มองหาสิ่งที่ไม่เห็น

คอลัมน์ CSR Talk

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

ในช่วงสัปดาห์กลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีโอกาสไปดูงานขององค์กรพัฒนาเอกชนทำงานกับคนจนเมืองในประเทศกัมพูชา เห็นวิธีคิดในการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมที่ชัดเจน ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือการแก้ไขปัญหาที่รากเหง้า ซึ่งมองด้วยตาเปล่าอาจไม่เห็น

CCF เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีพันธกิจหลัก คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก และเยาวชน ซึ่งมีอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แต่คุณภาพชีวิตเด็กย่อมหนีไม่พ้นคุณภาพของครอบครัวเด็กเอง CCF ที่กัมพูชา จึงต้องทำงานพัฒนาครอบครัวของเด็กและชุมชนไปพร้อมกัน เพราะปัญหาที่ส่งผลมาถึงเด็กนั้นเชื่อมโยงกันเป็นตาข่ายอันซับซ้อน เช่น ปัญหาพ่อแม่ที่ติดยาเสพติด ติดการพนัน ไม่มีงานทำ เป็นคนไร้บ้าน สภาพชุมชนขาดสุขอนามัยที่ดี ไม่มีน้ำสะอาดใช้ บางชุมชนไม่มีไฟฟ้าแม้ว่าจะอยู่ในเมืองหลวง

โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก จึงต้องทำไปพร้อมกับการแก้ปัญหาของครอบครัว และชุมชน เพื่อให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน คือ การได้รับการศึกษา มีสุขอนามัยที่ดี เติบโตอย่างภาคภูมิใจในตนเอง ด้วยการได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพอย่างเหมาะสม

กระแสของการทำ CSR ในปัจจุบัน คือ ความคาดหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคม เพื่อจะทำให้ 17 เป้าหมายไปสู่ความยั่งยืนเป็นจริง แต่การไปถึงจุดนั้นได้ ต้องการการแก้ไขปัญหาอย่างถึงรากถึงโคน จึงไม่ใช่แค่ไปบริจาคเสื้อผ้า บริจาคหนังสือ ให้ทุนการศึกษา ปลูกป่า สร้างฝาย ฯลฯ

การมองปัญหาต้องผ่านการวิเคราะห์ และเห็นความเชื่อมโยง จึงไม่ใช่แค่สิ่งที่มองเห็น แต่ต้องเห็นในสิ่งที่มองไม่เห็นด้วย เพราะรากของปัญหาส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรม ความเชื่อ ความเคยชิน

ตัวอย่าง เช่น เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนองานวิจัยเรื่องพฤติกรรมการโกงของคนในสังคมไทย แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ความเชื่อ ค่านิยม มีส่วนสำคัญในการปลูกฝังพฤติกรรมการโกง การแก้ไขปัญหานี้จึงไม่ใช่แค่การออกกฎหมาย หรือแค่ประกาศค่านิยม 12 ประการ ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้

องค์กรธุรกิจที่เลือกประเด็นด้านสังคมในการทำ CSR จึงควรให้ความสนใจในการศึกษาข้อมูลปัญหาเชิงลึกก่อนการดำเนินการ หากหวังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ซึ่งถ้าองค์กรไม่มีความถนัดก็สามารถหาองค์กรพันธมิตรที่มีประสบการณ์เข้ามาเป็นตัวช่วยได้

ในฐานะที่ผู้เขียนมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทั้งองค์กรธุรกิจ และองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGOs เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า มีองค์กรธุรกิจไม่มากนักที่ทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน ทั้ง ๆ ที่องค์กรดังกล่าวหลายองค์กรสามารถช่วยให้งาน CSR มีประสิทธิผลมากขึ้น

ขณะเดียวกัน NGOs จำนวนน้อยมากที่เชื่อมต่อกับองค์กรธุรกิจได้ ทั้ง ๆ ที่หากทั้งสองฝั่งทำงานร่วมกันในฐานะพันธมิตร จะสามารถสร้างพลังในการขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น

เพราะจุดแข็งของ NGOs คือ ประสบการณ์เชิงลึก ที่ทำงานด้านสังคมมายาวนาน ขณะที่องค์กรธุรกิจ นอกจากมีทุนในการสนับสนุนแล้ว ยังมีวิธีคิดเชิงระบบ และเครื่องมือในการบริหารจัดการที่นำมาประยุกต์ใช้ได้ เช่น สำนักกิจการเพื่อสังคม บริษัท เบทาโกร ได้นำเอาแนวคิด productivity ไปใช้ในการทำงานชุมชน ที่ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้ง NGOs หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานการศึกษา ทำให้สามารถขยายโครงการไปได้ทั่วประเทศ

ในแนวคิด productivity นั้นเชื่อว่า สาเหตุของปัญหาเหมือนส่วนที่อยู่ใต้น้ำของภูเขาน้ำแข็ง การหาให้พบนั้นต้องใช้เครื่องมือมาช่วยวิเคราะห์ มิฉะนั้นการแก้ปัญหาก็จะไม่มีประสิทธิผลใด ๆ ปัญหาต้องได้รับการจัดการก่อน จึงจะสามารถนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่ดีกว่าต่อไป

ในรายงานความยั่งยืน หรือ GRI ก็ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ในการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยตัวชี้วัดมากมาย ตัวชี้วัดเหล่านี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้การดำเนินการมีประสิทธิผลอย่างแท้จริง และมองเห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ถ้าวันนี้องค์กรกำลังให้ความสนใจเรื่องโลกร้อน โดยเริ่มต้นจากการจัดการขยะ ก็ควรจะรู้ว่าในแต่ละวัน คนไทยสร้างขยะมากถึงรายละ 1.1 กิโลกรัม หรือรวมแล้วราว ๆ 73,560 ตัน มีในแต่ละปี คนไทยสร้างขยะรวม 27 ล้านตัน ขณะที่คนไทยมีอายุเฉลี่ย 75 ปี แต่ขยะที่สร้างไว้ เช่น โฟม ใช้เวลาย่อยสลายมากกว่า 13 ชั่วอายุคน และพลาสติกใช้เวลาในการย่อยสลาย 6 ชั่วอายุคน

การแยกขยะอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ถ้าเราจะแก้ปัญหาขยะ ก็ควรหันมาดูพฤติกรรมการสร้างขยะด้วย เพราะการจัดการแค่สิ่งที่มองเห็นนั้น ไม่เพียงพอ

อีกต่อไป (หน้า 36, 35)