เรียนรู้เพื่อแตกต่าง วิถี “PIM” การศึกษาเพื่ออนาคต

PIM

ไม่นานที่ผ่านมา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) จัดสัมมนาออนไลน์ Work-based Education How to Practice #2 (WBE) สร้างความเข้มแข็งมหาวิทยาลัยด้วยแนวทางการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยมีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจาก PIM มาร่วมแชร์แนวทางการเรียนการสอนที่ยึดหลักการเรียนในห้องควบคู่กับการฝึกปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ พร้อมความสำคัญในการสร้างเครือข่ายอันเป็นแนวทางผลิตแรงงานคุณภาพสู่ภาคธุรกิจในอนาคต

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาดังกล่าว พร้อมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และผู้สนใจกว่า 100 ชีวิต

ติดอาวุธรู้เท่าทันโลก

โดยมี “รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์” อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวเปิดงานว่า การสร้างคนหรือแรงงานที่มีคุณภาพนั้นต้องเริ่มต้นจากมหาวิทยาลัย ด้วยการติดอาวุธ 3 ด้านแก่นักศึกษาของตนเอง ได้แก่ อาวุธทางปัญญา เพื่อให้มีความรู้ความสามารถต้องบริหารจัดการได้ไม่ว่าจะมีปัญหาใด ๆ ก็ตาม, อาวุธทางทักษะฝีมือเพื่อปฏิบัติให้เป็นในวิชาชีพตัวเอง และอาวุธทางจริยธรรม ต้องรู้จักความถูกต้องมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ โดยเฉพาะเรื่องธรรมาภิบาล

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์
รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

ดังนั้น เมื่อมีอาวุธดังที่กล่าวมาแล้ว มหาวิทยาลัยและนักศึกษาจะต้องรู้เท่าทันอย่างน้อยอีก 5 เรื่องประกอบด้วย

หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ตอนนี้ 5G มีความเกี่ยวข้องกับทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมี 6G และอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีควอนตัมเทคโนโลยี ซึ่งจะเหนือขึ้นไปอีกจะต้องเตรียมตัวอย่างไร

สอง การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก เพราะปัจจุบันโลกบอบช้ำเสียหายจากการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ฉะนั้น ภาคแรงงานทุกคนต้องรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน ดูว่ามีผลกระทบด้านบวกลบอย่างไร เพื่อนำมาบริหารจัดการหน้าที่การงานของตนเอง

สาม การเปลี่ยนแปลงทางด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องของเฮลท์แคร์ เพราะทุกวันนี้สิ่งที่เป็นปัจจัยคุกคามมนุษยชาติมากที่สุดตัวหนึ่ง คือ โรคระบาด โดยเฉพาะโควิดที่กำลังหนักหน่วงอยู่ทั่วโลก ขณะนี้ WHO ประกาศออกมาว่ากลายพันธุ์ไปแล้วอย่างน้อย 50 สายพันธุ์

สี่ การเปลี่ยนแปลงของภาคการเงินซึ่งเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ตอนนี้ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกมีการซื้อขายล่วงหน้ามุ่งหวังเก็งกำไร ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องมองไปถึงการจะสร้างคนที่อ่านออกเขียนได้ทางด้านการเงินอย่างไร

ห้า ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์หรือความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจโลก ยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกาและจีนนำไปสู่สงครามการค้า การเงิน สงครามเทคโนโลยี ซึ่งกระทบต่อเราไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ยิ่งไทยเป็นสังคมเศรษฐกิจเปิดกว้างทุกด้านรองรับการลงทุนจากต่างประเทศมากมายเมื่อเกิดความขัดแย้งของบรรดามหาอำนาจโลกจะทำให้เราติดร่างแหไปด้วย

“ที่กล่าวมาทั้งหมด เราต้องรับมือการเปลี่ยนแปลงให้ได้ ส่วนมหาวิทยาลัยต้องปรับหลักสูตร จะผลิตคนอย่างไรให้สมาร์ท”

เช่น เรียนด้านเกษตร ก็ต้องเน้นเรื่อง product innovation หรือนวัตกรรมว่าด้วยการผลิตเข้าไปในหลักสูตรด้วยว่าจะผลิตสินค้ายังไงให้ลดต้นทุนแต่มีคุณภาพ แข่งกับคู่แข่งรายอื่นได้

