จ๊อบส์ ดีบี แนะ EQ มีความสำคัญมาก กับการทำงานยุคโควิด

ภาพ : Reuters/David Jackson

จ๊อบส์ ดีบี แนะ EQ มีความสำคัญมาก กับการทำงานยุคโควิด ช่วยปรับ WFH ให้สมดุล ลดความขัดแย้งระหว่างองค์กรและพนักงาน

แน่นอนว่า hard skill ทักษะความรู้ความสามารถทางปัญญา หรือที่เรารู้จักกันว่า IQ (intelligence quotient) มีความสำคัญกับการทำงานเป็นอย่างมาก และเป็นสิ่งที่องค์กรต้องการจากตัวพนักงาน แต่ขณะเดียวกัน ทักษะที่จะมาช่วยส่งเสริมให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก้าวสู่ความสำเร็จได้ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข คือ EQ (emotional intelligence) ความฉลาดทางอารมณ์

“จ๊อบส์ ดีบี (JobsDB)” บริษัทพัฒนาแพลตฟอร์มหางานชั้นนำของเอเชีย ได้อธิบายไว้ว่า การมี EQ คือการเป็นคนที่มีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ดี มีแรงผลักดันในการทำงาน มองโลกในแง่บวก ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งต่อพนักงานและต่อองค์กร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่มองไปทางไหนก็เห็นแต่ปัญหามากมาย ทั้งเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาด้านเศรษฐกิจ และการว่างงาน เป็นต้น ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยทำให้คนมีกำลังใจดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ต่อไปได้ตอนนี้คงหนีไม่พ้น ความฉลาดทางด้านอารมณ์ จ๊อบส์ ดีบี ได้สรุปความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ กับชีวิตการทำงานในยุคโควิด-19 ไว้ดังนี้

ช่วยให้ทำงานร่วมกันลื่นไหล

การที่งานจะออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ ทีมงานต้องแข็งแกร่ง การสร้างทีมต้องอาศัย EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์เข้ามาช่วย หัวหน้างานควรต้องมีความฉลาดทางอารมณ์ เพื่อบริหารทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงสู่เส้นชัย ขณะเดียวกัน หากพนักงานภายในทีมต่างมี EQ ด้วยแล้ว จะยิ่งทำให้การทำงานเป็นไปอย่างลื่นไหล สื่อสารกันได้เข้าใจ โดยไม่ใช้อารมณ์มาตัดสิน

ปรับ work from home ให้สมดุล

หลายคนต้องประสบกับปัญหาการทำงานจากบ้าน (work from home-WFH) แล้วทำให้สมดุลชีวิตหายไป เพราะเวลางานปนเปไปกับเวลาที่ใช้กับครอบครัว การทำงานเปลี่ยนจาก เข้างาน 8 โมง เลิกงาน 5 โมง เป็นยืดหยุ่นเวลาเข้าออกงานมากขึ้น แต่กลับทำให้ชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้นแบบไม่รู้ตัว

EQ จะเข้ามาช่วยคุณจัดการทางอารมณ์และควบคุมจิตใจได้ หากคุณมีความฉลาดทางอารมณ์มากพอจะทำให้สามารถบริหารจัดการกับอารมณ์ที่เกิดจากชั่วโมงการทำงานที่มากขึ้น และรับมือกับอารมณ์จากเพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่อารมณ์ของลูกน้อง และหัวหน้างานได้เป็นอย่างดี

ลดขัดแย้งระหว่างองค์กรและพนักงาน

ทั้งด้วยสภาพเศรษฐกิจ และสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้าง และนายจ้างเปลี่ยนไป ขณะที่องค์กรคาดหวังกับปริมาณงานที่เพิ่มมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น พนักงานก็คาดหวังกับผลตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

ฉะนั้นการจัดการทางอารมณ์ที่ดีจะช่วยให้ทั้งพนักงานและองค์กรผ่านสถานการณ์วิกฤตนี้ไปได้

