อาร์ยูแอสเซท หนุนจุฬาฯ ผลิตหน้ากากกรองเชื้อโรค 99.99% ส่งให้แพทย์

โครงสร้างของหน้ากาก CURE Air Sure ภาพ chula.ac.th

อาร์ยูแอสเซท หนุนจุฬาฯ ผลิตหน้ากากกรองเชื้อโรค 99.99% ส่งให้แพทย์ใช้ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลต่าง ๆ

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพในประเทศไทย โดยเฉพาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นผู้เสียสละ ทุ่มเทเวลา และแรงกาย รักษาผู้ป่วยที่มีเพิ่มขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่อง ในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ ทุกคนต่างต้องการส่งกำลังใจให้ทีมบุคลากรทางการแพทย์ และบางคนร่วมสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ตามความสามารถ เพื่อช่วยป้องกันโรคระบาด เช่น หน้ากากอนามัย

ด้วยเหตุนี้ โครงการเทคโนโลยีการกรองประสิทธิภาพสูงเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศไทย นำโดย “ศ.ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์” ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้คิดค้นหน้ากาก CURE Air Sure ขึ้น โดยได้รับความร่วมมือในการพัฒนาจากอาจารย์ นักวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ, สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ และแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และหน่วยงานภายนอก

ภาพ chula.ac.th

ล่าสุด “ธีระชัย รัตนกมลพร” ประธาน บริษัท อาร์ยูแอสเซท ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด ร่วมสนับสนุนการผลิดหน้ากาก CURE Air Sure เพื่อบริจาคบุคคลากรทางการแพทย์สู้ภัยโควิด 1,000 ชุด มูลค่า 4 แสนบาท ซึ่งหน้ากากจะถูกส่งมอบให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ใช้ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้แก่ โรงพยาบาลสวนเบญจกิติเฉลิมพระเกียรติ สำนักแพทย์และอนามัย การท่าเรือแห่งประเทศไทย กองทันตแพทย์ กรมการแพทย์ทหารบก สถาบันราชนุกูล กรมสุขภาพจิต ทันตแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และโรงพยาบาลใน จ.ชลบุรี อีก 2 แห่ง

“ศ.ดร.อนงค์นาฏ” เผยเหตุจูงใจที่ริเริ่มโครงการวิจัยและผลิตหน้ากากกรองอากาศ CURE Air Sure ว่า ต้องการความมั่นคงทางสุขภาพของคนไทย โดยหน้ากากได้รับการออกแบบและพัฒนาโดยเน้นคุณสมบัติสำคัญ 3 ประการ

1) กรองอนุภาคขนาดเล็กได้มากกว่า 95% เทียบเท่าหน้ากาก N95 2) ลดปัญหาการจัดการขยะพิษ โดย CURE Air Sure พัฒนาเป็นรูปแบบให้ใช้แผ่นกรองแบบเปลี่ยนได้ เนื้อวัสดุน้ำหนักเบาเพียง 15% ของหน้ากากอนามัยทั่วไป เป็นขยะชิ้นเล็กกว่าหน้ากาก N95 ช่วยลดปริมาณขยะติดเชื้อที่กำจัดยากได้มาก 3) สวมใส่สบาย กระชับใบหน้า เพราะทำจากพลาสติกใส ฉีดขึ้นรูป แข็งแรง ป้องกันรอยขีดข่วน และทนต่อสารเคมี ขอบซิลิโคนรอบหน้ากากมีความยืดหยุ่นแนบกระชับกับใบหน้า ช่วยลดการระคายเคือง และยังช่วยลดการรั่วไหลของอากาศภายนอกสู่ภายในหน้ากาก ช่วงหน้ากากที่กว้างขึ้นช่วยกักเก็บอากาศ ทำให้หายใจสะดวก ลดการอับชื้น สายรัดศีรษะก็ปรับความยาวได้

 

“ตอนนี้อยู่ในช่วงพิจารณาช่องทางการจัดจำหน่าย CURE Air Sure 1 ชุด ประกอบด้วยโครงหน้ากากและฟิลเตอร์จำนวน 4 ชิ้น (ใช้ได้ 1 เดือน) ราคา 400 บาท ชุดฟิลเตอร์เพียงอย่างเดียว จำนวน 4 ชิ้น ราคา 100 บาท ซึ่งหากใช้หน้ากากทุกวัน จะมีค่าใช้จ่ายไม่ถึง 5 บาทต่อวัน”

“ธีระชัย” กล่าวว่า อาร์ยูแอสเซท ดีเวลล็อปเมนท์ ทำธุรกิจทางด้านนวัตกรรม ดังนั้นหากมีงานวิจัยหรือผลิตภัณฑ์ที่เน้นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับสังคมก็พร้อมจะให้การสนับสนุนเต็ม ซึ่งหน้ากาก CURE Air Sure เป็นผลงานการวิจัยสหศาสตร์ โดยนักวิชาการและบุคลากรจาก 3 หน่วยงานหลักภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ และคณะแพทย์ศาสตร์ และผ่านการทดลองโดยแล็บทดสอบ 4 แห่งในประเทศไทยและต่างประเทศ พบว่าได้ประสิทธิภาพดังนี้

  1. 99 PFE (Particle Filtration Efficiency ค่าประสิทธิภาพการกรองอนุภาค) เป็นค่าที่บ่งบอกถึงความสามารถของหน้ากากอนามัยในการกรองอนุภาคที่มีขนาดเล็กมาก ซึ่งมีอนุภาค (particle size) ขนาด 0.1 ไมครอน ดังนั้น จึงสามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ได้ด้วย
  2. 99.99 BFE (Bacterial Filtration Efficiency ค่าที่บ่งบอกถึงความสามารถของหน้ากากอนามัยในการกรองอนุภาคของแบคทีเรียและเชื้อจุลินทรีย์อื่น ๆ)
  3. Fittest Score 192 ซึ่งป้องกันได้มากกว่าหน้ากาก N95

“เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงมากขึ้น บุคคลากรทางการแพทย์ต้องประสบปัญหาการทำงานที่มีความเสี่ยงสูง ประกอบกับอุปกรณ์ในการป้องกันตัวเองไม่เพียงพอ ตนจึงให้การสนับสนุนผลิตหน้ากาก CURE Air Sure เพื่อมอบให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และผมอยากจะเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมกันสนับสนุนโครงการนี้ เพื่อผลิตหน้ากาก CURE Air Sure มอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ สามารถติดต่อได้ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หรือที่สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาฯ”

นักวิจัยจุฬาฯ ทดสอบการทำงานของหน้ากาก ภาพ chula.ac.th