“ทั้งยังต้องขยายตลาดได้ในสภาวะความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ หรือแนวโน้มประเทศไทยในอนาคตที่จะต้องเป็นสมาร์ทซิตี้ เพราะสังคมเมืองกระจายตัวออกสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น จากการมีรถไฟด่วนเชื่อม 3 สนามบินศูนย์กลางประเทศ มีรถไฟรางคู่ และรถไฟอื่น ๆ กระจายไปตามเมืองต่าง ๆ ส่งผลให้เจริญมากขึ้น มหาวิทยาลัยทุกแห่งจึงต้องคำนึงถึงการผลิตคนเพื่อรองรับเศรษฐกิจใหม่ ๆ ในอนาคต”

PIM ชูกลยุทธ์ WIL

“ดร.มัลลิกา บุญญาศรีรัตน์” ผู้อำนวยการสำนักอธิการบดีและบริหารความยั่งยืน สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวต่อว่า จากกระแสที่เกิดขึ้นตามที่ท่านอธิการบดีกล่าวนั้น เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วโลกปรับตัว ดิฉันมองเห็นแนวโน้มว่าหลายแห่งมีกลยุทธ์บูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (work integrated learning-WIL) ไปพร้อม ๆ กัน

ดร.มัลลิกา บุญญาศรีรัตน์
ดร.มัลลิกา บุญญาศรีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอธิการบดีและบริหารความยั่งยืน สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

“มีการมองหา stakeholder ทั้งภาคธุรกิจ ภาคชุมชน เพื่อออกแบบหลักสูตรร่วมกัน และให้นักศึกษาออกปฏิบัติงานกับองค์กรหรือชุมชนที่สอดคล้องกับวิชาที่ตนเองเรียนมากขึ้น เมื่อเรียนจบก็จะมีความเชี่ยวชาญพร้อมทำงาน เหตุเพราะว่าองค์กรหลายแห่งต้องการกำลังคน หรือกำลังแรงงานที่พร้อมทำงานได้ทันที”

“รูปแบบนี้มหาวิทยาลัยต่างประเทศได้นำมาใช้แล้วหลายแห่ง เช่น Canberra University มหาวิทยาลัยชั้นนำในออสเตรเลีย ที่คณะเทคโนโลยี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ซอฟต์แวร์ เขามีวิชาให้นักศึกษาไปทำงานในสถานประกอบการอย่างน้อย 12 สัปดาห์ หรือคณะบริหารธุรกิจมีชั่วโมงฝึกงานตั้งแต่ 75 ชั่วโมงถึง 100 กว่าชั่วโมง แล้วแต่นักศึกษาเลือก”

“ดร.มัลลิกา” กล่าวต่อว่า ตอนนี้ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยที่ปรับตัวมองหาเครือข่ายเข้ามาร่วมออกแบบหลักสูตร ขณะเดียวกัน องค์กรธุรกิจก็พยายามเสาะแสวงหาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย หรือพยายามเข้ามามีบทบาทต่อสถาบันการศึกษามากขึ้น จนกลายเป็นมหาวิทยาลัยแห่งองค์กรธุรกิจ (Corporate University) เพื่อผลิตกำลังคนที่ตรงตามความต้องการของธุรกิจตนเอง

“ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 แล้ว ยกตัวอย่าง ไนกี้ ได้ระดมทุนสนับสนุน University of Oregon ในสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งเข้าไปสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา จนสามารถสร้างสถาบันวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ด้านการกีฬา ทำให้มหาฯลัยนี้มีชื่อเสียงมาก ในปัจจุบันกลายเป็น Nike University โดยรูปแบบนี้ได้แผ่ขยายในมหาวิทยาลัยรัฐหลาย ๆ แห่งในอเมริกา”

“ดร.มัลลิกา” กล่าวเพิ่มเติมว่า เราเป็นมหาวิทยาลัยแห่งองค์กรธุรกิจที่ใช้ระบบ Work-Based Education (WBE) เน้นสอนทฤษฎีควบคู่กับภาคปฏิบัติ เรียนไปด้วย ออกสู่สนามปฏิบัติการจริงทุก ๆ ปี เพราะมีเครือข่ายองค์กรธุรกิจเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่พร้อมสนับสนุนข้อมูลองค์ความรู้ และยังมีเครือข่ายองค์กรอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 300 แห่ง

