มองจากมุม CSR Asia “ทุกบริษัทควรเชื่อมโยง SDGs”

เพราะ CSR Asia Summit เป็นการประชุมประจำปีของผู้นำทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในเอเชีย ที่ริเริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2007ซึ่งได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ ผู้นำทางความคิดด้านความยั่งยืนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่ทันสมัย

สำหรับปีนี้มีการจัดประชุม CSR Asia Summit 2017 ในประเทศไทย โดยมีตัวแทนจากทั้งองค์กรธุรกิจ สมาชิกภาคประชาสังคม รวมทั้งสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จาก 30 ประเทศ กว่า 500 คน เข้าร่วมงาน เพื่อร่วมกันหารือเกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่าง ๆ ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการสร้าง และใช้กลยุทธ์ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน, การวัดผลการลงทุนของชุมชน, การสร้างค่านิยมร่วมกัน และการรายงานความยั่งยืน พร้อมเชื่อมโยงกลยุทธ์กับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs)

ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าว “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.ริชาร์ด เวลฟอร์ด” ประธานและผู้ก่อตั้ง CSR Asia ถึงพัฒนาการ และแนวโน้มรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร รวมถึงความยั่งยืนของเอเชียในอีก 10 ปีข้างหน้า

เบื้องต้น “ดร.ริชาร์ด เวลฟอร์ด” กล่าวว่า หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีผ่านมาจะเห็นว่าการดำเนินการด้านซีเอสอาร์ของภาคธุรกิจต่าง ๆ มุ่งเน้น และให้ความสำคัญกับงานด้านการกุศลที่เป็นการบริจาค (Philanthropy) ให้กับหน่วยงานองค์กร มูลนิธิ ที่เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์

แต่ปัจจุบันกระแสการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาการเรื่องต่าง ๆ ทำให้บริษัท องค์กรธุรกิจ เริ่มตระหนักว่าซีเอสอาร์ และความยั่งยืนเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และมีความสำคัญต่อธุรกิจ ซึ่งการจะสร้างผลกำไรในระยะยาวมักเชื่อมโยงกับความยั่งยืน โดยบางบริษัทพัฒนาก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการนำกิจกรรมเชิงพาณิชย์ หรือการตลาดมาสนับสนุนความยั่งยืน

ซึ่งเป็นทั้งการสร้างผลกำไร และสร้างความยั่งยืนไปพร้อมกัน อย่างเช่นการที่บริษัท Visa นำกำไรที่ได้จากการดำเนินธุรกิจไปมอบเงินแก่คนยากจน แต่ถ้าบริษัทไม่สามารถมีกำไร หรือกำไรน้อยลง บริษัทเหล่านั้นอาจไม่ช่วยเหลือสังคมได้ ฉะนั้น สิ่งที่บางบริษัทสามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจผ่านเจตจำนงความรับผิดชอบต่อสังคม จึงถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญ

“หากมองต่อไปในอีก 10 ปีข้างหน้า แนวโน้มสำคัญที่จะเห็นต่อไปคือการที่บริษัทต่าง ๆ ในเอเชียนำเรื่องความยั่งยืนเข้ามาใช้ในกลุยทธ์องค์กรอย่างเข้มข้น โดยเห็นได้จากการที่บริษัทไทยและในเอเชียเริ่มนำแนวคิดเรื่องความยั่งยืนไปใช้ในการวางกลยุทธ์ อย่างเช่น บริษัท ซีดีแอล (City Development Limited) หรือเทสโก้ โลตัส ประเทศไทย ที่เริ่มตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอย่างจริงจัง”

“โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสภาวะโลกร้อน ซึ่งมีผลกระทบกับโลกอย่างกว้างขวางในช่วง 10 ปีผ่านมา รวมถึงปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงเชิงประชากรศาสตร์ (demographic change) ซึ่งทั่วโลกมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นกว่า 40% โดยเฉพาะประเทศที่ยากจน ส่งผลกระทบต่อปัญหาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ การพัฒนาประเทศ สุขภาพ การศึกษา ดังนั้น เรื่องเหล่านี้ภาคธุรกิจสามารถเข้าไปมีส่วนร่วม และช่วยแก้ไขปัญหาได้”

“ดร.ริชาร์ด เวลฟอร์ด” กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกัน เมื่อมีการประกาศใช้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งจะเป็นแนวทางการพัฒนาของโลก ระหว่างปี 2016-2030 จึงทำให้บริษัทต่าง ๆ ให้ความสำคัญและสนใจในประเด็นเหล่านี้มากขึ้น

“ผมคาดหวังว่าสิ่งที่บริษัทต่าง ๆ ดำเนินการต่อไปคือ การพิจารณาว่า SDGs ข้อใดที่บริษัทตนเองสนใจ และสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไข โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปแก้ไขในทุกประเด็นปัญหา แต่ควรพิจารณาเลือกเพียง 1 หรือ 2 หรือ 3 ประเด็นปัญหาเท่านั้น แต่จะต้องสอดคล้องกับธุรกิจ หรืออุตสาหกรรม สถานที่ตั้ง และปัญหาที่ภาคธุรกิจเผชิญอยู่ และต้องมองว่าเราจะสามารถร่วมแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างไร ด้วยทรัพยากรและความเชี่ยวชาญที่ตนเองมี”

