ประเทศไทยไร้ขยะ (อาหาร) ปลุกพลังยับยั้งวิกฤตของเสียล้นโลก

แต่ละปีมีอาหารเหลือทิ้งจากทั่วโลกปีละ 1.3 พันล้านตัน หากมองในแง่เศรษฐศาสตร์ อาหารเหล่านี้ถ้าเปลี่ยนเป็นเงิน คิดเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือเป็นมื้ออาหารให้คนบริโภคได้ถึง 840 ล้านคน ขณะเดียวกัน หากมองในแง่ของสิ่งแวดล้อม ขยะจากอาหารเหล่านี้สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจก คิดเป็น 3,300 ตัน ไม่นับรวมน้ำ 25% ของปริมาณน้ำของโลกที่ถูกใช้ในการเพาะปลูกเพื่อกลายมาเป็นอาหาร แต่สุดท้ายต้องสูญเสียไปเพราะไม่ถูกบริโภค

ในต่างประเทศมี OzHarvest ของประเทศออสเตรเลีย องค์กรช่วยเหลือด้านอาหารที่จัดเก็บอาหารส่วนเกินที่ยังคงสภาพดี ทั้งยังสามารถรับประทานได้จากผู้ให้บริการอาหารทุกประเภทให้แก่ผู้ที่ต้องการ พร้อมขยายผลไปสู่ประเทศอื่น ๆ

ส่วนประเทศไทย มีเทสโก้ โลตัส ซึ่งมีการจัดการอย่างเป็นระบบมาแล้ว กว่า 3 ปี โดยนำร่องผ่านเทสโก้ โลตัส 23 สาขา ในกรุงเทพฯ ทั้งยังมีพันธมิตร คือ มูลนิธิกระจกเงา, องค์กรไทยฮาร์เวสต์เอสโอเอส และออลไทย แท็กซี่

“จอห์น คริสตี้” ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า เพราะเราตระหนักดีถึงความรับผิดชอบ และบทบาทของเราที่จะช่วยลดปริมาณขยะที่มาจากอาหาร เทสโก้ โลตัส จึงขอประกาศเจตนารมณ์ในการเป็นผู้นำลดการทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

“เพื่อให้สอดคล้องกับการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals-SDGs) ข้อที่ 12 ที่ว่าด้วยการสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการบริโภค และผลิตที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมาย 12.3 ว่าด้วยการลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีก และผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี 2573 กลุ่มเทสโก้จึงได้ประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าว”

โดยกลุ่มเทสโก้ในสหราชอาณาจักร เป็นผู้นำร่องโครงการ ทั้งยังประกาศเจตนารมณ์ว่า ภายในปี 2560 ร้านค้าของเทสโก้ในสหราชอาณาจักรทุกสาขาจะไม่ทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ โดยบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดให้กับองค์กรการกุศล และกลุ่มชุมชนกว่า 5,000 องค์กร เพื่อนำสินค้าที่บริจาคไปประกอบเป็นอาหารให้กับผู้ยากไร้

“วานิช สาวาโย” ผู้อำนวยการส่วนลด และใช้ประโยชน์ของเสีย กรมควบคุมมลพิษ บอกว่า ปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2559 ประชากรไทย 1 คน สร้างขยะต่อวันถึง 1.14 กิโลกรัม ทำให้มีขยะมูลฝอยทั้งหมด 27.06 ล้านตันต่อปี

“64% ของขยะมูลฝอยนี้เป็นขยะที่มาจากอาหาร เนื่องจากประเทศไทยไม่สามารถกำจัดขยะได้ทั้งหมด โดย 42% ของขยะมูลฝอยถูกกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี จนนำไปสู่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา”

“โป้ว เจา ฉิน” เจ้าหน้าที่ประสานงานชุมชน องค์กรไทยฮาร์เวสต์เอสโอเอส กล่าวว่า ที่ผ่านมาองค์กรมีการขอบริจาคอาหารเหลือจากสถานที่ต่าง ๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร และร้านเบเกอรี่ เพื่อนำมาคัดแยกสำหรับบริจาคแก่ผู้ที่ต้องการ ส่วนที่ใช้ไม่ได้ก็นำไปทำปุ๋ยชีวภาพแจกจ่ายแก่เกษตรกร

โดยปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการปฏิเสธการบริจาคอาหารที่เหลือจากการบริโภคจะมาจาก 3 สาเหตุหลัก คือ

หนึ่ง ด้านชื่อเสียง เนื่องจากอาหารที่บริจาคจะกระจายโดยองค์กรการกุศล ซึ่งอยู่เหนือการควบคุม และหากมีผู้บริโภคอาหารเข้าไปแล้วมีอาการป่วย ผู้บริจาคจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้

สอง การคัดแยก ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระงานให้แก่คนในองค์กรของผู้บริจาค

สาม การขนส่ง แม้ว่าจะมีหน่วยงานมารับอาหารถึงที่ แต่ยังคงติดปัญหาเรื่องพื้นที่จัดเก็บ พื้นที่จอดรถสำหรับลำเลียง เพราะผู้บริจาคหลายแห่งมีทำเลอยู่ในพื้นที่ในเมือง ซึ่งมีปัญหาการจราจรอยู่แล้ว

“องค์กรมีการทำงานเชิงรุกด้วยการเข้าไปติดต่อร้านเบเกอรี่ โรงแรมขนาดใหญ่ เพื่อขอรับบริจาคอาหาร ซึ่งโรงแรมขนาดใหญ่จะมีขนมปัง ผลไม้เหลือทิ้งกว่า 20-100 กก./โรงแรม/วัน อาหารเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังเด็กกำพร้า เด็กในชุมชนแออัด รวมทั้งผู้ลี้ภัยที่ไม่สามารถทำงานได้ รวมถึงมูลนิธิอื่น ๆ และ UNHCR เพราะจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้มาก”

“ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย” รองประธานกรรมการ แผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน เทสโก้ โลตัส กล่าวเสริมว่า ภายใต้กลยุทธ์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork) เทสโก้ โลตัส ลดการสูญเสียอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน ผ่าน 3 ขั้นตอนการจัดการด้วยกัน คือ

หนึ่ง ลดการเกิดของเสีย โดยมีการบริหารจัดการตั้งแต่แปลงปลูกผ่านโครงการรับซื้อผลผลิตตรงจากเกษตรกร จนช่วยให้เทสโก้ โลตัส และเกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกร่วมกันตามความต้องการของตลาด

สอง การขนส่ง ที่ผ่านมาหากเกิดความเสียหายของสินค้าขณะขนส่ง จะถูกคัดทิ้งทันที แต่ปัจจุบันสามารถส่งต่อให้แก่หน่วยงาน หรือองค์กรที่ต้องการได้ เช่น ข้าวสาร อาหารสำเร็จรูป

สาม การขายให้หมด เพื่อลดของเหลือ ผ่านการลดราคาเพื่อจูงใจหรือสินค้าป้ายเหลือง รวมทั้งสินค้าตัวโชว์ซึ่งมักจะขายไม่ได้ แม้ว่าคุณภาพดีก็ตาม

“ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เราบริจาคข้าวสาร ผัก ผลไม้ และอาหารแห้งที่จำหน่ายไม่หมด ซึ่งได้เปลี่ยนเป็นอาหารแก่ผู้ด้อยโอกาสถึงเกือบ 1 ล้านมื้อ ในปีนี้เราร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา และ ThaiHarvestsos ในการกระจายสินค้าแก่ผู้ที่ต้องการ โดยมีออลไทย แท็กซี่ ช่วยจัดการด้านการขนส่งจากเทสโก้ โลตัส ทั้ง 23 สาขาในกรุงเทพฯ ไปยังองค์กรที่ต้องการ”

“ทั้งในอนาคตเรายังมีแผนขยายพื้นที่เพื่อส่งต่อสินค้าเหล่านี้ทั่วประเทศทั้ง 150 สาขา โดยอาจจะจับคู่กับหน่วยงานในแต่ละพื้นที่เป็น Buddy Charity หรือผ่านชุมชนโดยตรง เพื่อส่งต่อสินค้าที่ขายไม่หมด แต่มีคุณภาพดี ไปยังผู้ที่ต้องการ”

เพราะอาหารคือปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต แต่หากยังมีปัญหาด้านปากท้อง ก็คงยากที่จะพัฒนาในด้านสังคมต่อไปได้