คนมิลเลนเนียล-เจนซี ผนึกแนวคิดสร้างโลกให้ดีกว่าเดิม

meetting zoom

ตลอด 1 ปีกว่าที่ผ่านมา ความไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงความไม่มั่นคงทางการเมือง, การแบ่งแยกทางเชื้อชาติ และเหตุการณ์ความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศจนทำให้คนกลุ่มมิลเลนเนียลและเจนซีทั่วโลกรู้สึกว่าปัญหาเร่งด่วนของโลกเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของทุกคน เนื่องจากคนรุ่นนี้ได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมาเป็นเวลานาน

แต่หลาย ๆ คนกลับรู้สึกว่าโลกของเราอยู่ในจุดเปลี่ยนสำคัญ พวกเขาต้องการเรียกร้องความรับผิดชอบในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลให้โลกมีความเท่าเทียมและยั่งยืนมากขึ้น

จากรายงานการสำรวจ Millennial and Gen Z ประจำปี 2021 ของ Deloitte ครบรอบปีที่ 10 ในปีนี้ พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจทุ่มเทแรงกายให้กับการกระทำที่มีความหมาย เช่น การมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้น, การจัดสรรการใช้จ่าย เลือกอาชีพที่มีความสอดคล้องกับค่านิยมของพวกเขา และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในประเด็นทางสังคมที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขา

ในทางกลับกันจากผลสำรวจหลายต่อหลายปีที่ผ่านมาพบว่าคนกลุ่มนี้คาดหวังให้สถาบันต่าง ๆ เช่น ภาคธุรกิจ และรัฐบาลลงมือดำเนินการสร้างความเปลี่ยนแปลงมากกว่านี้

เบื้องต้น “มิเชล พาร์มาลี” Deloitte Global Deputy CEO and Chief People and Purpose Officer กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ Deloitte สำรวจ Millennial Survey ชีวิตของคนรุ่นมิลเลนเนียล และ Gen Z มีการเปลี่ยนแปลงไป แต่พวกเขายังคงยึดมั่นค่านิยมของพวกเขาอย่างแน่วแน่

พวกเขายังยึดมั่นในอุดมการณ์ของตนเองที่ต้องการสร้างโลกที่ดีกว่าเดิมและความเชื่อที่ว่าภาคธุรกิจมีความสามารถและสมควรที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยเหลือสังคมได้มากกว่านี้

“เพราะการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ และการปกป้องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่กลุ่มมิลเลนเนียลให้ความสนใจเป็นอันดับหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว สำหรับปีนี้จึงไม่น่าประหลาดใจที่ความกังวลด้านสุขภาพและการว่างงานก้าวขึ้นมาเป็นสิ่งที่กลุ่มมิลเลนเนียลรู้สึกกังวลเป็นอันดับหนึ่ง”

“อย่างไรก็ดี ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมยังเป็นประเด็นที่สำคัญอันดับต้น ๆ (เป็นอันดับที่ 3) ทั้งยังเป็นสิ่งที่กลุ่มเจนซีกังวลมากที่สุดเช่นกัน แม้ว่าในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกเป็นช่วงเวลาที่ความกังวลส่งผลต่อสุขภาพ สวัสดิภาพของครอบครัว และอาชีพเป็นสิ่งสำคัญกว่า”

“ที่สำคัญ ผลสำรวจดังกล่าวยังตอกย้ำให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน โดย 37% ของมิลเลนเนียล และ 40% ของเจนซี เชื่อว่ายังมีอีกหลาย ๆ คนมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศอย่างจริงจัง หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลงตามวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรีไซเคิลมากขึ้น เดินทางโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ไปจนถึงเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการซื้อสินค้าในฐานะผู้บริโภค”

นอกจากนั้น กลุ่มมิลเลนเนียลและเจนซียังคงตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าที่สอดคล้องกับค่านิยมของพวกเขา ผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่า 1 ใน 4 กล่าวว่า ผลกระทบจากธุรกิจ (ทั้งด้านบวกและด้านลบ) ต่อสิ่งแวดล้อมล้วนมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม ประมาณ 60% ของมิลเลนเนียลและเจนซีเกรงว่าพันธสัญญาที่ภาคธุรกิจจะส่งเสริมการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมจะถูกลดความสำคัญลง เนื่องจากผู้นำทางธุรกิจเผชิญกับความท้าทายเป็นผลกระทบมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

