โควิด-19 พลิกเทรนด์จ้างงาน วงการ HR เร่งปรับตัวรอบทิศ

โควิด-19 พลิกการจ้างงานใหม่ HR กูรูชี้บริษัทใหญ่-เล็กเร่งกระชับองค์กร กลุ่มค้าปลีกควบรวมตำแหน่ง หนุนคนเก่งโตช่องทางพิเศษ ค่ายบางจากดัน talent ด้วย startup วิเคราะห์เทรนด์คนเก่งจะถูกดึงไปมา เงินเดือนจะลอยตัว สัญญาณปรับฐานเงินเดือนราชการอยู่ที่ 18,000 บาท ภาคธุรกิจต้องวางแผนตั้งรับ

ชี้ต้องควบรวมตำแหน่งงาน

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีกรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ทุกองค์กรต้องปรับรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ มี 4 แนวโน้ม คือ 1.กระชับองค์กรด้วยวิธี “ควบรวม” ตำแหน่ง เพื่อให้พนักงานมีทักษะการทำงานมากกว่า 1 ประเภท 2.การเปิดรับพนักงานใหม่จะเน้นงานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี เช่น วิเคราะห์ข้อมูล, ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งเป็นตัวช่วยของทุกธุรกิจ

3.พนักงานศักยภาพสูง หรือกลุ่ม talent จะกำหนด “ช่องทางการเติบโตในอาชีพพิเศษ” เพื่อกระตุ้นให้ได้ผลสัมฤทธิ์สูงสุด ค่าตอบแทนตำแหน่งนี้จะสูงตามไปด้วย โดยเปิดโอกาสให้พนักงานกลุ่มนี้มีประสบการณ์หลากหลาย มอบหมายให้รับผิดชอบงานโปรเจ็กต์สำคัญต่าง ๆ ที่สร้างผลกำไรได้อีกทางหนึ่ง

และ 4.จ้างพนักงานต่างชาติที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางและเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมากขึ้น เพราะปัจจุบันหาคนด้านนี้ค่อนข้างยาก และมีจำนวนจำกัด โดยให้กลุ่มนี้ทำงานผ่านออนไลน์ ไม่ต้องมาประเทศไทย กรอบเวลาทำงาน 1-2 ปี

“ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจต้องเผชิญกับวิกฤตหลายครั้ง ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จนถึงโควิด-19 ที่กลายเป็นตัวเร่งที่ให้ฝ่าย HR ต้องทำการบ้านหนักขึ้น นอกจากจัดหาคนแล้ว ต้องพัฒนาคนและรักษาคนเก่งให้ได้ ถึงขนาดฝ่าย HR ต้องมอนิเตอร์ว่า มีใครมาติดต่อไปร่วมงาน ให้ค่าตอบแทนสูงขึ้นหรือไม่” แหล่งข่าวกล่าว

ถึงยุคเงินเดือนไร้เพดาน

นายออมทรัพย์ บุตรแก้ว ผู้ก่อตั้ง HR School มองอนาคตว่า การบริหารทรัพยากรมนุษย์ตามแนวคิดเดิมอาจใช้ไม่ได้แล้วในปัจจุบัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19 คือ สภาพการจ้างงานจะเปลี่ยนไป เงินเดือนบางตำแหน่ง บางประเภท จะ “ไม่มีเพดาน” โดยเฉพาะพนักงาน high potential กลุ่มนี้เป็นโจทย์สำคัญที่ HR ต้องรักษาไว้

เนื่องจากจำนวนพนักงานกลุ่มนี้ในแต่ละองค์กรมี 20-30% หากดูแลและพัฒนาต่อเนื่องจะช่วยเพิ่มทักษะการทำงานได้ โดยองค์กรไม่จำเป็นต้องเพิ่มพนักงาน ส่วนเงินเดือนเริ่มต้นสำหรับบัณฑิตจบใหม่จากเดิม 15,000 บาท จะปรับเป็น 18,000 บาท มีความเป็นไปได้สูง แต่ต้องเป็นพนักงานใหม่ที่พร้อมทำงาน ไม่ต้องเสียเวลาฝึกฝน หากมองนโยบายรัฐบาลจะเห็นว่า มีโครงการจ้างบัณฑิตจบใหม่ด้วยฐานเงินเดือนที่ 18,000 บาทแล้ว

“HR ต้องเปลี่ยนความคิดจากกรอบทำงานแบบเดิม ๆ คือ หาคน หรือดูแลคนทำงานไปจนกว่าจะเกษียณ เพราะ HR ยุคนี้ต้องเป็นคู่คิดกับ CEO ที่ช่วยองค์กรลดต้นทุนในภาวะวิกฤต หรือดีไซน์ค่าตอบแทนที่นอกเหนือจากเงินเดือน เพื่อดึงดูดให้คนเก่งมาร่วมงานมากขึ้น”

