ซีเอสอาร์แนวสร้างสรรค์ เปลี่ยนขยะเป็นอนาคต

รูปแบบของกิจกรรมเพื่อสังคมมีอยู่หลากหลาย แต่หากต้องการความยั่งยืนต้องทำอย่างเป็นระบบ ใส่ความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน และต้องทำได้ง่ายจึงทำให้รูปแบบกิจกรรมเพื่อสังคมของเอ็ม บี เค กรุ๊ป มุ่งไปในทางซีเอสอาร์แบบสร้างสรรค์ แต่มีการส่งต่อจากข้างในสู่ข้างนอกอย่างลื่นไหล และมีชีวิตชีวา ผ่านโครงการเปลี่ยนขยะเป็นอนาคต (Gift for Sharing)

“กนกรัตน์ จุฑานนท์” ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางเอ็ม บี เค กรุ๊ป มีความตระหนักว่าที่ผ่านมา ทางเอ็ม บี เค กรุ๊ป มีส่วนในการสร้างขยะให้แก่โลกใบนี้ ทั้งผ่านในรูปแบบของงานเอกสารภายใน บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในกลุ่มร้านค้าต่าง ๆ เราจึงเกิดความคิดที่จะมีส่วนร่วมในการลดขยะ ทั้งผ่านโครงการเปลี่ยนขยะเป็นอนาคต (Gift for Sharing) โดยให้คนในองค์กร (CSR internal) และภายนอกองค์กร (CSR external) มีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ ซุกสุขสิ้นเดือน ที่ให้พนักงานในเครือคัดแยกขยะ แล้วนำขยะมาแลกเป็นของกินของใช้ในทุกสิ้นเดือน, กิจกรรมการอบรมซาเล้ง เพื่อให้มีความรู้ในการแยกขยะให้ปลอดภัย และส่งผ่านความรู้ผ่านซาเล้งถึงประชาชน

“เราต้องการให้พนักงาน รวมถึงคนรุ่นใหม่ทุกคนเห็นว่าการทำกิจกรรมเพื่อสังคมไม่ใช่เรื่องยาก และสามารถทำอย่างมีความสุข สนุกสนาน ใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปได้ กิจกรรมซุกสุขสิ้นเดือน ผลจากการดำเนินการในระยะเวลา 5 เดือน สามารถคัดแยกขยะได้กว่า 2 ตัน แล้วนำมาต่อยอดสู่กิจกรรม “WOW Design Award 2017″ โดยให้คนรุ่นใหม่นำขยะเหล่านี้มาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ แบ่งเป็น 3 หมวดคือ ของใช้, ของแต่งบ้าน และเครื่องประดับ โดยมีผู้สนใจร่วมส่งผลงานเข้าร่วมประกวดมากกว่า 200 ทีม และสุดท้ายคัดจนเหลือเพียง 3 ทีม”

“นอกจากนี้ ยังมีดีไซเนอร์เข้าร่วมออกแบบอีก 3 ทีม อาทิ ThinkkStudio, MOHO Studio และ Graphic Designer เมื่อผลงานชนะแล้ว จึงมาช่วยเด็กพิเศษ และผู้ด้อยโอกาสในการผลิตชิ้นงานออกมาอีกจำนวน 900 ชิ้น เพื่อวางจำหน่ายในพื้นที่ห้างสรรพสินค้าเอ็ม บี เค ตั้งแต่เดือนนี้ไปจนถึงปลายเดือนธันวาคม”

“ความพิเศษคือการนำผลงานชนะเลิศ ทั้ง 6 ผลงาน เป็นต้นแบบให้แก่นักเรียนจาก 3 สถาบัน ประกอบด้วย มูลนิธิสถาบันแสงสว่าง, ศูนย์พัฒนาศักยภาพ และอาชีพคนพิการพระประแดง และโรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ ซึ่งเป็นน้องผู้พิการ และน้อง ๆ เหล่านี้จะมีรายได้จากการทำชิ้นงาน ได้ฝึกสมาธิ กล้ามเนื้อ และทักษะในการทำงานศิลปะ โดยจะมีการแบ่งงานกันตามความถนัดของนักเรียนแต่ละคน ในอนาคตอาจจะเป็นช่องทางในการสร้างอาชีพต่อไปอีกด้วย”

ส่วนรายได้จากการจัดจำหน่ายชิ้นงานทั้งหมดจะมอบให้แก่มูลนิธิเพื่อสถาบันราชานุกูลฯในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

“พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์” ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูลฯ กล่าวว่า หน้าที่หลักของมูลนิธิเพื่อสถาบันราชานุกูลฯ คือการเป็นตัวแทนพิทักษ์สิทธิ์ และช่วยเหลือผู้บกพร่องทางด้านสติปัญญาให้สามารถดูแลช่วยเหลือตัวเอง และใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้

“ทั้งนี้ รายได้จากการจำหน่ายสินค้าจากโครงการเปลี่ยนขยะเป็นอนาคต ทางมูลนิธิจะนำเงินจากรายได้มาดำเนินการใน 2 ส่วนคือ การผลิตเก้าอี้บำบัด สำหรับให้ผู้พิการทางสติปัญญาที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ใช้นั่งเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ และเงินอีกส่วนจะนำไปเพื่อใช้ในโครงการศิลปะบำบัด เพื่อช่วยเสริมทักษะทางด้านศิลปะ ฝึกสมาธิ และกระตุ้นพัฒนาการทางด้านสมองให้แก่เด็ก ๆ ต่อไป”

“เด็ก ๆ ที่ทางมูลนิธิดูแลอยู่ โดยนัยคือผู้พิการ แต่สิ่งที่อยากให้สังคมเข้าใจว่าพวกเขาไม่ใช่ผู้ไร้ความสามารถ เพียงแต่ต้องการโอกาส หลาย ๆ คนสามารถเข้าไปทำงานในบริษัทชั้นนำได้ แต่ต้องเปลี่ยนมุมมองจากภาระ เป็นพลังของสังคม เพราะการได้รับโอกาส ผู้พิการจะเกิดความมั่นใจ ขจัดข้อจำกัดของตนเอง กระทั่งกลายเป็นพลังของสังคมต่อไป”