ภารกิจ “บริติช เคานซิล” ยกระดับภาษา-สะพานเชื่อม 2 ประเทศ

บริติช เคานซิล

นอกจาก บริติช เคานซิล จะเป็นสถาบันสอนภาษาอย่างที่ทุกคนทราบกัน ทว่าอีกบทบาทสำคัญ นับตั้งแต่เข้ามาก่อตั้งในประเทศไทยเมื่อปี 2495 คือ การเป็นสะพานเชื่อมทางภาษา และวัฒนธรรมระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร

“เฮลก้า สเตลมาเกอร์” ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย บอกว่า ภารกิจขององค์กรประกอบด้วยเสาหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ยกระดับทักษะภาษาอังกฤษ, การพัฒนาอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นสากล, การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เฮลก้า สเตลมาเกอร์
เฮลก้า สเตลมาเกอร์ ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย

“ซึ่งทั้ง 3 ด้าน บริติช เคานซิล ให้น้ำหนักการทำงานเท่ากันเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังจากนี้เป็นต้นไป เมื่อวิกฤตโควิดคลี่คลาย บริติช เคานซิลจะเดินหน้าภารกิจทั้ง 3 อย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นด้วยการยกระดับทักษะภาษาอังกฤษผ่านการเรียน การสอน และการจัดสอบด้วยมาตรฐานระดับนานาชาติ รวมไปถึงภารกิจในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษโดยภาพรวมของประเทศผ่านการทำงานร่วมกันกับภาครัฐ”

“เพราะจากข้อมูลล่าสุดของหน่วยงานด้านการวัดและประเมินผลด้านภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge Assessment English) พบว่า ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยที่ทำการสอบวัดความสามารถภาษาอังกฤษ IELTS ในปี 2562 คะแนนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 6 คะแนนจากคะแนนเต็ม 9 โดยทักษะที่คนไทยทำคะแนนได้มากที่สุด คือ ทักษะการฟัง เฉลี่ยอยู่ที่ 6.4 คะแนน ขณะที่ทักษะที่ไม่ถนัดที่สุด คือ ทักษะการเขียน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.5 คะแนน”

“ดังนั้น ในปี 2564-2565 เป็นต้นไป บริติช เคานซิล จะสนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการ ในแผนการพัฒนาทักษะครูภาษาอังกฤษทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่ทักษะความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาอังกฤษ ทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาการเรียนการสอนผ่านรูปแบบออนไลน์ที่ครูทั่วโลกต่างเผชิญอยู่”

“นับเป็นการต่อยอดจาก ‘โครงการบูธแคมป์’ การฝึกอบรมทักษะการสอนภาษาอังกฤษกับครูทั่วประเทศ ให้เปลี่ยนการสอนแบบเดิมที่เน้นความถูกต้องของภาษามาเน้นสอนการสื่อสาร ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมาอบรมไปแล้วกว่า 12,000 คน”

วางแผนขยายศูนย์สอบเพิ่ม

“เฮลก้า สเตลมาเกอร์” กล่าวต่อว่า ในส่วนของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษมีการนำเสนอการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ เรียกว่า “บูสต์” (boost) หรือการเตรียมพร้อมก่อนเข้าเรียนในห้องเรียน โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที ในการเรียนรู้ และฝึกคำศัพท์ล่วงหน้า เพื่อเสริมความมั่นใจการเรียน

โดยปัจจุบัน บูสต์ ถูกประยุกต์ใช้กับคอร์สภาษาอังกฤษสำหรับผู้ใหญ่ของเรา อย่าง myClass และ IELTS Coach และกำลังจะถูกประยุกต์ใช้กับคอร์สภาษาอังกฤษสำหรับเด็กประถม และมัธยม หรือ Primary Plus และ Secondary Plus ในปีการศึกษาที่กำลังจะถึงนี้

“อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการสอบ IELTS และการสอบเฉพาะทางอื่น ๆ อาทิ IGSCSE, BMAT, Aptis ยังคงให้บริการตามปกติ แต่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้สอบเป็นหลัก และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มากขึ้น ในปีนี้ได้เตรียมแผนการขยายศูนย์สอบเพิ่มเติมเพื่อเตรียมรองรับจำนวนผู้สอบที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงหลังการแพร่กระจายของโควิด-19”

“โดยจะเป็นทั้งรูปแบบศูนย์สอบร่วมกับหน่วยงานพาร์ตเนอร์ อาทิ โรงเรียน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่ปรึกษาการศึกษาต่อ และในรูปแบบศูนย์สอบอย่างเป็นทางการของบริติช เคานซิล เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สอบในหลากหลายพื้นที่”

ส่งเสริมคนไทยศึกษาต่อ ตปท.

