกร้อนกับนานาประเทศ โดยมีตัวแทนผู้บริหารองค์กรภาคธุรกิจและภาครัฐชั้นนำของไทยเข้าร่วมเสวนาในหลายหัวข้อ

อาทิ “การมุ่งหน้าสู่การประชุม COP26 Glasgow และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ : แนวทางปฏิบัติเพื่อควบคุมภาวะโลกร้อนให้อยู่ในขอบเขต 1.5 องศาเซลเซียส” ที่มี “ศุภชัย เจียรวนนท์” นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand : GCNT) และประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P.Group) ร่วมเสวนาแบบเรียลไทม์กับผู้นำจากนานาประเทศ

นอกจากนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังเป็นเจ้าภาพจัดเสวนาในบางหัวข้ออีก เช่น “การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” โดยมี “นพปฎล เดชอุดม” ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนในองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ร่วมกับตัวแทนภาครัฐจากประเทศไทย

ได้แก่ “ดร.กลย์วัฒน์ สาขากร” ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานงานกลางอนุสัญญา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และ “เกียรติชาย ไมตรีวงษ์” ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.

ขณะที่หัวข้อ “SDG Ambition : Mobilizing Ambitions Corporate Actions Towards the Global Goals” มี “เรน ฮวา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) ร่วมแชร์วิสัยทัศน์กับผู้นำความยั่งยืนจากประเทศอินโดนีเซีย, สิงคโปร์, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในการหารือถึงความร่วมมือระดับอาเซียนเพื่อเรียกร้องให้องค์กรธุรกิจปรับการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs : Sustainable Development Goals) ภายในปี 2573

โฟกัสเป้าหมายลดโลกร้อน

“ศุภชัย” กล่าวว่า เครือ ซี.พี.มุ่งมั่นในการนำธุรกิจในเครือสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของโลกหลายโครงการ ได้แก่ การประชุมผู้นำโลก COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ย. 2564

โดยมีหัวข้อเจรจาเรื่องลดโลกร้อน, พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำหนดพันธกรณีผูกพันต่อประเทศอุตสาหกรรมให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมถึงแคมเปญระดับโลก Race to Zero ปฏิบัติการแข่งขันเพื่อคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันคือการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

“ในฐานะที่ ซี.พี.ทำธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรและอาหาร มีห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่ต้องทำงานกับคู่ค้า เกษตรกร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่มรวมถึงมีพนักงานกว่า 450,000 คนทั่วโลก ในการนี้เราได้รวมพลังกับทุกส่วนเพื่อการบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อน โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย ทั้ง IOT, บล็อกเชน, GPS และ traceability (ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ)”

พร้อมสนับสนุนข้อตกลงปารีส

สำหรับหัวข้อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ “นพปฎล” กล่าวว่า เครือ ซี.พี.ดำเนินงานตามแนวทางการทำเกษตรกรรมที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Smart Agriculture) และใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนกระบวนการผลิตเพื่อลดของเสียและเพิ่มประสิทธิภาพ

“ซี.พี.ใช้พลังงานหมุนเวียนรูปแบบต่าง ๆ ในธุรกิจเกษตร เช่น ข้าวโพด, ฟาร์มกุ้ง, หมู และไก่ การพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ที่ลดก๊าซไนตรัสออกไซด์จากมูลสัตว์ มีการใช้มาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ที่มีคุณภาพมาใช้ลดการสูญเสียชีวิตและเจ็บป่วยของสัตว์ ใช้เทคโนโลยีเฝ้าติดตามปศุสัตว์แบบดิจิทัล การจัดการคุณภาพน้ำและโดรนเพื่อการเกษตร”

“นอกจากนี้ ยังพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ ตลอดจนกระบวนการผลิตและเทคนิคทางการเกษตร ซึ่งนำไปสู่การจัดการเชิงนิเวศในผลิตภัณฑ์ของเราอย่างมีประสิทธิภาพ”

“โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับเกษตรกรและคู่ค้าทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เช่น กัมพูชา, สปป.ลาว, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ทั้งยังดำเนินงานคู่ขนานไปกับโครงการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่ป่าในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยเริ่มต้นปลูกต้นไม้ในประเทศไทยและจีน”

“ดร.กลย์วัฒน์” กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยสนับสนุนข้อตกลงปารีสอย่างเต็มที่ ทั้งยังทำงานร่วมกับเพื่อนสมาชิกอาเซียนผ่านเครือข่าย AWGCC (ASEAN Working Group on Climate Change) ในการหาทางออกลดผลกระทบร่วมกัน

อบก.ร่วมมือแก้ปัญหา สวล.

