‘RATCH’ ผนึก ‘ป่าไม้’ สานต่อ ‘คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน’

แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ป่ายังคงเป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหารที่มนุษย์จำต้องพึ่งพิง โครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” โดย บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกรมป่าไม้ ซึ่งดำเนินการมาเป็นปีที่ 10 สำหรับปีนี้มีการจัดกิจกรรมสัมมนาเติมความรู้ และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเครือข่ายผู้นำป่าชุมชนในภาคอีสาน

“บุญทิวา ด่านศมสถิต” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ร่วมกับกรมป่าไม้ ดำเนินงานโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน โดยในปีนี้เป็นการขยายความร่วมมือสู่ระยะที่ 2 (2556-2560) หลังจากเริ่มดำเนินการระยะแรกตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งไม่เพียงเป็นการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ยังเป็นการให้ความสำคัญกับชุมชนในการมีส่วนร่วม และสร้างความมั่นคงยั่งยืนในการใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างป่า และชุมชนทั่วประเทศ โดยแต่ละปีจะมีการสัมมนาเครือข่ายผู้นำป่าชุมชนกล้ายิ้ม ปีละ 2 รุ่น

“เราเน้นซีเอสอาร์ด้านป่าไม้เป็นหลัก เนื่องจากปัญหาป่านำมาซึ่งภัยพิบัติมากมาย รวมทั้งป่ายังเป็นพื้นที่เอื้อประโยชน์ทั้งเป็นแหล่งทำมาหากิน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แนวคิดป่าชุมชนจึงเกิดขึ้น” “โมเดลการส่งเสริมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน นอกจากจะมีการประกวดป่าชุมชน ยังมีกิจกรรมค่ายเยาวชนกล้ายิ้ม เพื่อสร้างบุคลากรเพื่อรับไม้ต่อในการดูแลป่าต่อไป ผลจากการดำเนินการจากในปีแรก ๆ ของโครงการ เรามีป่าชุมชนอยู่ทั่วประเทศจำนวน 3,000 แห่ง และในปีนี้ จากที่มีการดำเนินการมา 10 ปี มีป่าชุมชนมากกว่า 10,000 แห่ง และในระยะ 3 ซึ่งกำลังจะทำความร่วมมือกับกรมป่าไม้ เราตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มป่าชุมชนเป็น 20,000 แห่ง ภายในปี 2564”

ขณะเดียวกัน โครงการเพื่อสังคมในด้านอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละพื้นที่ เช่น โครงการส่งเสริมด้านการศึกษาใน สปป.ลาว ซึ่งเป็นประเทศที่ทาง บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งเข้าไปลงทุน โดยเริ่มดำเนินการร่วมพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนอาชีวะ ด้วยการนำคณะผู้บริหารมาดูงาน และอบรม ให้ทุนการศึกษาทั้งครู และนักศึกษาเพื่อนำไปพัฒนาหลักสูตร โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 และกำลังจะดำเนินการในระยะที่ 2 ในปีนี้

ส่วนโครงการ “ภุมรีพลังสตรี พลังรักสิ่งแวดล้อม” ที่ จ.น่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการวางแนวท่อก๊าซพาดผ่าน มีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการ จนพบว่าที่นี่มีความต้องการเกี่ยวกับการศึกษา และการท่องเที่ยว โดยให้บทบาทสตรีในการทำงานเพื่อสังคม พัฒนาชุมชนที่ตนเองอยู่มากขึ้น

“วุฒิชัย พิรุณสุนทร” นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 กล่าวในงานสัมมนาเครือข่ายผู้นำป่าชุมชนกล้ายิ้ม รุ่นที่ 17 ที่ จ.ขอนแก่นว่า ภาคอีสานมีป่าชุมชนมากที่สุดในประเทศไทย โดยประเทศไทยมีป่าชุมชนทั้งสิ้น ประมาณ 10,000 แห่ง แต่อยู่ในภาคอีสาน 4,700 แห่ง หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนป่าชุมชนในประเทศไทยทั้งหมด

“โดยมีเนื้อที่ 1.3 ล้านไร่ ทั้งยังมีป่าไม้ทุกมิติ ทั้งป่าพื้นราบ ป่าภูเขา ป่าใกล้แม่น้ำ หรือป่าทาม แต่ข้อเสียเปรียบของป่าในพื้นที่ภาคอีสาน คือ เป็นพื้นที่ราบ ง่ายต่อการเข้าถึง และการบุกรุกของผู้ที่เข้าแสวงหาประโยชน์จากป่า รวมทั้งชาวบ้านที่เข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าเช่นกัน เพราะสังคมของภาคอีสาน มีลักษณะเป็นชุมชนใหญ่ มีความสัมพันธ์ภายในชุมชนที่เข้มแข็ง บวกกับทุกหมู่บ้านมีป่าเพื่อใช้ประโยชน์ มีป่าชุมชนอยู่ใกล้หมู่บ้าน”

