แสงแห่งความหวัง พริ้นซิเพิลฯ ผนึกเอกชนตั้งโรงพยาบาลสนาม

โรงพยาบาลสนามเทศบาลเมืองแก้ว

ต้องยอมรับว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 3 ประสบปัญหาจนทำให้ผู้ป่วยล้น กอปรกับเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนไม่เพียงพอต่อปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ถึงวันนี้ แม้ภาครัฐต่างพยายามเร่งจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และขยายขอบเขตการทำงานในการเข้าถึงผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาเร็วขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอเท่าที่ควร

โรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จึงได้จับมือกับภาคเอกชนและมูลนิธิ อาทิ โรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์, MQDC, อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค, ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล และมูลนิธิธนินท์ เทวี เจียรวนนท์, มูลนิธิอริยวรารมย์, มูลนิธิพุทธรักษา ร่วมกันก่อตั้งโครงการโรงพยาบาลสนามที่ได้มาตรฐานตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐอีกหลายหน่วยงาน

โรงพยาบาลสนามเทศบาลเมืองแก้ว

โดยแต่ละภาคีเครือข่ายต่างร่วมมือกันในด้านการก่อสร้าง ด้านระบบปรับอากาศ การบำบัดน้ำเสีย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยขั้นสูงสุดของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดในศูนย์ และสภาพแวดล้อมโดยรวม รวมถึงการจัดส่งทีมแพทย์, พยาบาลเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

สำหรับสถานที่ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามอยู่บริเวณซอยวัดคลองปลัดเปรียง ถนนบางนา-ตราด กม.5 ต.บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โดยตัวโรงพยาบาลเป็นเต็นท์ขนาดใหญ่ ติดระบบปรับอากาศ และระบบการระบายอากาศ ปลอดภัยทั้งภายในโรงพยาบาลและภายนอก จำนวนทั้งหมด 6 เต็นท์ รองรับผู้ป่วยรวม 450 เตียง ซึ่งจะรับผู้ป่วยสีเขียวและสีเหลืองอ่อน

“นพ.อธิวัฒน์ น้อยประสิทธิ์” Chief Performance Coach, Risk and Quality Officer บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่ภาคเอกชนโดยโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ในเครือบริษัทพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ขึ้นในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดพื้นที่หนึ่ง

“โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ตั้งอยู่ห่างจากโรงพยาบาลสนามเพียง 5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 10 นาที และเรามีการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์อีก 11 สาขาร่วมมือด้วย ทั้งด้านเครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรับมือสถานการณ์การระบาด โดยเราจะติดตามอาการของคนไข้ผ่านระบบ telehealth อย่างใกล้ชิด”

“เพราะผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวอยู่โรงพยาบาลในปัจจุบันใกล้เต็มศักยภาพการรองรับ เช่นเดียวกับฮอสพิเทล (Hospitel) 3 แห่งอีกรวม 400 เตียงที่มีอัตราครองเตียงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ตลอดเวลา ทั้งยังมีการพักรักษาตัวโดยแยกกักตัวที่บ้าน (home isolation) ตามเกณฑ์ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง (สีเขียว) อีกหลายร้อยคน”

โรงพยาบาลสนามเทศบาลเมืองแก้ว

“ดังนั้น การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามจึงเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และทำให้การตรวจค้นหาเชิงรุกของโรงพยาบาลเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการแยกผู้ป่วยไม่มีอาการ หรืออาการน้อยออกมารักษาที่โรงพยาบาลสนาม และหากมีอาการเปลี่ยนแปลงหรือทรุดลงจะดำเนินการรับตัวเข้ามารักษาในโรงพยาบาลทันที เพราะทางโรงพยาบาลมีการลงทุนขยายห้องผู้ป่วย ICU เพิ่มขึ้นอีก 60 ห้อง รวมเป็น 85 ห้อง เพื่อรองรับในกรณีที่ผู้ป่วยอาการทรุดลง และต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อดูแลรักษา และรองรับผู้ป่วยอย่างทันท่วงที”

“วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวเสริมว่า ในด้านการก่อสร้างลักษณะของอาคารเป็นโครงสร้างประกอบเพื่อทำให้สามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว ภายในจึงมีการเพิ่มความปลอดภัยด้านสุขภาพทั้งของผู้ป่วยและบุคลากรสนับสนุนในโรงพยาบาลสนาม อาทิ ใช้สีแบ่งโซนการใช้งานอย่างชัดเจน เช่น โซนแดง คือ โซนผู้ป่วย, โซนเขียว โซนปลอดภัยสำหรับกลุ่มบุคลากรในช่วงพักผ่อน

