บริหารแบบ “ไตรคอร์” เทคโนโลยีดิจิทัล ตัวช่วยผู้นำไทย

ดีแลน หม่า กรรมการผู้จัดการ ไตรคอร์ ประเทศไทย

บริหารแบบ “ไตรคอร์” ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยผู้นำไทย เตรียมตัวรับมือกับความท้าทายในระยะยาวที่กำลังเกิดขึ้น

ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาความสามารถในการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งเรื่องทรัพยากรมนุษย์ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกิดกระแส disruption ต่าง ๆ มากมาย วิกฤตโควิด-19 จึงเป็นสัญญาณเตือนภัยที่ชี้ให้ผู้บริหารต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อเอาตัวรอด และไม่สามารถมองข้ามการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายในระยะยาวที่กำลังเกิดขึ้น

“ไตรคอร์ กรุ๊ป” ผู้เชี่ยวชาญด้านการขยายธุรกิจระดับโลก จึงจัดทำงานวิจัย Asia Pacific Board Director Barometer Report 2021 เพื่อช่วยให้ผู้บริหารสามารถวางแผนธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และมีความยืดหยุ่น โดยเจาะไปที่ตลาดสำคัญในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APAC) รวมถึงประเทศไทย ซึ่งพบ 4 ประเด็นสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการองค์กรในประเทศไทย ได้แก่ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจ (digital transformation), ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ (cyber security), การดำเนินงานของคณะกรรมการ การกำกับดูแลกิจการ ความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับกฎหมาย (governance, risk และ compliance หรือ GRC) รวมถึงการวางแผนความต่อเนื่องของธุรกิจ (business continuity plan หรือ BCP)

“ดีแลน หม่า” กรรมการผู้จัดการ ไตรคอร์ ประเทศไทย กล่าวว่าไตรคอร์ กรุ๊ป เป็นบริษัทที่ปรึกษาให้แก่บริษัทชั้นนำ ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากว่า 2,000 บริษัท ซึ่ง 40% เป็นบริษัทติดอันดับใน Fortune โดยไตรคอร์มีองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญด้านการสร้างความน่าเชื่อถือขององค์กร การบริหารหนี้สิน และกลยุทธ์ทางธุรกิจ มีทั้งหมด 47 ออฟฟิศใน 21 ประเทศ และมีพนักงานมากกว่า 2,700 คน

“เราทำการสำรวจ และวิจัย Asia Pacific Board Director Barometer Report 2021 โดยจับมือกับ Financial Times ในการสัมภาษณ์กรรมการบริหาร 771 ท่าน จากบริษัทสตาร์ตอัพ, ธุรกิจ SMEs, บริษัทข้ามชาติ และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในกว่า 12 อุตสาหกรรมทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย และเผยแพร่สำรวจเหล่านี้เมื่อเดือนที่ผ่านมา”

ทั้งนี้ ไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายของการระบาดระลอกที่ 3 อยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้องค์กรต่าง ๆ ทำการประชุมแบบเสมือนจริงเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ดิจิทัลกลายเป็นช่องทางในการโต้ตอบทางธุรกิจ และการทำธุรกรรม ดังนั้น ผู้บริหารจะต้องใช้เฟรมเวิร์ก BCP และ GRC ที่แข็งแกร่งเป็นพิเศษ

จากการสำรวจพบว่าผู้บริหาร 82% ทั่วโลกเล็งเห็นความสำคัญของ BCP และ GRC ขณะที่มีผู้บริหาร 84% ในภูมิภาค APAC เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ส่วนผู้บริหารในไทยเล็งเห็นความสำคัญเกี่ยวกับ BCP และ GRC ที่ 79% ถึงแม้ว่าจะเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยกว่าระดับโลก และระดับ APAC แต่แสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่ดีว่า เป็น 2 ประเด็นแรกที่กรรมการบริหารไทยคำนึงถึง ทั้งนี้ ผู้บริหารไทย 67% มีความกังวลเรื่องการวางแผนธุรกิจให้ต่อเนื่อง ส่วนประเทศใน APAC ที่ให้ความสำคัญกับ BCP มากที่สุดคือสิงคโปร์ซึ่งมีมากถึง 71%

