ปตท.-SCG-กูเกิล องค์กรในฝันที่คนอยากทำงาน

บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย 10 สุดยอดองค์กรชั้นนำที่พนักงานไทยอยากร่วมงานมากที่สุด โดยพบว่าบริษัทสัญชาติไทยรั้ง 2 อันดับแรก ในขณะที่บริษัทในธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัล, ยานยนต์ และโทรคมนาคม ยังครองใจพนักงาน พร้อมแนะองค์กรสร้างวัฒนธรรมองค์กรอย่างมีคุณภาพ และปรับทัศนคติเพื่อเฟ้นหาคนเก่งมาร่วมงานด้วย

โดยข้อมูลดังกล่าวมาจากการสำรวจเรื่อง Top 10 Company Report 2017 ที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับองค์กรที่พนักงานต้องการร่วมงานด้วย และปัจจัยสนับสนุนให้พนักงานอยากร่วมงานกับองค์กรนั้น ๆ ซึ่งจากการสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ผ่านมา ปรากฏว่าผลสำรวจจากกลุ่มผู้หางานแบ่งตามช่วงอายุ ได้แก่ กลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป (baby boomer) 7% กลุ่มอายุระหว่าง 34-49 (gen X) 49% กลุ่มอายุระหว่าง 26-33 ปี (gen Y) 27% และกลุ่มอายุระหว่าง 18-25 ปี (gen Z) 16%

“นพวรรณ จุลกนิษฐ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากผลสำรวจพบว่า 10 สุดยอดองค์กรชั้นนำที่พนักงานไทยอยากร่วมงานมากที่สุด ประกอบด้วย อันดับ 1 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT), อันดับ 2 บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG), อันดับ 3 Google ประเทศไทย, อันดับ 4 บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, อันดับ 5 บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (Dtac)

อันดับ 6 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CP ALL), อันดับ 7 บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS), อันดับ 8 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), อันดับ 9 บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด และอันดับ 10 บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด

เมื่อเปรียบเทียบจากผลสำรวจระดับภูมิภาคยังชี้ให้เห็นว่า องค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลกที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในกลุ่มประเทศที่ Seek Asia ดำเนินการอยู่ ยังคงติดอันดับเป็นบริษัทในฝันของพนักงาน และมีสัดส่วนเท่ากันกับบริษัทท้องถิ่น โดยเฉพาะธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ และดิจิทัลยังติดอันดับต้น ๆ ของทุกประเทศ รวมถึงธุรกิจสินค้าอุปโภค-บริโภคชั้นนำของโลก

ขณะที่บริษัทท้องถิ่นที่ติดอันดับต้น ๆ ของแต่ละประเทศยังเป็นธุรกิจโทรคมนาคม ธนาคาร และกลุ่มบริษัทในเครือต่าง ๆ

“เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาจากผลสำรวจของประเทศไทยจะเห็นชัดว่า บริษัทที่พนักงานอยากร่วมงานทั้ง 10 อันดับในครั้งนี้ ยังคงเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว อันเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นในองค์กร ภาพลักษณ์ รวมทั้งการพัฒนา และการขยายองค์กรสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้คนหางานรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ เล็งเห็นโอกาสของการสร้างความสำเร็จในชีวิต ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และพร้อมจะเข้าสู่ความท้าทายที่เกิดขึ้น”

ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจคนไทยยังระบุปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกบริษัท คือ ความก้าวหน้าในอาชีพ ความมั่นคงในหน้าที่การงาน และวัฒนธรรมองค์กรที่มีความยืดหยุ่น รวมถึงสภาพแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาลของนายจ้าง และอุปนิสัยของเพื่อนร่วมงาน

ปัจจัยข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมขององค์กรที่มีคุณภาพ เป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดคนหางาน ทั้งยังช่วยรักษาพนักงานให้ทำงานกับองค์กรนั้น ๆ ได้นาน ส่วนปัจจัยถัดมา คือ เรื่องของความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัว รวมถึงการสร้างสิ่งจูงใจเพื่อดึงดูดพนักงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสม จะทำให้องค์กรมีตัวเลือกมากขึ้นอีกด้วย

นพวรรณกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าองค์กรหลายแห่งพยายามสร้างเอกลักษณ์ กำหนดคุณค่าองค์กร และทำให้องค์กรมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก รวมไปถึงการบริหารทรัพยากรบุคคลทั้งในด้านค่าตอบแทน และสวัสดิการที่คุ้มค่ากับการทำงาน ความก้าวหน้าในสายงาน และโอกาสในการพัฒนาตนเอง เพื่อให้เป็นองค์กรที่ผู้หางานเลือกทำงานด้วย และเมื่อได้พนักงานที่มีคุณสมบัติที่ต้องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร พนักงานเหล่านั้นจะทุ่มเทความสามารถ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมายได้

“ปัจจัยข้างต้นนับเป็นสาระสำคัญที่นายจ้างทั้งรายใหญ่ และรายเล็กควรพิจารณาเพื่อให้ได้คนคุณภาพมาร่วมงาน รวมไปถึงการปรับกลยุทธ์ในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรรูปแบบใหม่ที่ต้องเอื้อต่อไลฟ์สไตล์ของคนทำงานยุคนี้ด้วย”

“ที่สำคัญ ผลสำรวจยังระบุอีกว่า พนักงานยังคงเชื่อถือการสืบค้นข้อมูลจากช่องทางออนไลน์เป็นหลัก โดย 34% ของผู้ตอบแบบสำรวจรู้จักชื่อเสียงของบริษัทจากสื่อสังคมออนไลน์ เว็บไซต์หางาน และเว็บไซต์องค์กร ขณะที่ 24% ได้ยินข่าวสาร หรือชื่อเสียงบริษัทจากการบอกเล่าปากต่อปาก และ 11% เป็นผู้สมัครงานที่นำคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และบริการที่ตนใช้อยู่มาเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาสมัครงานกับบริษัทนั้น ๆ ตามมาด้วย 9% ได้รับข้อมูลขององค์กรนั้น ๆ จากสมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนที่ทำงานอยู่”

ดังนั้น การจัดทำผลสำรวจสุดยอดองค์กรชั้นนำที่พนักงานอยากร่วมงานมากที่สุดครั้งนี้ยังทำให้เห็นว่า นายจ้างเห็นถึงความสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือผ่านเว็บไซต์หางาน เนื่องจากปัจจุบันช่องทางนี้กลายมาเป็นแหล่งข้อมูลอันดับต้น ๆ ที่ผู้หางานเลือกใช้

เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งรวบรวมตำแหน่งงานที่ครอบคลุมทุกสาขาวิชาชีพ ยังเป็นแหล่งข้อมูลขั้นต้นในการสืบค้น หรือศึกษาข้อมูลของบริษัทต่าง ๆ เพื่อใช้ในการพิจารณาก่อนตัดสินใจยื่นใบสมัครอีกด้วย