ปิดแคมป์แลกวัคซีนโควิด เคลียร์ “กทม.-ปริมณฑล” 1 เดือนจบ

สัมภาษณ์พิเศษ

หลังการประกาศล็อกดาวน์ปิดแคมป์ก่อสร้างไม่ถึง 12 ชั่วโมง “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “สุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถึงที่มาที่ไป และย้อนเหตุการณ์ก่อนประกาศล็อกดาวน์ว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจดังกล่าวนั้นมาจากปัจจัยอะไรกันแน่ ?

เพราะจากข่าวที่ปรากฏ “สุชาติ” ระบุอย่างมีนัยว่า ส่วนหนึ่งมาจากข้อกังวลของทีมแพทย์ใน 2 ประเด็น คือ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดจำนวนลง ทั้งยังจะส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์รับมือไม่ไหว

ที่สำคัญ เมื่อมีตัวบ่งชี้ว่าพื้นที่ระบาดที่ชัดเจนคือแคมป์ก่อสร้างทั่ว กทม.-ปริมณฑล และพื้นที่อื่น ๆ รวม 10 จังหวัด พบการติดเชื้อจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ คือ กทม., นนทบุรี, ปทุมธานี, นครปฐม, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส

นาทีก่อนเคาะล็อกดาวน์

อีกทั้งเมื่อประเมินตัวเลขแรงงานที่มีการเคลื่อนย้ายทุกเช้า-เย็น กว่า 100,000 คนนั้น ต่างมีความเสี่ยงสูงมากที่แรงงานเหล่านี้จะกระจายเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ติดต่อกับของ กทม.และปริมณฑล เพราะจากการตรวจสอบเบื้องต้นตามรายแคมป์ต่าง ๆ ยังพบว่า มีแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกกฎหมายรวมอยู่ด้วย แม้จะมีจำนวนน้อยก็ตาม

ทั้งที่ก่อนหน้านี้การระบาดในระลอก 2 จากคลัสเตอร์สมุทรสาครที่เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมายไปบ้างแล้วก็ตาม จึงทำให้รัฐบาลตัดสินใจตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ด้วยการประกาศล็อกดาวน์ในที่สุด

การหารือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันนั้น “สุชาติ” ระบุว่า หลายฝ่ายให้ความเห็นว่าควรประกาศล็อกดาวน์ทั้งหมด และจะต้องเคลียร์ให้จบภายใน 1 เดือน เหมือนกับการระบาดครั้งแรกในปี 2563 ในขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานมองเห็นว่าการระบาดที่เกิดขึ้นจำกัดวงอยู่ที่แคมป์ก่อสร้าง ก็ควรปิดล็อกในจุดที่มีปัญหาก็จบ

หากฟังประกาศในวันนั้นจะเห็นได้ว่า ไม่มีคำว่า “ล็อกดาวน์” แต่ให้ใช้คำว่า “ปิดเฉพาะจุด” เท่านั้น จึงเกิดเป็นประเด็นที่เกี่ยวพันกับกระทรวงแรงงาน ที่ต้องมีการดำเนินการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่ 719,601 ราย ในธุรกิจ 4 ประเภท คือ การก่อสร้าง, ที่พักและบริการด้านอาหาร, กิจกรรมการบริการด้านอื่น เช่น ช่างตัดผม, ช่างซ่อม และสปา รวมถึงธุรกิจศิลปะความบันเทิง และนันทนาการ เช่น การแสดง และฟิตเนส ที่กระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม ต้องดำเนินการจ่ายชดเชย

“เมื่อบางธุรกิจอื่นยังเดินหน้าต่อไปได้ และไม่ได้ใหญ่เป็นระดับคลัสเตอร์ เราจะปิดภาคธุรกิจทั้งหมดก็ไม่ถูกต้อง และไม่แฟร์กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ดังนั้นตามแผนงาน เราจะเรียกภาคเอกชนเข้ามาหารือเพื่อให้เข้าใจตรงกัน ทั้งยังต้องนำรายละเอียดแจ้งให้ลูกจ้าง นายจ้างได้รับรู้ และเข้าใจ

แต่ยังไม่ทันจะสื่อสาร ปรากฏภาพของแรงงานไทยแห่กลับต่างจังหวัด ในประเด็นนี้ส่งผลให้เกิดช่องโหว่ จนทำให้เกิดการโจมตีรัฐบาลในการแก้ปัญหาอีกด้วย ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้สื่อสารถึงแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจนเลย”

หลังจากนั้น ในช่วงบ่ายของวันที่ 27 มิถุนายน 2564 กระทรวงแรงงานได้เชิญสมาคมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งถือเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งยังมีสมาชิกประมาณ 34 บริษัทเข้ามาหารือ โดยวันนั้นมีตัวแทนเข้าร่วมหารือรวม 24 บริษัท เช่น บริษัท ฤทธา จำกัด, บริษัท ทวีมงคลก่อสร้าง จำกัด, บริษัท พรีบิลท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท พฤกษาเรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

“สุชาติ” เล่าเบื้องหลังให้ฟังถึงช่วงหารือกับบริษัทต่าง ๆ นานร่วม 2 ชั่วโมง จนสรุปความเห็นจากภาคเอกชนออกมาดังนี้ คือ 1) หลักเกณฑ์ และมาตรการที่ใช้ปิดแคมป์ 2) การเยียวยานายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ และ 3) ประเด็นการบริหารสัญญาทั้งที่เป็นงานก่อสร้างของภาครัฐและเอกชน