“BCP มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในช่วงวิกฤตโควิด-19 เพราะช่วยให้ผู้บริหารสามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปอย่างไม่สะดุด และส่วนใหญ่ต้องหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ขณะที่ GRC เป็นผลต่อเนื่องที่ตามมาจากการปรับเปลี่ยนมาใช้ดิจิทัล เพราะ GRC ช่วยการบริหารจัดการดูแลความเสี่ยง ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากถึง 79% ในขณะที่ทั่วโลกอยู่ที่ 73%”

“ดีแลน หม่า” อธิบายต่อว่า ก่อนสถานการณ์โควิด-19 มีผู้บริหารทั่วภูมิภาค APAC จำนวนน้อยกว่า 10% ใช้การประชุมแบบออนไลน์ แต่หลังจากมีการระบาดของโรคโควิด-19 ตัวเลขก็กระโดดไปที่ 91% และมีองค์กรกว่า 50% ปรับเปลี่ยนเป็นการประชุมแบบไฮบริด (ผสมผสานการประชุมแบบออนไลน์และออฟไลน์)

ทั้งนี้มีเพียง 52% ของกรรมการบริษัทในไทยที่มีทัศนคติที่บวก หรือมีความมั่นใจต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการ การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล และการรับมือกับโรคระบาดครั้งนี้ ขณะที่ตัวเลขเฉลี่ยผู้บริหารทั่วโลกที่มีความมั่นใจในประเด็นดังกล่าว อยู่ที่ 73% โดยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันพบว่าประเทศอื่น ๆ อย่าง สิงคโปร์, จีน, มาเลเซีย มีทัศนคติที่เป็นบวกต่อการบริหารจัดการของบอร์ดมากกว่ากรรมการบริหารในไทย

“สาเหตุที่กรรมการบริหารในไทยมีทัศนคติที่เป็นบวกน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น หลายบริษัทยังไม่มีความพร้อมในการรับมือกับ new normal ยังคงชินกับการทำงานรูปแบบดั้งเดิมที่ใช้เอกสารเป็นหลัก ดังนั้น เมื่อจำเป็นต้องทำงานที่บ้าน และใช้เทคโนโลยีมาช่วยมากขึ้น บริษัทไทยส่วนใหญ่จึงประสบปัญหาในการปรับตัว”

การใช้ดิจิทัลมากขึ้นส่งผลให้ผู้บริหารส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูล โดย 83% ของกรรมการบริหารทั่วโลกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูล ส่วนในไทยพบว่ามีผู้บริหาร 91% กังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงนับว่าไทยมีความกังวลมากกว่าระดับโลก แต่สิ่งที่น่าสนใจคือมีแค่เพียง 61% ในไทยที่ตัดสินใจทำอะไรบางอย่างในการพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล

ดังนั้น จึงสามารถสรุปได้ว่า กรรมการบริหารไทยมีความกังวลสูง แต่ความกังวลไม่ได้ถูกนำมาปรับเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดหากบริษัทมองว่าการใช้เทคโนโลยีเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือการแก้ปัญหาระยะสั้น

“ดีแลน หม่า” กล่าวด้วยว่า จากการสำรวจพบอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้บริหารในไทย และ APAC ยังมีแรงต้านหรือมีความลังเลในการใช้บุคลากรภายนอกเข้ามาช่วยจัดการปัญหาที่พบเจอ ทั้งที่หนึ่งในปัญหาหลักของประเทศคือการพัฒนา BCP และ GRC แต่มีเพียงแค่ 49% ของผู้บริหารในไทย และ 48% ของผู้บริหารใน APAC ยอมรับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญภายนอกองค์กร

โดยองค์กรประมาณครึ่งหนึ่งในไทยพยายามจัดการกับปัญหา และเผชิญการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลด้วยตนเอง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกามีผู้บริหารกว่า 60% พิจารณาที่จะรับผู้เชี่ยวชาญภายนอกเข้ามาช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

