PwC เผย ความเชื่อมั่นซีอีโอเอเปกต่อรายได้พุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี

“ศิระ อินทรกำธรชัย” ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ APEC CEO Survey 2017 ที่ใช้เผยแพร่ในการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC CEO Summit ประจำปี 2560 ณ เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 8-10 พ.ย. 2560 ซึ่งทำการสำรวจผู้บริหารในกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก จำนวนกว่า 1,400 รายใน 21 ประเทศ

โดยในปีนี้มีซีอีโอเอเปก 37% แสดงความเชื่อมั่นมากว่า ธุรกิจและรายได้ของบริษัทในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะเติบโตขึ้น ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2557 และเพิ่มขึ้นจาก 28% ในปีที่ผ่านมา แม้มีปัจจัยความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าและความตึงเครียดทางการเมืองของประเทศสมาชิกเอเปกหลายราย

นอกจากนี้ 50% ของผู้บริหารเอเปกมีแผนที่จะเพิ่มการลงทุนในตลาดโลก (รวมทั้งประเทศที่อยู่นอกภูมิภาคเอเปก) มากขึ้น เปรียบเทียบกับ 43% ในปี 2559 โดยพบว่า 71% ของซีอีโอที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในปีนี้ จะมุ่งขยายตลาดไปในภูมิภาคเอเปกด้วยกัน ขณะที่ 63% คาดว่าจะขยายการลงทุนไปสู่ตลาดโลกมากขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า

สำหรับประเทศที่ถูกจับตาให้เป็นเป้าหมายของการลงทุนภายในประเทศ (Domestic investment) มากที่สุดในปีนี้ ได้แก่ เวียดนาม รัสเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย ในทางกลับกัน ประเทศที่ถูกจัดให้เป็นเป้าหมายของการลงทุนจากต่างประเทศ (Overseas investment) มากที่สุด ได้แก่ เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา และ ไทย ตามลำดับ โดยซีอีโอมาเลเซียและซีอีโอเวียดนามที่ถูกสำรวจมากถึง 89% และ 86% มีแผนขยายธุรกิจของตนสู่ตลาดโลกอีกด้วย

“ศิระ” กล่าวว่า สาเหตุที่ผู้บริหารเอเปกในปีนี้จัดอันดับให้ไทยติดอันดับประเทศเป้าหมายการลงทุนที่น่าสนใจ และคาดว่าจะได้รับเม็ดเงินจากการลงทุนของต่างประเทศมากขึ้นในอีก 1 ปีข้างหน้า เนื่องมาจากความพยายามอย่างต่อเนื่องของไทยในการออกมาตรการและนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ดึงดูดความน่าสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขข้อกฎหมายที่ล้าหลัง เพื่อสร้างความน่าดึงดูดในการลงทุนให้กับประเทศ

“การดำเนินนโยบายของภาครัฐภายใต้โรดแมป ไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งพัฒนาประเทศไปสู่การเพิ่มคุณค่าให้กับแรงงานและระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มากขึ้น ยังช่วยเชื่อมต่อไทยกับประชาคมโลก ซึ่งทั้งหมดทำให้ไทยมีความน่าสนใจและกลายเป็นเป้าหมายของการเข้ามาลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติมากขึ้น”

“อีกแรงหนุนสำคัญที่ทำให้ต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในไทย คือ ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีการปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของตัวเลขการส่งออก การท่องเที่ยว และการบริโภคของครัวเรือน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสนับสนุนของความเชื่อมั่นได้เป็นอย่างดี”

นอกจากนี้ ในรายงานการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ Doing Business 2018 ของธนาคารโลกที่ผ่านมา ยังจัดให้ไทยมีอันดับดีขึ้น โดยไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ง่ายต่อการเข้าไปทำธุรกิจอยู่ในอันดับที่ 26 จากอันดับที่ 46 ในปีก่อน จากจำนวนทั้งหมด 190 ประเทศทั่วโลก และยังเป็นประเทศอันดับที่ 3 ในภูมิภาคอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย

อย่างไรก็ดี ซีอีโอเอเปกมีความกังวลเกี่ยวกับเงื่อนไขและข้อจำกัดทางการค้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเคลื่อนย้ายแรงงานและสินค้า ถือได้ว่าเป็นประเด็นสำคัญของการหารือกันในการประชุมเอเปกครั้งนี้ เพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการแข่งขันและการเติบโตขององค์กร โดย 30% ของผู้บริหารที่ถูกสำรวจต้องการให้เอเปกเป็นเวทีในการหารือร่วมกันเพื่อหาทางออกให้กับทิศทางของการเคลื่อนย้ายแรงงานในอนาคต

ขณะเดียวกัน ซีอีโอเอเปกยังระบุว่า การแข่งขันจากประเทศชั้นนำในกลุ่มเศรษฐกิจเอเปก และกลุ่มประเทศเติบโตสูงได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน โดยระดับความรุนแรงของการแข่งขันของประเทศเหล่านี้ เมื่อรวมกันยังแซงหน้าการแข่งขันจากบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว

ขณะที่ 19% ของผู้บริหารเชื่อว่าคู่แข่งรายสำคัญที่สุดในอีก 3 – 5 ปีข้างหน้าคือ บริษัทข้ามชาติจากกลุ่มประเทศเติบโตสูง หรือผู้เล่นรายใหญ่ในระดับภูมิภาคเอเปกที่ 22% โดยมีซีอีโอ 32% ที่เชื่อว่าบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้วคือคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุด โดยลดลงจาก 41% ในปี 2557

“ศิระ” กล่าวต่อว่า ความเชื่อมั่นของซีอีโอเอเปกที่เพิ่มขึ้นมีส่วนกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมที่จะถูกนำมาใช้ในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซีอีโอในกลุ่มอาเซียนที่มองว่า ระบบอัตโนมัติ (Automation) จะเป็นตัวแปรสำคัญของการขับเคลื่อนกลยุทธ์องค์กรไปสู่การพัฒนากำลังแรงงานในรูปแบบดิจิทัล

“58% ของซีอีโออาเซียนระบุว่า ได้ทำการเปลี่ยนถ่ายระบบงานบางอย่างผ่านการใช้ระบบอัตโนมัติแล้ว ขณะที่ 40% กำลังลงทุนในเทคโนโลยีเกิดใหม่และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) และอีก 41% ระบุว่า พนักงานมีทักษะในการใช้เครื่องมือระบบอัตโนมัติใหม่ๆ”

ทั้งนั้น เศรษฐกิจเอเปกมีศักยภาพในการเป็นแหล่งทดสอบที่สำคัญของการพัฒนากำลังแรงงานด้านดิจิทัลในอนาคต โดยภาคธุรกิจส่วนใหญ่ตระหนักดีว่า ทักษะใดที่พวกเขาต้องการ ขณะที่ภาครัฐและเอกชนเองก็ต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างแนวทางในการฝึกอบรม พัฒนา และเข้าถึงทักษะแรงงานเหล่านั้น