“เฮลก้า สเตลมาเกอร์” บอกว่า สำหรับการพัฒนาอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์จะเดินหน้าส่งเสริมโอกาสในการศึกษาต่อยังสหราชอาณาจักรให้กับนักเรียนไทย และการสร้างเครือข่ายศิษย์เก่า เพราะว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีนักเรียนไทยที่เลือกไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่อังกฤษมากกว่า 40,665 คน และจากข้อมูลล่าสุด ในปี 2562-2563 มีนักเรียนไทยจำนวนกว่า 7,140 คน ไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ณ สหราชอาณาจักร

“โดย 5 อันดับสาขาวิชาที่คนไทยเลือกศึกษาต่อมากที่สุด ได้แก่ 1) สาขาการจัดการธุรกิจ 39% 2) สาขาวิศวกรรมและเทคโนโลยี 12% 3) สาขาสังคมศึกษา 7% 4) สาขากฎหมาย 7% และ 5) สาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการออกแบบ 5%”

“นอกจากนั้น สหราชอาณาจักรยังตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนนักศึกษาต่างชาติอยู่ที่ขั้นต่ำ 600,000 คนต่อปี ภายในปี 2573 โดยบริติช เคานซิล จะรับบทบาทในการส่งเสริมการศึกษาต่อ ควบคู่ไปกับการสร้างแพลตฟอร์มเครือข่ายศิษย์เก่าสหราชอาณาจักร ที่มีกำหนดการจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2565”

ผลักดันมหา’ลัยไทยสู่ระดับโลก

“เฮลก้า สเตลมาเกอร์” บอกอีกว่า ตอนนี้ บริติช เคานซิล เริ่มทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมไปสู่มาตรฐานระดับสากล

“เริ่มต้นโครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร” (Thai-UK World-class University Consortium) มาตั้งแต่ช่วงต้นปี เพื่อทำการเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยไทยเข้ากับมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และส่งเสริมการทำงานร่วมกัน อันจะนำไปสู่การผลักดันมหาวิทยาลัยไทยให้ก้าวไปสู่ 100 อันดับแรกของโลก ตามที่กระทรวง อว.ตั้งเป้าไว้”

“นอกจากนี้ อีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่ยังคงสานต่อในการทำงานกับ อว. คือ โครงการเฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2021 เวทีค้นหานักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่สามารถอธิบายหัวข้องานวิจัย หรือเรื่องราววิทยาศาสตร์ได้ใน 3 นาที”

พัฒนาธุรกิจวงการคราฟต์

สำหรับอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญ “เฮลก้า สเตลมาเกอร์” บอกว่า จะเป็นการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านการจัดกิจกรรมและโครงการศิลปะเพื่อสร้างความเข้มแข็ง และส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์

“โดยในช่วง 3 ปีผ่านมา เราทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร กลุ่มนักออกแบบชาวไทย และชาวบ้าน ช่างฝีมือ กว่า 3,000 คน และกว่า 200 แบรนด์ เสริมสร้างองค์ความรู้ พัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งปี 2564-2565 นี้ บริติช เคานซิล จะมีโปรเจ็กต์ความร่วมมือเพื่อพัฒนาธุรกิจในวงการคราฟต์ ด้วยการเพิ่มบทเรียนในดิจิทัล คราฟต์ ทูลคิต (digital craft toolkit) แพลตฟอร์มบทเรียนทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการงานคราฟต์ที่ถูกใช้มากกว่า 10 ประเทศทั่วโลก”

“โดยปีนี้จะมีการเพิ่มบทเรียนที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจ ทั้งในด้านการวางโมเดลธุรกิจ การเลือกวัสดุ และขั้นตอนการผลิตอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นเครื่องมือให้ศิลปินได้เรียนรู้โมเดลการสร้างธุรกิจงานคราฟต์อย่างครบวงจร และเพื่อให้ศิลปินได้พัฒนาธุรกิจของตัวเองอย่างยั่งยืน”

“นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 โปรเจ็กต์ที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ เพื่อต่อยอดกิจกรรมแฮกกาธอนในย่านนางเลิ้ง ที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2564 ส่วนหนึ่งของโครงการ คือ ด้านการพัฒนา creative hubs ซึ่งจะเป็นฮับหรือพื้นที่ของกลุ่มคนที่จะมาช่วยกันระดมความคิด เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ซึ่งทั้ง 2 โปรเจ็กต์จะเกี่ยวข้องกับการจัดการขยะในชุมชน ทั้งขยะพลาสติกและขยะสดจากตลาด และพัฒนาพื้นที่ในชุมชนให้มีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้น”

ร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากภารกิจหลักที่กล่าวมาข้างต้น “เฮลก้า สเตลมาเกอร์” เปิดเผยว่า ปีนี้ บริติช เคานซิล ร่วมจัดแคมเปญระดับโลก “The Climate Connection” กับหน่วยงานพาร์ตเนอร์ทั่วโลก เพื่อสร้างความตระหนักในประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

“ผ่านการดำเนินงานด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และภาษาอังกฤษ ในรูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ เช่น พอดแคสต์สอนภาษาอังกฤษ และสัมมนาการสอนภาษาอังกฤษ ภายใต้หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ, นิทรรศการโชว์เคสงานวิทยาศาสตร์ และศิลปะเพื่อการความยั่งยืน”


“โดยจัดขึ้นตลอดทั้งปี เพื่อปูทางไปสู่กิจกรรมยิ่งใหญ่ประจำปีของสหราชอาณาจักร อย่าง การประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ที่จะจัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้”