“สาเหตุที่ว่าทำไมผู้บริหารในไทยจำนวน 51% ไม่เห็นด้วยกับการใช้องค์กรมืออาชีพจากภายนอกมาช่วยแก้ไขปัญหามีหลายปัจจัย เช่น ความแตกต่างกันทางธุรกิจ, ความเชื่อมั่นที่มีต่อฝ่ายบริหาร, ความสามารถในการปรับตัวของคนในองค์กร และความเข้มแข็งขององค์กร”

ส่วนการจะทำให้ผู้บริหารหันมายอมรับการช่วยเหลือ หรือการฝึกอบรมจากองค์กรภายนอก ควรเริ่มต้นด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญมาเช็กสุขภาพขององค์กรก่อน ทั้งในเรื่องการดูแลลูกค้า หรือการบริหารงานภายใน และฟังการประเมินว่าองค์กรภายนอกนั้นมีบริการที่สามารถตอบโจทย์ที่ผู้บริหารกำลังมองหาหรือไม่ โดยแนะนำให้ทำการประเมินย้อนหลัง 15 เดือน ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถแนะนำว่าควรจะใช้เครื่องมืออะไรเข้ามาช่วย และควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านใดมาช่วยแก้ปัญหาที่องค์กรนั้น ๆ กำลังเผชิญ

“ทั้งนี้ 91% ของผู้บริหารในไทยต้องการการฝึกอบรม และความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญภายนอกองค์กรในเรื่อง BCP และ GRC แต่มีเพียง 55% เท่านั้นที่ได้รับการฝึกอบรมที่จำเป็นและถูกทาง ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำ แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงว่าอีกเกือบครึ่งขององค์กรไทยยังไม่มีความพร้อมในการรับมือด้านการเปลี่ยนแปลง”

อย่างไรก็ตาม องค์กรในไทยต้องให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานอย่างพนักงานเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ และหลักในการทำงานผ่านออนไลน์อย่างปลอดภัยด้วย โดยการให้ความรู้ผ่านการฝึกอบรม

“ดีแลน หม่า” ยกตัวอย่างการดำเนินงานการจัดการความเสี่ยงด้านไซเบอร์ที่แนะนำให้องค์กรในไทยทำว่า ไม่ควรทำงานในรูปแบบเอกสารเป็นหลัก หรือการที่ฝ่ายบุคคลยังเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนไว้ในฮาร์ดดิสก์หรือคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว เพราะอาจเกิดปัญหาฮาร์ดดิสก์ใช้การไม่ได้ จึงควรเก็บข้อมูลสำคัญหรือความลับไว้บนระบบคลาวด์ และเลือกผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ

ไตรคอร์มี Boardfolio ที่เป็นดิจิทัลโซลูชั่นที่ใช้สำหรับประชุมภายใน หรือส่งเอกสารที่เป็นดิจิทัลแบบมีรหัสให้กับผู้เข้าร่วมประชุม พร้อมให้บริการลูกค้า โดยจับมือร่วมกับผู้ให้บริการระบบคลาวด์ชั้นนำอย่าง Microsoft, Azure หรือ AWS และสิ่งที่ทำให้ไตรคอร์แตกต่างจากบริษัทคู่แข่งคือ การเป็นบริษัทที่ลงทุนหนักมากในเรื่องของเทคโนโลยี ดิจิทัล และเครื่องมือ เพื่อช่วยให้ลูกค้ารับมือกับอนาคต

“เราช่วยให้ลูกค้าสามารถประชุมออนไลน์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปเช่าสถานที่แล้วนัดผู้ถือหุ้นมาเข้าร่วมประชุม นอกจากนั้น ไตรคอร์มีฟังก์ชั่นให้คนที่ร่วมประชุมออนไลน์สามารถทำการโหวตได้โดยที่ข้อมูลทุกอย่างปลอดภัยและมีการเข้ารหัส ซึ่งเครื่องมือของไตรคอร์เหล่านี้ เป็นการช่วยให้องค์กรเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง ที่มากกว่าการประชุมออนไลน์”

นับว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นหนึ่งให้เกิด digital transformation อย่างรวดเร็วในองค์กร ดังนั้น การมีผู้เชี่ยวชาญภายนอกองค์กรมาช่วยประเมิน ให้คำปรึกษาด้าน BCP, GRC และการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ดิจิทัลอย่างปลอดภัยจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