“ดังนั้น การนำจุดแข็งทั้ง 2 ด้านมาเป็นแนวทางการอนุรักษ์ป่า ผ่านการจดทะเบียนป่าชุมชน มีการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งผ่านงานสัมมนา ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และกรมป่าไม้ ที่รวบรวมผู้นำป่าชุมชนในพื้นที่ภูมิภาคเดียวกัน ภูมิประเทศ วัฒนธรรมเดียวกัน มาเพิ่มองค์ความรู้ โดยเฉพาะการนำศาสตร์พระราชากับการอนุรักษ์ป่ามาใช้ อาทิ การปลูกป่าแบบไม่ต้องปลูก คือปล่อยให้ป่าได้เติบโต ไม่ไปรบกวนป่า ดูแลป้องกันเรื่องไฟป่า เพื่อให้ป่าได้ฟื้นฟูตนเอง การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กิน ไม้เศรษฐกิจ และไม้อนุรักษ์ต้นน้ำ และการปลูกป่าในใจคน จะเป็นแนวทางการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนทั้งป่า และชุมชนต่อไปในอนาคต”

อันเป็นเป้าประสงค์ของกิจกรรมคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ที่น่าสนใจทีเดียว

 

“ป่าชุมชน” ในมุมคนอีสาน

 

“กำนันสุนทร อำนาจ” ประธานป่าชุมชนเขาวง อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ เล่าให้ฟังว่า ป่าชุมชนเขาวง จดทะเบียนเป็นป่าชุมชนตั้งแต่ปี 2540 ตอนนั้นชาวบ้านมองเห็นปัญหาการรุกพื้นที่ป่าจากกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ จึงเกิดการรวมกลุ่มทำกิจกรรม “ยกคนออกจากป่า”

สุนทร อำนาจ, ทองดง แก้วศรีนวล

โดยขอความร่วมมือ และจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมให้แก่กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ที่เข้าไปใช้พื้นที่ป่า

“พื้นที่ป่าชุมชนเขาวง จุดเด่นคือเป็นป่าที่เป็นแนวกันชนของอุทยานไทรทอง และเป็นป่าที่ถูกหมู่บ้านล้อมไว้ ซึ่งถือว่าเป็นดาบสองคม คือ หากชุมชนดูแลป่าดี จะมีซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน แต่กลับกัน หากชุมชนเป็นผู้ทำลายป่า กรมป่าไม้ หรือหน่วยงานภายนอก ก็ยากที่จะเข้ามาจัดการ”

“แนวทางการจัดการป่าของที่นี่ จึงเริ่มด้วยการจดทะเบียนเป็นป่าชุมชน แบ่งโซนการดูแลตามหมู่บ้าน และมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลขึ้น โดยคณะกรรมการมีการแบ่งออกเป็น 3 ขั้น คือ หนึ่ง คณะกรรมการอาวุโส จะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับป่า คณะกรรมการขั้นที่สอง คือ คณะทำงานของผู้ดำเนินงานกิจกรรม และบริหารจัดการป่า และขั้นที่สาม คือ คณะกรรมการเงา ซึ่งจะเป็นเด็ก ๆ เยาวชนในพื้นที่ ที่จะดึงมาทำกิจกรรมเกี่ยวกับการดูแล อนุรักษ์ การบริหารจัดการป่า และเป็นผู้สืบทอดต่อไป โดยหวังว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะขยายผลด้านการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากป่าในแนวทางที่ถูกต้องต่อไป”

“ผู้ใหญ่ทองแดง แก้วศรีนวล” ผู้นำป่าชุมชนภูผาผึ้ง ต.นาอุดม อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร ซึ่งจดทะเบียนเป็นป่าชุมชนเมื่อปี 2546 มีพื้นที่รอยต่อติดกับอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว พื้นที่แห่งนี้เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และเป็นพื้นที่ที่มีไม้พะยูงอายุกว่า 100 ปี อยู่กว่า 10 ต้น แนวทางในการจัดการป่าชุมชนของที่นี่ จึงเป็นปลูกป่าแบบไม่ปลูก คือ เน้นการอนุรักษ์ ป้องกันคน และป้องกันไฟ

“โดยดึงเยาวชนเข้ามาเป็นแนวร่วม อาทิ กิจกรรมปลูกเสี่ยวต้นไม้ โดยทุกปีจะให้นักเรียนร่วมปลูกต้นไม้คนละต้น มีชื่อติดไว้ ดูแลต้นไม้เสมือนเพื่อนดูแลเพื่อน ไม้ที่ปลูกก็จะเป็นไม้ที่เหมาะสมกับภูมิประเทศ ซึ่งเป็นป่าเต็งรัง เช่น ไม้แดง ไม้มะค่า ไม้พะยูง เป็นต้น”