ขณะที่ “เกียรติชาย” กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรของประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพในการลดการปล่อยมลพิษและการกักเก็บคาร์บอน แต่ยังต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ อบก.จึงจัดตั้ง Carbon Neutral Network เพื่อส่งเสริมให้บริษัทและองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ทั้งยังให้คำมั่นและประกาศแผนปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่มีคาร์บอนต่ำ

“จากข้อมูลของ อบก.พบว่า ในปี 2020 มีถึง 193 บริษัทในไทยที่ได้รับการรับรองเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ และมีหลายบริษัทที่ดำเนินโครงการเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น ซึ่ง อบก.จะร่วมมือกับ GCNT สนับสนุนองค์ความรู้และข้อมูลทางเทคนิคทุกอย่างเพื่อให้บริษัทสามารถตั้งเป้าหมายในการดำเนินการตรวจสอบและได้รับรองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล”

ไทยวา ชู 4Fs เกษตรยั่งยืน

สำหรับ “เรน ฮวา” กล่าวว่า ในฐานะบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารที่มีสถานปฏิบัติการ 15 แห่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมุ่งไปที่การสร้างความยั่งยืนในเสาหลักที่เรียกว่า 4Fs และพยายามทำให้สอดคล้องกับเป้าหมายของ SDGs มากที่สุด ซึ่งประกอบด้วย farm-ฟาร์ม, factory-โรงงาน, family-ครอบครัว และ food-อาหาร

“ไทยวาต้องการเป็นผู้ผลิตที่สร้างคุณค่าให้กับผู้บริโภค (value creation) เราจึงเพิ่มความใส่ใจเรื่องเกษตรที่ยั่งยืนมากขึ้น 3-4 เท่า เช่น สร้างโรงเรือนสีเขียว ด้วยการใช้เทคโนโลยีและการเงินดิจิทัลช่วยเกษตรกรกว่า 10,000 คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ส่วนด้านโรงงานเราดูแลคนงานตามหลักจรรยาบรรณความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดี โดยเฉพาะโลกหลังโควิด-19 เราต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านคนมากขึ้นหลายเท่า ดังนั้น สิ่งที่ไทยวาทำคือการป้องกันพนักงานให้ปลอดภัยจากโควิด-19 ด้วยอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ การเว้นระยะห่างและพยายามให้พวกเขาได้รับวัคซีนป้องกันโดยเร็วที่สุด

“นอกจากนั้น การที่ไทยวามีโรงงานใกล้ชิดกับชุมชน ทำให้เราคำนึงถึงเรื่องครอบครัวของคนรอบ ๆ สถานประกอบการ รวมถึงสวนเกษตร โรงเรียน และโรงพยาบาลรอบ ๆ ด้วย ทั้งนี้ เราเริ่มลงทุนมากขึ้นในส่วนของการสนับสนุนการศึกษาให้เด็กและเยาวชนในชุมชนทั้งในไทย กัมพูชา และเวียดนาม”

“ขณะที่เรื่องอาหารเป็น F ตัวที่ 4 ที่ไทยวาต้องการทำให้ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโควิด-19 ส่งผลให้คนมีความต้องการอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น ประเภทออร์แกนิก และคนต้องการความสะดวกสบายในการจัดหาอาหารมากขึ้น เราจึงเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแป้งที่เป็นออร์แกนิกและอาหารที่ดีต่อสุขภาพ”

“เรน ฮวา” กล่าวด้วยว่า ไทยวากำลังจะเปิดตัว bioplastic ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ภายในปลายปีนี้ โดยพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ผลิตจากมันสำปะหลังรายแรกของไทย และสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“โดยส่วนตัวผมคิดว่าเรื่องของความยั่งยืนไม่มีเส้นชัย (finish line) และเวลาสิ้นสุด (finish time) เราทุกคนต้องลงมือทำเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและทำอยู่เสมอ สิ่งสำคัญคือต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับ UNGC ทั้งยังมีการวัดผลความก้าวหน้าที่ชัดเจนทุก ๆ 3-5 ปี”

เพราะความยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่สามารถสร้างได้จากคนคนเดียว แต่จะต้องเกิดจากการระดมสมองและความร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง