“ยูเอ็น” ผนึก “ดีป้า” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยั่งยืนด้วยไอที

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปัจจุบันโลกเริ่มเข้าสู่ยุคระบบเศรษฐกิจ และสังคมดิจิทัล ที่เทคโนโลยีหลอมรวมเข้ากับชีวิตคนอย่างสิ้นเชิง ทั้งยังเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายด้าน ทั้งกระบวนการผลิต การค้า และการบริการ ฯลฯ

จนเป็นเหตุให้ประเทศไทยต้องเร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ และตอบปัญหาความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่หลายด้าน เช่น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การติดกับดักรายได้ปานกลาง การเกษตร ฯลฯ

ซึ่งเหมือนกับสหประชาชาติ ประเทศไทย (UN Thailand) ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยล่าสุดจับมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) แถลงข่าวออนไลน์ เปิดตัวแคมเปญ “Decade of Action, Decade of Innovation” หรือ “ทศวรรษแห่งการลงมือทำ ทศวรรษแห่งนวัตกรรม”

เพื่อส่งเสริมคนไทยใช้โซลูชั่นเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมด้วยกิจกรรมเสวนาจากสตาร์ตอัพ อินฟลูเอ็นเซอร์ ร่วมแสดงมุมมองการใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนในมิติต่าง ๆ สู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน

เบื้องต้น “กีต้า ซับบระวาล” ผู้ประสานงานสหประชาชาติ ประเทศไทย กล่าวถึงแคมเปญนี้ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลมีพลังในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้คน องค์กร ธุรกิจต่าง ๆ เติบโต จึงเป็นเหตุให้สหประชาชาติร่วมกับดีป้าจัดแคมเปญขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้

เพราะดีป้าเป็นองค์กรที่มีโครงการและเครือข่ายที่นำเทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาภาคส่วนต่าง ๆ จำนวนมาก คาดว่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนทุกสาขาอาชีพมีส่วนร่วมแก้ไขพัฒนาประเทศตามความต้องการ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่

หนึ่ง ผู้คน (People) ชี้ให้เห็นว่าเราได้รับผลกระทบจากโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเทคโนโลยีสามารถส่งเสริมสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างไร เช่นเดียวกับการค้นพบวิธีในการปิดช่องว่างการเชื่อมต่อและลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งอาจเพิ่มขึ้น หากไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ เช่น ด้านการศึกษา อีเลิร์นนิ่ง เป็นต้น

สอง มิติสิ่งแวดล้อม (Planet) มุ่งเน้นประเด็นต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบริโภคอย่างมีสำนึกการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อสร้างเมืองให้มีความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นที่สิ่งแวดล้อม จากการเปลี่ยนแปลงวิธีสร้างและจัดการพื้นที่ในเมือง ไปสู่การปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ การสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียว พัฒนาการวางผังเมือง และการจัดการในรูปแบบที่สร้างการมีส่วนร่วมและครอบคลุมทุกกลุ่มสังคม

สาม มิติความมั่งคั่ง (Prosperity) จัดการกับปัญหาในอุตสาหกรรม และธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญ ขณะเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้รวมทุกกลุ่มสังคม โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย เช่น การท่องเที่ยวและเกษตรกรรม ร่วมค้นหาว่าเราจะสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหลังเกิดโรคระบาดได้อย่างไร และการนำประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลมาปรับใช้กับการเกษตรนั้นมีความสำคัญเช่นเดียวกับการพัฒนาการเติบโตของอีคอมเมิร์ซและการสร้างที่ทำงานสู่ระบบดิจิทัล

สี่ มิติความร่วมมือ (Partnership) ตระหนักถึงความสำคัญของกลุ่มต่าง ๆ ในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันและฉายภาพความสำเร็จจากความร่วมมือของกลุ่มคนประเภทต่าง ๆ ธุรกิจ และองค์กรที่อาจสร้างผลลัพธ์เกินความคาดหมาย

ดร.ณัฐพล-กีต้า
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติ ประเทศไทย

 

“ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์” ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวเสริมว่า ดีป้าก่อตั้งมา 3 ปี มีวัตถุประสงค์ คือทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เศรษฐกิจ และสังคมดิจิทัล ด้วยการพัฒนาทักษะคนไทยให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง เพราะประชากรประมาณ 60-70 ล้านคน ไม่ใช่ว่าทุกคนจะรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง และรู้ว่าเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์

“ฉะนั้น ในการจัดแคมเปญนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนไทยมีความคิด และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในการขับเคลื่อนการทำงาน ซึ่งจะผลักดันผ่านการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของดีป้า เพื่อนำประเทศไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนตามที่สหประชาชาติกำหนด ตอนนี้ถ้ามองในแง่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่นำมาใช้ขับเคลื่อนในภาคส่วนต่าง ๆ”

ทั้งนั้น เพราะประเทศไทยมีสตาร์ตอัพที่กำลังไปได้ดีทั้งหมด 5 กลุ่มด้วยกัน คือ

หนึ่ง กลุ่มท่องเที่ยว (Travel Technology)

สอง ระบบสุขภาพ (HealthTechnology)