“มิเชล พาร์มาลี” กล่าวต่อว่า กลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียลและเจนซีเชื่อว่าการเลือกปฏิบัติมีอยู่ทั่วไปในทุกที่ ซึ่งอาจเกิดจากการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบในสังคมและสถาบันหลักต่าง ๆ โดย 6 ใน 10 ของเจนซีและมิลเลนเนียลจำนวน 56% กล่าวว่า การเหยียดเชื้อชาติมีอยู่ทั่วไปในสังคม อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาการเหยียดเชื้อชาติเป็นปัญหาที่ได้รับความสำคัญเป็นอันดับแรก

“จากการสำรวจพบว่า 55% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมดเชื่อว่าสังคมอยู่ในจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และการเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปในเชิงบวกหลังจากนี้”

ทั้งนั้น เพราะคนรุ่นมิลเลนเนียลและเจนซีทำทุกวิถีทางที่สามารถทำได้เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ยังคงเรียกร้องให้ภาครัฐและองค์กรอื่น ๆ ร่วมผลักดันเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น โดยประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาส่วนตัวสำหรับหลาย ๆ คน อย่างน้อย 1 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่าพวกเขารู้สึกถูกเลือกปฏิบัติตลอดเวลาหรือบ่อยครั้ง เนื่องจากภูมิหลังของพวกเขาเอง

จำนวนผู้ตอบ 1 ใน 4 รู้สึกว่าพวกเขาเคยถูกเลือกปฏิบัติจากรัฐบาลของตน และจำนวนผู้ตอบที่ใกล้เคียงกันรู้สึกว่าพวกเขาตกเป็นเป้าหมายในโซเชียลมีเดีย 34% ของมิลเลนเนียล และ 38% ของเจนซีเชื่อว่าการเหยียดเชื้อชาติในสถานที่ทำงานเป็นเรื่องที่ฝังลึกในระบบ

“เนื่องจากการเลือกปฏิบัติสามารถฝังรากลึกในระบบขององค์กรเป็นเวลานานเพราะ 3 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกจะเริ่มจากระดับบนลงล่างเท่านั้น อย่างไรก็ตามพวกเขาไม่เชื่อว่าสถาบันต่าง ๆ ดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ เมื่อขอให้ผู้ตอบแบบสำรวจจัดอันดับว่าใครคือผู้ดำเนินการอย่างเต็มความสามารถเพื่อลดปัญหาการเหยียดเชื้อชาติในระบบ”

“ที่สำคัญ บทบาทของธุรกิจในการสื่อสารมีความไม่แน่นอน และอาจถูกคนรุ่นมิลเลนเนียลและเจนซีมองข้ามไป ในมุมมองของมิลเลนเนียลและเจนซีศักยภาพของธุรกิจที่จะช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เป็นเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของบุคคล ระบบการศึกษาและรัฐบาลในการจัดลำดับผู้ที่ดำเนินการแก้ไขปัญหา การเหยียดเชื้อชาติในระบบธุรกิจ และผู้นำทางธุรกิจมาเป็นอันดับท้ายสุดจาก 8 อันดับ เพื่อเติมเต็มช่องว่างที่เกิดขึ้นจากสถาบันต่าง ๆ คนรุ่นมิลเลนเนียลและเจนซีจึงลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง”

ดังนั้น เมื่อมองถึงอนาคตจึงมีเพียง 36% ของมิลเลนเนียล และ 40% ของเจนซี เชื่อว่าสถานการณ์ทางการเงินของตนจะดีขึ้นภายในปี 2565 ในขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับการเงินส่วนบุคคลเพิ่มสูงขึ้น

โดยประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งกลายเป็นปัญหาทางสังคมที่ใหญ่ขึ้นเช่นกัน เพราะ 2 ใน 3 ของกลุ่มมิลเลนเนียล (69%) และเจนซี (66%) ที่สำรวจคิดว่าความมั่งคั่งและรายได้กระจายตัวอย่างไม่เท่าเทียมในสังคม

นับเป็นผลสำรวจที่น่าสนใจทีเดียว