ปิดหมดไม่เลือกปฏิบัติ

ใน 3 ประเด็นดังกล่าวของสมาคมก่อสร้างฯ “สุชาติ” อธิบายต่อว่า ไม่ว่าจะเป็นแคมป์ หรือไซต์ก่อสร้าง รวมถึงที่พักของคนงานจะต้อง “ปิดทั้งหมด” ส่วนการชดเชยเยียวยา แรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายคือเป็นแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม จะได้รับการชดเชยตลอด 1 เดือน ในระหว่างนั้นจะมีการจ่ายเงินชดเชยที่ 50% ของฐานเงินเดือนลูกจ้างที่ 10,000-15,000 บาท

แต่ขั้นตอนการจ่ายเงินจะแตกต่างจากการระบาดทั้ง 2 ระลอกที่ผ่านมา จากเดิมจ่ายเข้าบัญชีของผู้ประกันตน มาเป็นจ่ายเงินหน้าไซต์งานทุกวัน แต่ยังมีกรณีแรงงานเถื่อนที่มีการเรียกร้องให้ได้รับการชดเชยเช่นกันนั้น “สุชาติ” ยืนกรานว่า จะต้องขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน จึงจะสามารถให้ความช่วยเหลือได้

“เราตกลงกันแล้วว่าจะเข้าไปจ่ายเงินเยียวยาให้ทุกวันตลอดหนึ่งสัปดาห์ ใครไม่อยู่ไม่จ่าย ถือเป็นการเช็กชื่อแรงงานไปในตัวว่าไม่ได้มีการเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่แน่นอน แต่เพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นทะเบียนต่างด้าว กระทรวงแรงงานจะหาทางดำเนินการให้ภาระของนายจ้างจ่ายลูกจ้างน้อยที่สุด

แต่ครั้นจะนำเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายที่แรงงานจ่ายเงินสมทบทุกเดือนมาช่วยคนทำผิดกฎหมาย ผมว่ามันไม่ถูกต้อง เพราะเราเข้าใจว่าในภาวะแบบนี้มันก็ลำบากกันอยู่แล้ว ฉะนั้น อะไรที่กระทรวงแรงงานสามารถซัพพอร์ตภาคเอกชน และแรงงานได้ ผมพร้อมช่วยเหลือทันที”

รับปากหาวัคซีนให้ 2 แสนโดส

หลังการประกาศล็อกดาวน์แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการตรวจโควิด-19 เชิงรุก 100% สำหรับเรื่องนี้ “สุชาติ” ระบุว่า หากตรวจพบแรงงานติดเชื้อจะส่งรักษาทันที แต่ในรายไม่ติดเชื้อจะคัดแยกออกมาเพื่อเฝ้าระวัง และสังเกตอาการ

แต่หัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาวิกฤตครั้งนี้คือ “วัคซีน” และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชน รวมไปถึงซัพพลายเชนต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจก่อสร้างนั้นว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหาให้จบตามเป้าหมายคือภายในระยะเวลา 1 เดือน

นอกจากจะมีการจัดสรร “วัคซีนเฉพาะกิจ” ประมาณ 2 แสนโดส ให้กับแรงงานก่อสร้างก่อน “สุชาติ” ยังจะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี โดยเร่งด่วน

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็จะขอให้ภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างช่วยดูแลเรื่องอาหาร 3 มื้อ ให้กับลูกจ้างในช่วงที่ถูกปิด 1 เดือนด้วย เนื่องจากยังไม่มีงบประมาณมาสนับสนุนในส่วนนี้ อีกทั้งกรอบหน้าที่ที่เกินจากความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงาน

“สุชาติ” กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมก่อสร้างจะต้องทำหนังสือถึงหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรง เพราะเป็นประเด็นทางเทคนิค เช่น การก่อสร้างที่อยู่ใต้ดินที่มีการขุดเจาะ จะมีข้อจำกัดทางเทคนิคว่าหยุดได้ไม่เกิน 3 วัน หัวเจาะอาจมีปัญหา เป็นต้น ทั้งนั้นจึงมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะอนุโลมให้กับประเภทงานเหล่านี้

“ปิดครั้งนี้ก็ขอให้จบปัญหาเร็วที่สุด เพราะภารกิจของผมคือการตรวจเชิงรุก ถ้าพบส่งรักษา ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม หยุดการเคลื่อนย้ายแรงงานทั้งเช้าและเย็น ไม่ให้มีแรงงานแวะตลาดร้านสะดวกซื้อ ลองคิดดูหากแรงงานกว่า 100,000 คน มีการเคลื่อนย้ายจากพื้นที่ กทม.ไปยังจุดที่พักในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี และนนทบุรี ทุกวัน มันจะเละแค่ไหน ต่อให้มีเจ้าหน้าที่เป็นหมื่นคนหรือบุคลากรทางการแพทย์เป็นล้านคนก็เอาไม่อยู่แน่นอนทุกคนจึงต้องช่วยกันแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ จะได้ผลช้า”

สุดท้าย “สุชาติ” ปรารภให้ฟังถึงกรณีมหันตภัยไวรัสระบาดในวงกว้างของแคมป์ก่อสร้างว่า จริง ๆ แล้วการระบาดครั้งนี้ก่อเค้าลางมาตั้งแต่คลัสเตอร์ทองหล่อแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นจากแรงงานในแคมป์แต่เพียงอย่างเดียว แต่วันนี้แรงงานก่อสร้างกลับกลายเป็นจำเลยสังคม ดังนั้น ผมจึงต้องช่วยเหลือเต็มที่ ทั้งในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรง และในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง

“ผมให้คำมั่นสัญญา”