สาม การศึกษา (Edtech) เพราะไทยตั้งเป้าว่าจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่สามารถนำ Edtech ไปใช้อย่างแพร่หลายในภูมิภาคอาเซียนได้

สี่ ฟินเทค (Fintech) และห้า เทคโนโลยีการเกษตร (Agritech) เพราะเรื่องเกษตรกรรมมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ วันนี้ดีป้าโฟกัสการเร่งพัฒนาคน พัฒนาสตาร์ตอัพ เข้าไปสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย สื่อสารให้เกษตรกรมีความรู้ความสามารถมุ่งสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เพื่อยกระดับการเกษตรตนเอง มีรายได้ที่มั่นคงและดียิ่งขึ้น

“ดร.ณัฐพล” กล่าวอีกว่า ในส่วนของเรื่องการศึกษา หากย้อนกลับไป 4 ปีก่อนเราพูดกันว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาดิสรัปต์ จนกลายเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะการเรียนรู้นอกห้องเรียน ผ่านระบบออนไลน์ ปัจจุบันถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด สิ่งที่ดีป้าพยายามผลักดันในเรื่องนี้คือพยายามสร้างระบบการศึกษาผ่านดิจิทัล โดยให้สตาร์ตอัพที่พัฒนา Edtech พยายามเสริมความรู้ให้เข้ากับหลักสูตรพื้นฐานที่เด็กเรียน

ไอติม
พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชั่น StartDee และหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา

ขณะที่ “พริษฐ์ วัชรสินธุ” ผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชั่น StartDee และหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวเสริมถึงเรื่องนี้ว่า สาเหตุที่เทคโนโลยีดิจิทัลต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนเรื่องการศึกษา และแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ประกอบด้วยเหตุผล 3 ประการ ได้แก่

หนึ่ง คุณภาพของระบบการศึกษายังดีไม่พอเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เราจะเห็นสถิติทุกครั้งว่านักเรียนไทยใช้เวลาเรียนในห้องเรียนมากเป็นอันดับต้น ๆของโลก แต่เมื่อมีการวัดทักษะ PISA จะเห็นว่าไทยอยู่แทบอันดับสุดท้าย แต่ถ้าเฉพาะอาเซียนจะอยู่ระหว่างอันดับ 5-7

สอง นอกจากมาตรฐานค่าเฉลี่ยอาจไม่ได้ดีมากแล้ว เราจะเห็นว่าคุณภาพการเรียนการสอนแต่ละแห่งแตกต่างกันด้วย โรงเรียนมีชื่อเสียงมักจะได้เปรียบ เพราะมีคนต้องการเข้าเรียนมาก ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กขาดแคลนทั้งผู้เรียน อุปกรณ์การเรียน ทั้งยังครูไม่พอ

สาม จากปัจจัยสองข้อดังกล่าวเป็นสาเหตุให้นักเรียนต้องไปเรียนนอกห้องเรียน ต้องจ่ายค่าเรียนพิเศษที่สูงมาก บางแห่งจ่ายเกือบหลักหมื่น เป็นราคาที่คนส่วนใหญ่จ่ายไม่ได้ และมองว่าคนที่มีกำลังจ่ายก็ไม่ควรต้องจ่าย

“ทั้งนี้ ทางออกที่ยั่งยืนคือ ภาครัฐต้องทำให้โรงเรียนที่มีคุณภาพอยู่ใกล้กับเด็กทุกคน แต่ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างขึ้นมาใหม่ เพียงแค่วางกฎ กติกา และระบบ เพื่อใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม หรือเนื้อหาที่ภาคเอกชนผลิตมาให้ได้มากที่สุด ในส่วนของบทบาท StartDee เราพยายามทำให้เป็นเหมือน Netflix ทางการศึกษา เป็นแอปพลิเคชั่นที่รวบรวมเนื้อหาการเรียนการสอนทุกวิชาในโรงเรียน ตั้งแต่ระดับ ป.4-6 ตอนนี้มีคลิปการสอน 1 หมื่นกว่าคลิป มีแบบฝึกหัด เนื้อหาสรุปต่าง ๆ นานา”

“ส่วนค่าสมัครรายเดือน เดือนละ 200 บาทก็สามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ เราพยายามทำให้แอปรองรับมือถือทุกรุ่น และพยายามคิดฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์ ออกแบบการเรียนรู้ใหม่ ๆ ไม่ให้เด็กเสียสมาธิ”

“ผลสรุป ผ่านมา 1 ปี มีนักเรียนดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นทดลองใช้แล้ว 800,000 คน ทำให้ต่อไปเราก็พยายามจะขยายพื้นที่การทำงานของเรา ไม่ใช่แค่วิชาในโรงเรียน แต่ต้องดูว่ามีทักษะอะไรที่สำคัญสำหรับนักเรียนยุคใหม่ ตามกรอบพัฒนายั่งยืนของสหประชาชาติไม่ว่าจะความเท่าเทียมทางเพศ ทักษะทางการเงิน ทักษะด้านสิ่งแวดล้อม เราก็พยายามเอาเทคโนโลยีมาช่วยทำให้แอปฉลาดขึ้น เพื่อทำให้ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในที่สุด”