สธ.เปิดผลศึกษาวัคซีน ชี้ซิโนแวคยังได้ประสิทธิผลดีต่อการป้องกันโควิด

ซิโนแวค

สธ.เปิดผลการศึกษาวัคซีนที่ใช้ในสนามจริง ชี้ซิโนแวคยังได้ประสิทธิผลดี ฉีดครบ 2 เข็มลดป่วยรุนแรงได้จริง ขณะที่แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็มเกิน 14 วันป้องกันติดเชื้อได้ 83.8% พร้อมแจงการปรับสูตรสลับชนิด เป็นการเพิ่มทางเลือกประชาชน

วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงข่าวประเด็นประสิทธิผลของวัคซีนโควิดในการใช้จริงของประเทศไทย ว่าจากการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนโควิดในการใช้จริงของประเทศไทย ขณะนี้มีการศึกษาอยู่ 4 การศึกษา โดย 2 การศึกษาแรกเป็นการศึกษาในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ติดตามว่าในบรรดากลุ่มดังกล่าวมีใครติดเชื้อ และมีกี่รายได้รับวัคซีน กี่รายไม่ได้รับวัคซีน ที่ จ.ภูเก็ต และ จ.สมุทรสาคร ส่วนอีกกลุ่มเป็นการศึกษาในบุคลากรสุขภาพจากเหตุการณ์การระบาดใน จ.เชียงราย และอีกการศึกษาคือจากฐานข้อมูลกรมควบคุมโรคเกี่ยวกับบุคลากรสาธารณสุขที่มีการติดเชื้อในเดือน พ.ค.- มิ.ย. มาทำการศึกษา

นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ

ผลศึกษาภูเก็ต-สมุทรสาคร

ทั้งนี้ในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. ส่วนใหญ่คนที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์จะเป็นซิโนแวค จะมีแอสตร้าเซนเนก้าบ้างเฉพาะบางการศึกษาเท่านั้น ซึ่งจากการศึกษาประสิทธิผลในพื้นที่จริง จ.ภูเก็ต ช่วงเดือน เม.ย. ที่เริ่มมีการฉีดวัคซีน ขณะเดียวกันก็พบมีผู้ติดเชื้อได้มีการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกว่า 1,500 ราย พบติดเชื้อ 124 ราย เปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อระหว่างคนที่ได้รับวัคซีนและไม่รับวัคซีนพบว่าคนรับวัคซีนแล้ว ประสิทธิผลป้องกันติดเชื้ออยู่ที่ 90.7%

สำหรับการศึกษาในสมุทรสาคร การศึกษาคล้ายคลึงกัน โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมีทั้งหมด 500 กว่าราย พบติดเชื้อ 116 ราย เมื่อเปรียบเทียบคนที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มในกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง ว่ามีใครติดเชื้อบ้างและเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้รับวัคซีน เมื่อเปรียบเทียบแล้วพบประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อสูงถึง 90.5%

ดังนั้น เมื่อดูข้อมูลในช่วงการศึกษาทั้ง 2 จังหวัด พบว่าประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวค ในช่วง เม.ย.-พ.ค. ที่ศึกษา ขณะนั้นเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า จึงพบว่าประสิทธิผลดีพอสมควร ในสนามจริงอยู่ที่ 90% ผลการศึกษานี้ดีกว่าการศึกษาจริงในประเทศอื่น และดีกว่าผลการศึกษาตอนเริ่มทำการทดลองในบราซิล ตุรกี อยู่ที่ 50-70% ซึ่งตอนนั้นก็คนละสายพันธุ์กับบ้านเรา ดังนั้น การป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟ่า จากข้อมูลที่เรามีก็เป็นเครื่องยืนยันว่า ประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวคสามารถป้องกันการติดเชื้อได้

ผลศึกษาในบุคลากรเชียงราย

นอกจากนี้ การศึกษาที่ จ.เชียงราย ที่พบการระบาดในบุคลากรสุขภาพ มีการติดเชื้อและตรวจบุคลากรที่มีความเสี่ยงไปเกือบ 500 ราย พบติดเชื้อ 40 ราย จึงมาดูว่าใครติดเชื้อบ้าง แล้วใครติดเชื้อมีอาการปอดอักเสบบ้าง ซึ่งครั้งนั้นเกิดช่วงเดือน มิ.ย. โดยยังเป็นสายพันธุ์อัลฟ่าอยู่ ทั้งนี้ พบค่าประสิทธิภาพของวัคซีนที่เปรียบเทียบผู้ได้รับวัคซีน 2 เข็มครบ พบประสิทธิผลอยู่ที่ 88.8% และประสิทธิผลป้องกันปอดอักเสบอยู่ที่ 85%

แต่ จ.เชียงราย ยังมีข้อมูลน่าสนใจตรงบางส่วนได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 1 เข็ม ครบ 14 วัน ซึ่งปกติแอสตร้าเซนเนก้าจะฉีด 2 เข็มต้องห่างกันถึงประมาณ 10 สัปดาห์ โดยคนที่ได้รับแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม 50 ราย ก็พบว่าป้องกันการติดเชื้อได้เช่นเดียวกัน โดยประสิทธิภาพ 1 เข็มอยู่ที่ 83.8%

ผลศึกษาจากฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศ

ส่วนการศึกษาที่นำฐานข้อมูลของประเทศมาว่า ในบุคลากรสุขภาพแต่ละเดือนมีการติดเชื้อเท่าไหร่ และนำมาเปรียบเทียบดู ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ติดตามฐานข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วย เปรียบเทียบข้อมูลการฉีดวัคซีนของประเทศ พบว่าในเดือน พ.ค. การระบาดตอนนั้นยังเป็นอัลฟ่าอยู่ โดยประสิทธิผลการฉีดวัคซีน 2 เข็มอยู่ที่ 71% ส่วนเดือน มิ.ย. เริ่มมีการระบาดของเดลต้า ซึ่งภาพรวมของประเทศอยู่ที่ 20-40% โดยพบประสิทธิผลอยู่ที่ 75% ไม่ได้ลดลงไป ดังนั้นมีข้อกังวลว่าสายพันธุ์เดลต้าจะมีผลต่อประสิทธิภาพของซิโนแวคในการใช้จริงมากน้อยเพียงใด ขณะนี้การใช้ในสนามจริงยังคงที่ แม้ภาพรวมของการติดตามผลทางห้องปฏิบัติการพบว่าลดการสร้างค่า neutralizing antibody อยู่บ้าง

“แต่โดยสรุปคือ วัคซีนทุกตัวปลอดภัย ส่วนประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ความเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย แต่ประสิทธิผลของโคโรนาแวคชนิดเชื้อตายการใช้จริงในไทยได้ผลดีพอสมควร ป้องกันการติดเชื้อ 90% ปอดบวมประมาณ 85% ต้องทำความเข้าใจว่าไม่ใช่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือประสิทธิผลต่ำแล้วเรามาเปลี่ยนสูตรการใช้ เราคาดการณ์ล่วงหน้าไว้อยู่แล้วเมื่อเกิดสายพันธุ์เดลต้า จึงปรับวิธี”

ฉีดสลับยี่ห้อไม่ได้บังคับ

นอกจากนี้ นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวต่อว่า กรณีการฉีดวัคซีนซิโนแวคในเข็มที่ 1 และฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในเข็มที่ 2 นั้น ยืนยันว่าสูตรนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ สามารถฉีดได้กับทุกกลุ่มทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีตั้งครรภ์ ไม่มีผลเสียและสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ โดยฉีดเข็มแรกห่างจากเข็มที่สองอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ และยืนยันว่าสูตรนี้ไม่ได้เป็นการบังคับฉีด ซึ่งในส่วนของแผนงานเดิมทั้งการฉีดวัคซีนซิโนแวค หรือแอสตร้าเซนเนก้า ใน 2 เข็มยังคงมีอยู่ ดังนั้นสูตรนี้จึงเป็นเพียงการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การฉีดและจัดหาวัคซีนเป็นไปตามนโยบาย ของ สธ. และรับการอนุมัติจากรัฐบาล ในขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนหลักที่รัฐบาลจัดสรรให้ประชาชนฉีดฟรีจำนวน 3 ยี่ห้อ ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค ขณะนี้เจรจาเพิ่มเติมคือ ไฟเซอร์ ทั้ง 3 คือวัคซีนหลักที่มีสถานะการสั่งจองแล้ว ส่วนอีก 2 ยี่ห้อที่อยู่ระหว่างการเจรจา คือ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และวัคซีนสปุตนิก ซึ่งเป็นวัคซีนไวรัลเวกเตอร์ สาเหตุที่ยังไม่มีความคืบหน้าจัดหาทั้ง 2 ตัว ไม่ใช่เพราะเราไม่ได้ดำเนินการ แต่เป็นปัญหาของแหล่งผลิต อย่างกรณีของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ทางบริษัทขอเลื่อนการลงนามทำสัญญากับเรา สืบเนื่องจากโรงงานสหรัฐอเมริกา มีปัญหาเรื่องแหล่งผลิตอยู่จึงไม่พร้อมลงนามทำข้อผูกมัด ส่วนสปุตนิกต้องรอให้มีการจดทะเบียนขั้นตอนกับทาง อย.

ไฟเซอร์ไตรมาส 4 ฉีดกลุ่มเสี่ยง

นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส ที่กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งจองไปนั้น คาดว่าจะสามารถนำเข้ามาภายในประเทศไทยได้ในช่วงไตรมาส 4 หรือหลังเดือนตุลาคมเป็นต้นไป โดยกลุ่มแรกที่จะได้รับการฉีด คือ ประชาชนในกลุ่มเสี่ยง 7 โรค เด็ก ผู้สูงอายุ และบุคลากรทางการแพทย์ หลังจากนั้นจะพิจารณาในส่วนของประชาชนทั่วไปและกลุ่มที่จะได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ศึกษาแหล่งผลิตวัคซีนรุ่น 2

ส่วนที่ดำเนินต่อไปคือการจัดหาวัคซีนในปีหน้า ซึ่งคาดว่าจะมีการระบาดสายพันธุ์ใหม่ เริ่มมีการศึกษาดูว่าจะมีวัคซีนในแหล่งผลิตใดที่พัฒนาวัคซีนรุ่น 2 เราได้มีการติดตามและทาบทามบริษัทที่พัฒนาเรื่องนี้อยู่มีทั้งสิ้น 3-4 บริษัท ล้วนแต่เป็นบริษัทชั้นนำ

ย้ำว่าเตรียมการจัดหา มีกระบวนการ ขั้นตอนแต่ถึงตอนสุดท้ายอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น