จ้างงานแบบมีเป้าหมายร่วม

นายอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา ผู้ก่อตั้ง และกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยถึงเทรนด์การจ้างงานว่า มี 3 ประเด็น คือ 1.ค่าตอบแทนหรือเงินเดือน บัณฑิตจบใหม่มองการทำงานแบบระยะสั้นมากกว่า คนรุ่นใหม่ไม่ได้มองเรื่องความมั่นคง ขอแค่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็เพียงพอแล้ว บางองค์กรแม้เงินเดือนไม่สูง แต่มีสวัสดิการตรงกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ เช่น ให้สวัสดิการแบบยืดหยุ่นที่สูงถึง 100,000 บาทต่อปี ซึ่งพนักงานเหล่านี้สามารถเบิกไปใช้ทำอะไรก็ได้ ตอนนี้เริ่มเห็นมากขึ้น 2.อัตราเงินเดือนนับจากนี้ไป บัณฑิตใหม่จะมีฐานเงินเดือนอยู่ที่ 18,000 บาท แต่ต้องเป็นพนักงานใหม่ที่พร้อมใช้งานทันที

3.รูปแบบการจ้างงานแบบมีเป้าหมาย (target salary) โดยองค์กรและพนักงานร่วมกำหนดเป้าหมายการทำงาน หากทำได้จะปรับขึ้นเงินเดือน เช่น 3-5 ปี จะปรับขึ้น 30-40% หรือ 2 ปี ปรับขึ้น 15-20%

“ปัจจุบันแต่ละองค์กรไม่ได้ให้ความสำคัญกับจำนวนพนักงาน เพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย สิ่งที่องค์กรต้องการ คือ พนักงานคุณภาพ มีความสามารถรอบด้าน และพร้อมพัฒนาตัวเอง เพราะโจทย์ท้าทายของธุรกิจอยู่ที่ความสามารถของพนักงานที่ต้องเก่งมากกว่าหนึ่งอย่าง” นายอภิวุฒิกล่าว

บ่มเพาะ Talent เป็น MD

นายนพชัย นุตสติ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า รูปแบบการจ้างพนักงานจะหลากหลาย และคล่องตัว พร้อมพัฒนาคนทำงานให้เข้าใจเทคโนโลยี มีทักษะทำงานหลายประเภท และต้องพัฒนาคนที่มีความสามารถพิเศษให้เติบโตในสายงานตัวเอง โดยผ่านโปรแกรมฝึกฝนด้วยโปรเจ็กต์พิเศษ

เพราะเดิมพนักงานเป็นแค่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ต่อไปต้องเปลี่ยนเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจแทน (copartner) เหมือนบางจาก คือ ให้พนักงานเลือดใหม่เข้าบริหารในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ พร้อมมอบหมายให้บริหารโปรเจ็กต์ startup ที่ดูแลธุรกิจรถจักรยานยนต์เช่าไฟฟ้า โดยที่ผู้เช่าไม่ต้องลงทุนซื้อเอง เราเรียกโปรเจ็กต์นี้ว่า Winnonie หรือ “วิน โน หนี้” เพื่อช่วยเหลือ สร้างอาชีพให้คนในพื้นที่ใกล้เคียงกับสำนักงานบางจาก และจะขยายโปรเจ็กต์ไปยังพื้นที่อื่น ๆ

“การบ้านของฝ่าย HR ต้องวิเคราะห์อยู่ตลอดเวลาว่าอะไรเป็นโอกาสขององค์กร ต้องเตรียมพร้อมด้าน manpower ให้ดี เพราะองค์กรต้องพร้อมไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศ แต่บางจากต้องอยู่ต่อไป”

AIS เล็งทบทวนฐานเงินเดือน

นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS และ Intouch และกรรมการ บริษัท เลิร์นดิ จำกัด มีความเห็นต่างออกไปว่า ยุคนี้คนทำงานไม่ได้มองผลตอบแทนอย่างเดียว แต่องค์กรจะต้อง 1.มีเวทีให้แสดงความสามารถ 2.สภาพแวดล้อม บรรยากาศการทำงานดี และ 3.มีเส้นทางให้เติบโตในสายงานชัดเจน

หากมีสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานชัดเจนผ่านวัฒนธรรมขององค์กรแล้ว พนักงานจะผูกพัน อยากทำงานด้วย ส่วนแนวโน้มฐานเงินเดือนจะต้องปรับขึ้น หรือต้องลอยตัวค่าตอบแทนนั้น ยังมองว่า เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะการอยู่ในท่ามกลางปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อย่างการระบาดของโควิด-19

แต่เมื่อวิกฤตโควิดผ่านพ้นก็อาจมีความเป็นไปได้ แม้แต่ AIS อาจต้องพิจารณาทบทวนเรื่องผลตอบแทนให้กับพนักงาน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการทำงานที่เกิดขึ้นจริง