ก.แรงงาน จูงใจเจ้าของกิจการทำมาตรฐานแรงงาน ม.26 ได้เงินอุดหนุน 1 หมื่น

กระทรวงแรงงาน จูงใจเจ้าของกิจการทำมาตรฐานแรงงาน ม.26 และหลังจัดสอบลูกจ้าง มีสิทธิขอเงินอุดหนุนแต่ละสาขาระดับละ 10,000 บาท

วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดทำโครงการจูงใจเจ้าของกิจในการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงาน ตามมาตรา 26 พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 เพื่อลดการสูญเสีย เพิ่มประสิทธิภาพ ผลิตภาพในวงจรการผลิต มีแต่ได้ไม่มีเสีย

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานมีนโยบายด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงมอบหมายให้ กพร.ดำเนินการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพใน 3 มิติ คือ 1.New skill 2.Re skill 3.Up skill เพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม ตามมาตรฐานฝีมือ รักษาสภาพการทำงาน และสร้างโอกาสการมีงานทำให้แก่แรงงานทุกกลุ่ม ทั้งแรงงานใหม่ แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ผู้ว่างงาน และนักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษา (ระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี) รวมถึงส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้แก่สถานประกอบกิจการด้วย

ธวัช เบญจาทิกุล

“กพร.ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ดำเนินการตามมาตรา 26 ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 เชิญชวนให้นายจ้างและสถานประกอบกิจการ จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการคัดเลือกพนักงานเข้าทำงาน กำหนดอัตราค่าจ้างและค่าตอบแทนตามทักษะฝีมือ พิจารณาเลื่อนตำแหน่งงาน พัฒนาเป็นหลักสูตรฝึกอบรมซึ่งส่งผลดีต่อสถานประกอบกิจการในแง่ของการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ช่วยลดการสูญเสียในวงจรการผลิต ลดต้นทุน และลดอุบัติเหตุระหว่างการทำงานได้”

นายธวัชอธิบายว่า ขั้นตอนจะทำร่วมกันระหว่างสถานประกอบกิจการกับ สพร. หรือ สนพ. ในการจัดตั้งคณะทำงานในการวิเคราะห์ตำแหน่งงาน จัดทำข้อสอบภาคความรู้ ภาคปฏิบัติ วิเคราะห์ข้อสอบ จัดทดลองทดสอบให้แก่พนักงาน และเสนอต่อคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อขอหนังสือรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพแล้วนำไปใช้ได้ทันที

“เมื่อผู้ประกอบกิจการได้รับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานตามมาตรา 26 แล้ว และได้นำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้ในการทดสอบให้แก่ลูกจ้างของตนในปีที่ผ่านมา มีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนในแต่ละสาขาระดับละ 10,000 บาทอีกด้วย”

เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการจัดทำมาตรฐานและนำไปใช้ในการทดสอบให้แก่ลูกจ้างของตนต่อไป ซึ่งนอกจากประโยชน์ที่สถานประกอบกิจการจะได้รับแล้ว พนักงานหรือลูกจ้างก็จะได้ทราบระดับทักษะฝีมือ และข้อบกพร่องของตนเองเป็นแนวทางการวางแผนพัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบและช่วยให้ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม ทั้งยังส่งผลดีต่อผู้บริโภค เพราะเป็นการเพิ่มโอกาสและทางเลือกในการบริโภคสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยตรวจสอบได้จากแรงงานผู้มีทักษะฝีมือ