“ที่สำคัญ เรายังได้รับการสนับสนุนการก่อสร้างจากบริษัทก่อสร้างชั้นนำที่ได้มาตรฐานจำนวน 8 บริษัทที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับเรา อาทิ สี่พระยาก่อสร้าง วิศวภัทร์ เป็นต้น ที่สำคัญการแบ่งพื้นที่ใช้สอยหลักเพื่อรองรับผู้ป่วยจำนวน 450 เตียง จะแบ่งออกเป็นผู้ป่วยชาย 225 คน ผู้ป่วยหญิง 225 คน โดยจะเน้นรับผู้ป่วยสีเขียวเป็นหลัก และได้แบ่งพื้นที่ไว้รองรับสำหรับผู้ป่วยระดับสีเหลืองอ่อนจำนวน 20 เตียง”

“พร้อมอุปกรณ์จำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้ระบบ oxygen ด้วยการจัดเครื่องช่วยหายใจ (high flow) ไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก และมีอาการเชื้อลงปอด รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น โดยจัดให้มีหุ่นยนต์ส่งของ ‘ปิ่นโต’ ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในโรงพยาบาลต่าง ๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดนี้ จำนวน 12 ตัว โดยทำหน้าที่รับส่งยา อาหาร เครื่องดื่ม และพัสดุจำเป็นใด ๆ แก่ผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์”

โรงพยาบาลสนามเทศบาลเมืองแก้ว

“นอกจากนี้ ยังนำระบบการสื่อสารทางไกลระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย ‘ไข่ต้ม Hospital’ ซึ่งเป็นระบบ telemedicine ที่พัฒนาโดยบริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น มาช่วยในการสื่อสารและติดตามอาการผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากร ทั้งยังช่วยประหยัดการใช้อุปกรณ์ป้องกัน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่อีกทางหนึ่งด้วย”

“เกชา ธีระโกเมน” ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสอันดีของกลุ่มบริษัทอีอีซี พนักงานและครอบครัวทุกคนที่มีโอกาสร่วมกันจัดตั้งโรงพยาบาลสนามนี้ โดยอีอีซีซึ่งเป็นผู้ชำนาญการในการออกแบบสถานพยาบาลมากกว่า 40 ปี ได้จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ให้มีมาตรฐานและป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อทางอากาศ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์อย่างดีที่สุด

“ทั้งนี้ โถงผู้ป่วยเราจัดให้มีระบบปรับอากาศ จ่ายลมเย็นที่เป็นอากาศที่ผ่านการกรองอากาศจากภายนอก 100% หรือ all fresh air โดยอากาศที่จ่ายให้ผู้ป่วยทุกคนมาจากภายนอกอาคารนำมาผ่านการกรองให้สะอาด และทำให้เย็น การจ่ายความเย็นจะจ่ายที่เตียงผู้ป่วยแต่ละเตียงโดยเฉพาะ เพื่อควบคุมความสะอาดและทิศทางการไหลของอากาศจากปลายเตียงและถูกดูดออกด้วยพัดลมระบายอากาศที่หัวเตียง ดังนั้น อากาศที่ผู้ป่วยแต่ละเตียงได้รับจะไม่ใช่อากาศหมุนเวียนมาจากพื้นที่อื่น ๆ ภายในอาคาร”

“นอกจากนั้น ความดันอากาศของโรงพยาบาลยังถูกออกแบบให้มีความดันเป็นลบ เพื่อป้องกันเชื้อไม่ให้แพร่กระจายไปพื้นที่โดยรอบ อากาศก่อนปล่อยออกภายนอกอาคารจะถูกกรองผ่าน HEPA filter ซึ่งมีประสิทธิภาพการกรอง 99.9% และฆ่าเชื้อด้วย UVGI และปล่อยออกที่ระดับสูงเหนือลมขึ้นไป ส่วนทิศทางการไหลของอากาศ และความดันอากาศแต่ละพื้นที่ได้ถูกออกแบบวางผังเพื่อแยกส่วนพื้นที่อากาศสะอาดและอากาศปนเปื้อนออกจากกัน ทั้งนี้ เพื่อดูแลให้บุคลากรด่านหน้าของเรามีความปลอดภัยสูงสุด”

โรงพยาบาลสนามเทศบาลเมืองแก้ว

“เอกศิษฐ์ เฉลิมรัฐวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายผลิตและฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า ทีแอนด์บีฯและบริษัทในเครือมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในครั้งนี้ด้วยจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละวันทำให้จำนวนเตียงในโรงพยาบาลมีไม่เพียงพอต่อการรองรับ การสร้างโรงพยาบาลสนามจึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว

“โรงพยาบาลสนามแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนแสงแห่งความหวัง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของภาคเอกชนที่อาสาเป็นอีกแรงหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนคนไทย และแบ่งเบาภาระหน้าที่ของทางภาครัฐ เพื่อให้ประเทศไทยฝ่าวิกฤตของผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปด้วยกันให้ได้ทุกภาคส่วน”


สำหรับโรงพยาบาลสนามดังกล่าวจะเปิดรับผู้ป่วยภายในเดือนสิงหาคมนี้