เข้าใจพนักงาน Gen Z

2-3 ปีมานี้ องค์กรได้มีโอกาสเปิดรับพนักงานที่อยู่ในวัย Gen Z เข้ามาทำงาน ซึ่งจากผลวิจัยพบว่า คน Gen Z มีวิธีการทำงานต่างจากคน Gen อื่น ๆ พร้อมกับมีแนวโน้มจะเกิดความเหงาจากการทำงานมากกว่า Gen อื่น ๆ ถึง 73% และอยากได้รับความใส่ใจจากหัวหน้างานมากเป็นพิเศษ

ฉะนั้น EQ ความฉลาดทางอารมณ์ จึงมีความสำคัญในการทำงานในปัจจุบันโดยเฉพาะกับคน Gen Z เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหัวหน้างานที่ต้องเข้าใจความแตกต่างในแต่ละ Gen เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้นั่นเอง

นอกจากนั้น จ๊อบส์ ดีบี ได้แนะนำวิธีบริหารจัดการอารมณ์และการการแสดงออกสำคัญ 5 ข้อ ที่สามารถนำไปฝึกใช้ได้ในชีวิตประจำวันได้คร่าว ๆ ดังนี้

1. รู้จักตนเอง (self-awareness)

รู้จักตนเองอย่างลึกซึ้ง รู้ว่าตอนนี้กำลังรู้สึกอะไร รวมถึงการแสดงออกทางอารมณ์ของเราส่งผลกระทบต่อคนอื่นอย่างไร

2. การควบคุมตัวเอง (self-regulation)

เมื่อรู้ตนเองว่าจะอารมณ์ขึ้นในเหตุการณ์แบบไหน ก็ต้องเริ่มฝึกตัวเองให้มีสติในการแสดงออก

3. การมีแรงจูงใจ (motivation) นำพาตัวเองผ่านอุปสรรค

แรงจูงใจและ passion ที่แรงกล้า ทำให้คนเราสามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคที่ยากลำบาก ร่วมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้กันคนอีกได้ด้วย สังเกตได้ว่าผู้นำชื่อดังหลายคนมี passion ในการทำงานสูงมาก

4. การเข้าใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง (empathy)

empathy เป็นคำยอดฮิตของคนยุคนี้ หมายถึง การรับรู้และเข้าใจถึงเหตุผลและการกระทำ ต้องรู้จักฟังให้เป็น เริ่มจากเปลี่ยนการตั้งคำถามจาก “ทำไม..เขาทำแบบนี้” เป็น “อะไร..ทำให้เค้าทำแบบนี้” นอกจากนั้น empathy เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้นำหรือผู้บริหารควรมีเป็นอย่างมาก เพราะการนั่งบริหารอยู่บนหอคอยงาช้าง ทำให้เราเห็นแต่เพียงภาพกว้างซะส่วนใหญ่ ไม่ได้เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของลูกน้อง หรือผู้ร่วมงานอย่างละเอียด ทำให้การแสดงออกของเราอาจจะข้ามความรู้สึกบางอย่างที่เรามองว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่กลับเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนอื่นได้ การมี empathy เป็นตัวทำให้การแสดงออกต่อผู้อื่นแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง

5. ทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น (social skill)


ผู้นำที่ดีต้องรู้จักการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงาน การแสดงออกของผู้นำมักจะมีผลกระทบอย่างมากต่อผู้ร่วมงาน ถ้าผู้นำเป็นคนที่สื่อสารดี เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ควบคุมอารมณ์ตนเองได้ ย่อมจะทำให้คนในทีมเห็นแบบอย่างที่ดีและปฏิบัติตัวไปในทางเดียวกัน และสิ่งนี้เองจะส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน ดึงดูดคนเก่งและดีเข้ามาในทีม เป็นผลให้บริษัทเจริญก้าวหน้าต่อไป