“ผมไม่เห็นด้วยที่บริษัทต้องลงไปแก้ไขปัญหาทุกอย่าง แต่ต้องพยายามหาจุดยืนที่ชัดเจนในการเลือกแก้ไขปัญหาที่องค์กรสามารถทำได้ อย่างเช่นในประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมในภาคการผลิตมากมายทั้งในอุตสาหกรรมเคมี ยานยนต์ การผลิต ดังนั้น มาตรฐานของแรงงาน ปัญหาด้านแรงงาน

คือประเด็นที่ธุรกิจต้องมีความกังวล รวมถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารทะเล ที่เผชิญกับคดีด้านการใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรม การค้ามนุษย์ ดังนั้น บริษัทควรมองที่ธุรกิจของตนเองในการเริ่มต้นที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาสังคม”

“สำหรับในประเทศไทย ผมมองว่าเรื่องความยากจนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราพบปัญหานี้อย่างกว้างขวาง อีกทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับสภาวะโลกร้อน โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นปัญหาอุทกภัยอย่างต่อเนื่องในทุกภาคของประเทศ”

“ดร.ริชาร์ด เวลฟอร์ด” กล่าวอีกว่า หากมองเรื่องซีเอสอาร์ และความยั่งยืนในระดับโลก ประเด็นที่บริษัทใหญ่ ๆ ให้ความสำคัญคือ การจัดการกับปัญหาที่ตนเองเผชิญ อย่างเช่น โคคา-โคลา ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับน้ำในทุกมิติ เพราะหากไม่มีน้ำ ก็ไม่มีโคคา-โคลา ทำให้บริษัทดำเนินโครงการอนุรักษ์น้ำ ซึ่งในประเทศไทยเอง บริษัททำโครงการบริหารจัดการน้ำ การปรับปรุงคุณภาพน้ำ การแก้ไขปัญหาสารปนเปื้อนในน้ำ

“หรืออย่างเนสท์เล่ ซึ่งทำงานด้านสุขภาพ และคุณค่าทางโภชนาการมากมาย เนื่องจากเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหาร หรือยูนิลีเวอร์ ที่มีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรมากมาย เช่น น้ำมันปาล์ม ผัก ผลไม้ ซึ่งบริษัทเรียนรู้ว่าเขาทำงานกับเกษตรที่ยากจน และหากสามารถช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิตได้ จะเป็นผลดีต่อบริษัท และห่วงโซ่อุปทานก็จะแข็งแกร่ง และยืดหยุ่น”

เช่นเดียวกับหัวเว่ยที่กล่าวในการประชุมครั้งนี้ว่า บริษัทสามารถช่วยปรับปรุง และพัฒนาคุณภาพของการศึกษาได้อย่างไร เพราะการใช้เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตสามารถเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงความรู้ และการศึกษาในชนบท ทั้งยังสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้วยการมอบทรัพยากรทางการเรียนการสอนให้แก่ครู หรือการบริหารจัดการ และวางแผนหลักสูตรการเรียนการสอนให้แก่โรงเรียนเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม บริษัทเล็ก ๆ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ โดยทำในสเกลที่เล็กลง

ถึงตรงนี้ “ดร.ริชาร์ด เวลฟอร์ด” บอกว่า ในความเห็นส่วนตัวจะใช้คำว่า sustainable development, sustainability หรือ corporate social responsibility ได้ทั้งหมด เพราะนิยามแต่ละคำไม่ได้แตกต่างกัน สามารถใช้แทนกันได้ เพราะทุกความหมายสามารถเชื่อมโยงไปถึงการที่บริษัทสามารถตอบรับกับปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ได้ทั้งสิ้น จนทำให้เกิดเป็นความยั่งยืน

“ฉะนั้น อีก 10 ปีข้างหน้า ผมหวังว่าบริษัทต่าง ๆ จะให้ความสำคัญต่อการพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นในเอเชีย ทั้งปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของภูมิภาค เนื่องจากความยากจนจะเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาสุขภาพ ดังนั้น ประเด็นที่เกี่ยวข้องการพัฒนาคุณภาพทางด้านสุขภาพของประชากรจึงเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งเรื่องการศึกษาถือเป็น

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสนใจ เพราะระบบการศึกษามีความแตกต่างและเหลื่อมล้ำสูงมาก รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ทั้งน้ำ ขยะ มลพิษ”

“ผมจึงอยากให้ทุกบริษัทร่วมกันพิจารณาถึงปัญหาต่าง ๆ ที่มีผลกระทบในภูมิภาคควบคู่กันไปด้วย”