“ทั้งนี้ ทุกสาขาวิชาไม่ว่าจะด้านบริหารธุรกิจ วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี เกษตร อาหาร ศึกษาศาสตร์ ต่างชูปรัชญาวิชาการประสานภาคปฏิบัติให้เป็นทางเลือกใหม่ของนักศึกษา และเน้นผลิตบัณฑิตจบแล้วสามารถทำงานได้เลย เพราะเราผลิตคนเพื่อ ready to work จบแล้วทำงานได้เลย ไม่ต้องลองผิดลองถูก ไม่ต้องไปทดลองงาน เขาสามารถค้นพบตัวเองตั้งแต่ตัวเองเรียนอยู่”

วิถี PIM ต้นแบบมหา’ลัย

“ผศ.ดร.เลิศชัย สุธรรมานนท์” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา กล่าวเสริมว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจจะยิ่งทำให้ภาคธุรกิจมีความต้องการทรัพยากร แรงงาน ดังนั้น สถาบันการศึกษาจึงต้องสร้างเครือข่ายและพัฒนาคน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำระบบ WBE มหาวิทยาลัยอื่นสามารถทำได้ โดยมีปัจจัยสำคัญอยู่ 4 เรื่อง ได้แก่

ผศ.ดร.เลิศชัย สุธรรมานนท์
ผศ.ดร.เลิศชัย สุธรรมานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา

หนึ่ง การบริหารเชิงกลยุทธ์ ผู้บริหารระดับสูงต้องมุ่งมั่นผลักดันให้สถาบันของตนเองจัดการเรียนการสอนแบบ WBE ด้วย ยกตัวอย่าง PIM “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ “ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” ผู้บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ และผู้ก่อตั้งสถาบันเชื่อมั่นว่าการเรียนรู้ต้องมาจากนอกห้องเรียน ทั้งยังมั่นใจว่าความรู้มีอยู่ในองค์กรทุกแห่ง

สอง สร้างคนในองค์กรบุคลากรให้มีความเชื่อมั่นต่อระบบ WBE มีการจัดทรัพยากร จัดโครงสร้างองค์กร มีการระบุภารกิจรองรับการจัดการเรียนการสอนระบบนี้อย่างชัดเจน ทั้งยังต้องสร้างเน็ตเวิร์กตลอดเวลา ซึ่งบุคลากรจะเปรียบเสมือนเซลส์ทำหน้าที่สร้างเครือข่าย หาพันธมิตรนอกสถาบันเพื่อจะได้รู้ถึงความต้องการแรงงานในแต่ละสาขาวิชาชีพ

สาม พัฒนาหลักสูตรการสอนแบบ WBE อย่างถูกต้องตามแบบอุดมศึกษา ซึ่งสถานประกอบการและเครือข่ายฝึกงานจะต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรตั้งแต่ต้น ช่วยกันปรับปรุงหลักสูตรสม่ำเสมอ ตามสภาวการณ์ของแต่ละอาชีพที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ปี 2565 PIM จะเปิดคณะพยาบาลศาสตร์ ก็ต้องไปศึกษาจากแวดวงวิชาชีพว่าต้องการพยาบาลแบบไหน ทำอย่างไรให้ถูกต้องตามหลักสภาการพยาบาล ทั้งนั้น สร้างทีมเพื่อค้นหาอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญมาสอน

สี่ พัฒนากระบวนการและรูปแบบการทำงานด้วยระบบ WBE ให้ตอบสนองความต้องการของนักศึกษา สถานประกอบการ มีการทบทวนและปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างสม่ำเสมอ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในจุดสำคัญของการทำ WBE

“ทั้งหมดนี้คือจุดแข็งของ PIM ที่มีเป้าหมายผลิตคนตอบโจทย์การจ้างงานขององค์กรธุรกิจ เพราะการเรียนไปด้วยฝึกปฏิบัติไปด้วยจะทำให้นักศึกษามีทักษะการทำงานที่ดี มีทักษะการเข้าสังคมเป็นผลดีต่ออนาคตของเขา ยกตัวอย่างบางรายมีผู้ประกอบการมาจองตัวก่อนจบการศึกษาเสียอีก แต่ละปีจะมีการปรับปรุงหลักสูตรล้อกับแนวโน้มใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น”

นอกจากนี้ ผู้บริหารยังเน้นเรื่องการบริหารความเสี่ยงด้วย (risk management) ทั้งความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ กลุ่มธุรกิจ การดำเนินงานให้ศึกษาไว้ล่วงหน้าตลอดเพื่อจะได้รับมือทัน