เวิลด์แบงก์ชี้ ไทยเสี่ยงคนวัยทำงานลด 30% ต้องเร่งเพิ่มคุ้มครองทางสังคม

ที่มาภาพ: Benny Manser/World Bank

ธนาคารโลกชี้ ไทยเสี่ยงจำนวนคนวัยทำงานลด 30% และต้องเร่งเพิ่มความคุ้มครองทางสังคมให้เท่าทันประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ทางแก้ขัด สร้างงานเพิ่ม ขยายอายุการทำงานของผู้สูงอายุ

วันที่ 29 มิ.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวประชาติธุรกิจรายงานว่า ธนาคารโลก (The World Bank) จัดงานสัมนาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ชื่อว่า Aging and the Labor in Thailand (ภาวะประชากรสูงวัยและตลาดแรงงานในประเทศไทย) โดยมีการนำเสนอซีรีส์รายงานหลายฉบับ

ตอนที่ 1 ของซีรีส์จะเปิดตัวรายงานเรื่อง Future Directions for Social Protection and Labor Market in Thailand (ทิศทางในอนาคตสำหรับการคุ้มครองทางสังคม และตลาดแรงงานในประเทศไทย) ภายใต้ภาวะความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและการเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยมี “ดร.ฟรานเชสก้า ลามานน่า” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก เป็นวิทยากร

และตอนที่ 2 ของซีรีส์รายงานเป็นหัวข้อ Aging and the Labor in Thailand (ภาวะประชากรสูงวัยและตลาดแรงงานในประเทศไทย) เน้นการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน และประชากรในประเทศไทย จากผลกระทบของโควิด-19 มี “แฮรี่ โมรอซ” นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก เป็นวิทยากร

ไทยจะมีคนวัยทำงานลดลง 30%

“ดร.ลามานน่า” กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมถึงเกิดขึ้นของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานในอัตราเร่งมากขึ้น ขณะเดียวกันการเปลี่ยนผ่านไปสู่โมเดลเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทยก็กำลังเผชิญกับความท้าทาย ทั้งในด้านความรู้ และนวัตกรรม

ดร.ฟรานเชสก้า ลามานน่า นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปะเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะประชากรสูงวัย (ประเทศที่เข้าสู่ภาวะประชากรสูงวัย คือ การมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกิน 7% ของประชากรทั้งประเทศ) โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จาก 7% เป็น 14% เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา ต้องใช้เวลาถึง 69 ปี ถึงจะมีอัตราประชากรสูงวัยเป็น 14% นอกจากนั้น มีการคาดการว่า ภาวะประชากรสูงวัยในไทยจะเพิ่มเป็น 31% ในปี 2060

มีการคาดการณ์ว่าสัดส่วนประชากรในวัยทำงานจะลดลงจาก 71% ในปี 2020 เป็น 56% ในปี 2060 ซึ่งเท่ากับว่า จะมีประชากรในวัยทำงานลดลงถึงเกือบ 30% เป็นการลดลงมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รองจากสาธารณรัฐเกาหลี (ลดลง 43%) และญี่ปุ่น (ลดลง 34%) รวมถึงไทยมีอัตราเสี่ยงที่แรงงานมนุษย์จะการถูกแทนด้วยระบบอัตโนมัติ (automation) 42%

รายได้-การคุ้มครองทางสังคมไม่พอ

“ดร.ลามานน่า” กล่าวด้วยว่า การมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นในไทยเกิดขึ้นในขณะที่ประเทศไทยยังมีระดับรายได้ค่อนข้างต่ำ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP) ของประเทศในฝั่งเอเชียตะวันออก สูงกว่าไทย 2 เท่า ดังนั้น ถ้าไทยต้องการจะเพิ่ม GDP ก็ต้องจัดการกับปัญหาภาวะประชากรสูงวัย คิดวิเคราะห์ ปฏิรูปทางด้านสังคม และพัฒนาทักษะแรงงาน

ยิ่งไปกว่านั้น ประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานในประเทศไทยยังค่อนข้างต่ำ รวมทั้งมีแรงงานนอกระบบมากกว่า 54% (ข้อมูลปี 2019) ซึ่งเท่ากับว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานในระบบ และมีจำนวนแรงงานทักษะสูงจำกัด

ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาไทยประสบปัญหาภาวะความยากจน เพราะงานที่มีอยู่ในระบบก็ไม่ทำให้คนมีรายได้เพียงพอต่อการใช้ชีวิต แสดงให้เห็นว่าคนในประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมมากพอ เพราะส่วนใหญ่ไม่อยู่ในระบบแรงงาน และเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งการคุ้มครองทางสังคม 10 ปีที่ผ่านมาของไทยยังไม่มากพอ เพียง 72% ของประชากรได้รับความช่วยเหลือทางสังคม โดยข้อมูลในปี 2564 พบว่าในประเทศอินโดนีเซีย หรือในประเทศอื่น ๆ มีการใช้จ่ายด้านความช่วยเหลือทางด้านสังคมประมาณร้อยละ 2.1 ของจีดีพี ซึ่งมากกว่าไทย

จำนวนงานปี 2021 ยังไม่เพิ่มขึ้น

“โมรอซ” กล่าวว่า โควิด-19 ก่อให้เกิดดิสรัปชั่น (disruption) ในตลาดแรงงานในไทย โดยช่วงไตรมาส 2 ของปี 2020 ไทยสูญเสียตำแหน่งงาน 7 แสนตำแหน่ง และศูนย์เสียจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ลดน้อยลงด้วย จากนั้นมีกระเตื้องขึ้นบ้างในไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2020 ส่วนในปี 2021 การฟื้นตัวยังไม่แน่นอน และการสร้างงานยังช้า ทั้งนี้ ชั่วโมงการทำงานนในไตรมาส 1 ของปี 2021 น้อยกว่าไตรมาส 1 ของปี 2020

นอกจากนั้น การมีส่วนร่วมของแรงงาน (Labor Force Participation Rate : LFPR) ลดลง 5% ต่อคน ช่วงปี 2013-2019 รวมถึงการย้ายงานออกจากภาคการเกษตรเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ซึ่งภาคการเกษตรยังคงจำนวนแรงงานราว 33% ของแรงงานทั้งหมดในไทย เทียบกับ 23% ในฟิลิปปินส์, มาเลเซีย 10% และสาธารณรัฐเกาหลี 5%

ช่วงปี 2555-2562 กำลังแรงงานไทยมีจำนวนลดลงกว่า 1.2 ล้านคน และอัตราการจ้างงานนอกระบบสูงขึ้น ซึ่งทั้งการมีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากขึ้น และการมีสัดส่วนประชากรในวัยทำงานลดลง จะส่งผลทางลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย หากไม่มีการปรับใด ๆ จะฉุดการเติบโตของ GDP ให้ลดลงถึง 0.86% ในปี 2020 (ที่มา : Park and Shin 2011)

ทั้งนี้ หลายนโยบายที่สำคัญและจำเป็นในการลดทอนผลกระทบทางลบ และเสริมผลกระทบทางบวกของการมีประชากรสูงวัยขึ้นในประเทศไทยได้ คือ นโยบายการขยายอายุการทำงานของผู้สูงอายุ, นโยบายการขยายการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของผู้หญิง, การปรับปรุงระบบการย้ายถิ่นของแรงงานให้ดีขึ้น, การให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และใช้โอกาสที่เกิดขึ้นจากการมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นให้เป็นประโยชน์