บริบทผู้หญิงของ “ซิตี้” ทุกคนต่างมีแสงสว่างในตัวเอง

วีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล
วีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย

ปัจจุบันผู้หญิงจำนวนไม่น้อยมีบทบาทระดับแนวหน้าของแวดวงธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น โดยกว่า 33% (ข้อมูลจากผลสำรวจของบริษัท แกรนท์ ธอนตัน อินเตอร์เนชันแนล) เป็นผู้นำด้านบริหารองค์กรระดับกรรมการบริษัท ผู้บริหารระดับสูง-ระดับกลาง ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

บทบาทผู้บริหารหญิงนับว่ามีความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย เพราะหลายคนมีหน้าที่มากกว่าการทำงานนอกบ้าน เช่น แม่บ้าน คุณแม่ และดูแลงานบ้าน ดังนั้น จึงต้องพยายามสร้างสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัว และชีวิตการทำงาน (work life balance) ให้ได้

“วีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย หนึ่งในผู้นำองค์กรแถวหน้าของไทย แบ่งปันมุมมองที่น่าสนใจเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จของผู้หญิงว่า ดิฉันเองมีประสบการณ์ทำงานกับธนาคารซิตี้แบงก์มายาวนานตั้งแต่ปี 2537 จากจุดเริ่มต้นด้วยการฝึกงานกับธนาคารในโครงการ summer intern ซึ่งมีคนจำนวนมากในองค์กรตอนนี้ที่ผ่านโครงการนั้นมาก่อนเหมือนกัน

“ซิตี้เป็นองค์กรที่ไม่หยุดนิ่งและให้โอกาสพนักงานโยกย้ายงานเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่เสมอ ดังนั้น ช่วงเริ่มต้นการทำงานที่นี่ดิฉันได้รับมอบหมายให้ไปทำงานบริหาร clearing product ระดับภูมิภาคเอเชียที่ประเทศฮ่องกง และได้ดูแลธุรกิจส่วนรับฝากหลักทรัพย์ของ 2 ประเทศ คือ ฮ่องกง และจีน ทั้งยังได้ทำงานในส่วนงานต่าง ๆ ก่อนจะย้ายมาดำรงตำแหน่งในการบริหารส่วนงานบุคคลธนกิจทั้งหมด ซึ่งรวมถึงธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และผลิตภัณฑ์ด้านเงินฝากและการลงทุนของประเทศไทย”

“ซิตี้ให้โอกาสพนักงานทำงานที่ต้องการเสมอ ขณะเดียวกัน พนักงานเองก็ต้องใจกล้าและมั่นใจพยายามผลักดันตนเองให้ทำในสิ่งใหม่ ๆ ที่ท้าทายความสามารถยิ่งขึ้น เทคนิคที่อยากแนะนำ คือ เริ่มต้นจากการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และมุ่งมั่นลงมือทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ที่สำคัญคือการมีใจรักในสิ่งที่ทำ เพื่อจะได้ทุ่มเทและทำสิ่งนั้นได้อย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับการลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางบวกให้เกิดขึ้นกับองค์กร”

“นอกจากนั้น ซิตี้ กรุ๊ปทั่วโลกรวมถึงซิตี้ ประเทศไทย ยังเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เติบโตในสายอาชีพทัดเทียมกับผู้ชาย และซิตี้เป็นธนาคารแห่งแรกในการทบทวนและพิจารณาปรับฐานเงินเดือนของพนักงานผู้หญิงหรือคนกลุ่มย่อย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสำหรับกลุ่มพนักงานระดับเดียวกันมาตั้งแต่ปี 2562 ในทุกประเทศทั่วโลก”

“วีระอนงค์” เล่าต่อว่า ในฐานะที่เป็นผู้บริหารหญิงและเป็นคุณแม่ ทำให้มีหน้าที่มากมาย ทั้งการทำงานนอกบ้านและในบ้าน ดังนั้น ผู้หญิงต้องมีการบริหารจัดการเวลาอย่างเป็นระบบชัดเจน โดยตนเองจะมีการแบ่งเวลาออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกควรใช้ไปกับการพัฒนาพนักงาน ส่วนที่สองการเรียนรู้จากเพื่อนร่วมงาน และส่วนสุดท้าย การเรียนรู้จากหัวหน้า ผู้บริหารระดับสูง หรือบุคคลที่ประสบความสำเร็จอื่น ๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจที่ดีในการพัฒนาตนเอง

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยิ่งทำให้ทุกคนตระหนักดีว่าความสามารถในการรับมือและจัดการกับความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการทำงาน ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้คือ การให้ความสำคัญกับ
ทีมงานและพนักงานในองค์กร รวมถึงการพัฒนาบุคลากร และสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ”

“ตอนนี้ซิตี้แบงก์ ประเทศไทยจัดให้มีการทำงานที่บ้านกว่า 90% โดยมีบางตำแหน่งเท่านั้นที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสำนักงาน เราเชื่อว่าผลลัพธ์ของการทำงานที่ดีเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะทำงานอยู่ที่ไหนก็ตาม แต่จะต้องมีบุคลากรคุณภาพ ทั้งด้านการทำงาน, สภาวะร่างกาย และจิตใจ ในฐานะผู้บริหารก็ต้องติดต่อกับทีมเป็นประจำเพื่อแบ่งปันข้อมูลที่จำเป็น และรับการรายงานจากทีมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด”

“วีระอนงค์” กล่าวด้วยว่า ตอนนี้บริษัทมีพนักงานกว่า 2,500 คน ซิตี้แบงก์มักมองหาคนที่อยากเรียนรู้ตลอดเวลาไม่กลัวที่จะหาประสบการณ์ใหม่ ๆ สามารถปรับเปลี่ยนตัวเอง ปรับวิธีการทำงาน และเป็นคนที่ใจกล้า โดยซิตี้มีปรัชญาด้านคนหลัก ๆ 3 ข้อ ดังนี้

หนึ่ง มุ่งมั่นเพื่อความเป็นเลิศของลูกค้า และทำให้ลูกค้าประทับใจ

สอง ให้คุณค่าความแตกต่างและการมีส่วนร่วม (diversity & inclusion)ของพนักงานในองค์กร เพื่อมุมมองที่แตกต่าง

สาม ท้าทายซึ่งกันและกัน (productive challenge) เพื่อให้เกิดมาตรฐานที่สูงขึ้นกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำ

“เราให้คุณค่าความแตกต่างและการมีส่วนร่วมโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ เพศ และเอกลักษณ์เฉพาะตน เพราะเราเชื่อว่าการสร้างความแตกต่างจะช่วยส่งเสริมให้องค์กรสามารถเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ถึงแม้ในอดีตอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารจะมีจำนวนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะประชากรผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และการเรียนบัญชี สถิติ การตลาด มักจะมีผู้หญิงเรียนมากกว่าด้วย แต่ในปัจจุบันเริ่มมีผู้ชายในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารมากขึ้น”

“นอกจากนั้น เราได้เพิ่มจำนวนวันลาคลอดให้กับมารดารวมถึงบิดาเพื่อเลี้ยงดูบุตร รวมไปถึงการกำหนดเป้าหมายเพื่อให้มีสัดส่วนของการจ้างพนักงานใหม่ หรือการดำรงตำแหน่งผู้บริหารหญิงที่เพิ่มขึ้นในแต่ละประเทศประกอบกับการจัดการฝึกอบรม รวมถึงการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานทุกคนเคารพความเป็นเอกลักษณ์ส่วนบุคคล อันนำมาซึ่งการยอมรับในความแตกต่างในองค์กร”