การแพทย์อัจฉริยะ

การแพทย์
CSR Talk

โลกวิถีใหม่ที่กำลังเผชิญกับภัยพิบัติโรคภัย และโรคอุบัติใหม่ ทำให้ประชาคมโลก และหลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับระบบข้อมูลสุขภาพระดับชาติ ซึ่งถือเป็นความมั่นคงของประเทศ ทั้งในยามปกติสุข และภาวะไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงผนึกความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร รวมถึงบริษัท จันวาณิชย์ จำกัด โดยได้รับการส่งเสริมภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดีเดย์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบสารสนเทศการแพทย์อัจฉริยะประเทศไทย 5G หรือ Thailand Health Data Space เพื่อใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมยกเครื่องระบบสุขภาพในทุกมิติ

“รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์” คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศการแพทย์อัจฉริยะประเทศไทย 5G (Thailand Health Data Space 5G) เป็นการพัฒนาโครงสร้างแพลตฟอร์มข้อมูลสุขภาพ big data ของประเทศอย่างครบวงจรเป็นครั้งแรกของไทย

โดยมีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ

1.big data infrastructure

2.ระบบข้อมูลของเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วประเทศ

3.แอปพลิเคชั่น

โดยมีแผนการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ เพื่อนำไปสู่ผลสำเร็จ ดังนี้

ระยะที่ 1 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน big data สารสนเทศการแพทย์ และตัวอย่างทดสอบ THDS sandbox ในโรงพยาบาลเป้าหมาย ซึ่งจะเสร็จในช่วงกลางปี 2565

ระยะที่ 2 การพัฒนาให้ระบบสามารถเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพกับเครือข่ายโรงพยาบาลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ระยะที่ 3 การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพกับบริการและเฮลท์เทคจากภาคีพันธมิตรที่ผู้ป่วยอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลได้

โดยมี “ดร.เคอิตา โอโน่” เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้จัดเวิร์กช็อปลงพื้นที่ศึกษา และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับแพทย์ และบุคลากรสุขภาพให้เข้าใจถึงกระบวนการของงานการแพทย์เพื่อให้การวางแผนและดำเนินโครงการนี้ตอบโจทย์ผู้ใช้ข้อมูลทุกระดับอย่างแท้จริง

“การผนึกความร่วมมือทั้ง 5 องค์กรครั้งนี้ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อระบบบริการทางการแพทย์และสุขภาพ เสริมความเข้มแข็งและยั่งยืนของสาธารณสุขไทย ส่งเสริมอุตสาหกรรมเฮลท์เทคและ wellness-medical hub ตอบรับสังคมและเศรษฐกิจยุคดิจิทัล”

“นพ.อนันต์ กนกศิลป์” ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า โครงการดังกล่าวมีประโยชน์ต่อคนไทย และประเทศไทยหลายด้าน อาทิ ประโยชน์ด้านสังคม ประโยชน์ด้านการแพทย์/สาธารณสุข ประโยชน์ด้านผู้ป่วย

“ศ.พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังสี” อธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยนเรศวร มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนโครงการนี้ โดยมี รศ.ดร.สุชาติ แย้มแม่น คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ ศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งมีบทบาทพัฒนาในส่วนที่ 3 ของโครงการ คือ แอปพลิเคชั่น “หมอรู้จักคุณ (Med Care)” ซึ่งเป็นบริการทางการแพทย์ทางไกล หรือ telemedicine ผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง 5G จะเปิดให้บริการกับคนไทยทุกคนผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ผู้ใช้สามารถกำหนดได้ว่าจะอนุญาตให้ รพ.ใดส่งข้อมูลตนเองเข้าสู่ระบบได้บ้าง และสามารถแจ้งยกเลิกการอนุญาตได้ด้วย

แอปพลิเคชั่น “หมอรู้จักคุณ” ประกอบด้วย 4 บริการ คือ

1.แอปพลิเคชั่น-แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

2.แอปพลิเคชั่น-ประชาชน

3.แอปพลิเคชั่น-คลินิกหมอครอบครัว

4.แอปพลิเคชั่นหมอรู้จักคุณ-อสม.

“ธนพล กองบุญมา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จันวาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า การส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดีนั้นจะเป็นหัวใจสำคัญ ในการขับเคลื่อนให้ระบบสาธารณสุขไทยที่เป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยได้เข้าถึงบริการสุขภาพและการแพทย์

“ทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการรักษา และการยกระดับระบบสารสนเทศการแพทย์อัจฉริยะประเทศไทย (Thailand Health Data Space 5G) ที่เกิดขึ้นจากพลังความร่วมมืออันดี จะทำให้ทุกภาคส่วนในระบบสุขภาพและสาธารณสุขของไทย และข้อมูลสุขภาพได้รับการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบผ่านการเชื่อมต่อ แลกเปลี่ยนข้อมูลบนแพลตฟอร์มเดียวกัน ภายใต้มาตรฐานระดับโลกที่นานาประเทศยอมรับ”