ยูนิเวอร์ซัม เปิดสำรวจแรงงานไทย จัดอันดับนายจ้างในอุดมคติ

ที่มาภาพ: Rueters/Amir Cohen

ยูนิเวอร์ซัม เปิดสำรวจแรงงานไทย จัดอันดับบริษัท และประเภทธุรกิจที่เป็นที่ชื่นชอบ พร้อมเผยสิ่งที่คนรุ่นใหม่มองหา

วันที่ 6 สิงหาคม 2564 ยูนิเวอร์ซัม (Universum) ผู้นำการสร้างแบรนด์ประเภทองค์กรในระดับสากล เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกของผลการสำรวจการวัดระดับความน่าสนใจต่อองค์กรในตลาดแรงงานไทย และตรวจสอบความต้องการด้านการทำงานของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่จะเป็นแรงงานในอนาคต

ผลการสำรวจประมวลจากคำตอบของนักศึกษาในไทยจำนวน 11,554 ราย ในสาขาบริหารธุรกิจ พาณิชยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ กฎหมาย และสุขภาพ การแพทย์ และการประเมินบริษัทนายจ้าง 123 ราย โดยบุคคล 22,757 ครั้ง ผู้ตอบแบบสำรวจอยู่ในช่วงอายุ 16-29 ปี และยูนิเวอร์ซัมทำการสำรวจช่วงเดือนธันวาคม 2563-พฤษภาคม 2564

ผู้ตอบแบบสำรวจแต่ละคนจะถูกถามเกี่ยวกับความชื่นชอบในการทำงาน ความคาดหวัง และตัวขับเคลื่อนที่เกี่ยวกับการจ้างงาน นอกจากนั้นให้เสนอรายชื่อนายจ้างทั้งระดับประเทศและระดับสากล รวมได้ทั้งหมด 123 บริษัท ซึ่งมีระบบการเสนอชื่อที่ป้องกันไม่ให้บริษัทต่าง ๆ มีอิทธิพลต่อสถานะการทำงานของผู้ตอบแบบสำรวจ

และจาก 123 บริษัท ผู้ตอบแบบสอบถามจะต้องเลือก “นายจ้างในอุดมคติ” 5 อันดับ และตอบคำถามเกี่ยวกับแบรนด์นายจ้างนั้น ๆ ตามกรอบการประเมินผลสากล Drivers of Employer Attractiveness ของยูนิเวอร์ซัม ซึ่งการจัดอันดับนี้เป็นการวัดระดับความน่าดึงดูดใจของบริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ ในตลาดแรงงานไทย

คนรุ่นใหม่ยังสนใจทำการท่องเที่ยว อันดับ 1

ภาพรวมกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นที่ชื่นชอบของแรงงานรุ่นใหม่ 5 สูงสุด ได้แก่

อันดับ 1 การท่องเที่ยวและโรงแรม 27%

อันดับ 2 การผลิต 25%

อันดับ 3 การศึกษา 21%

อันดับ 4 การโฆษณา 20%

อันดับ 5 การวิจัยตลาด 19%

ทั้งนี้ หากแบ่งตามเพศ เพศหญิงชื่นชอบการทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรม เป็นอันดับที่ 1 อยู่ที่ 34% ซึ่งมากกว่าเพศชายที่ไม่มีอุตสาหกรรมนี้ติด 1 ใน 5 อันดับ โดยเพศชายสนใจอุตสาหกรรมการผลิตเป็นอันดับที่ 1 อยู่ที่ 27% และอันดับ 2 คือ ไอที อยู่ที่ 26% ส่วนอุตสาหกรรมอันดับที่ 2 ที่เพศหญิงให้ความสนใจคือ การผลิต อยู่ที่ 25%

นายพราทิก ซาเบอวัล หัวหน้าที่ปรึกษา ยูนิเวอร์ซัม ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า แม้จะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการจำกัดการเดินทางที่เข้มงวดเพื่อควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่แรงงานที่มีทักษะสูงยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งอาจเป็นข่าวดีมากสำหรับประเทศไทยที่มีแผนฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงนี้

5 อันดับบริษัทในอุดมคติ

สำหรับองค์กรนายจ้างที่แรงงานรุ่นใหม่ที่เรียนสายบริหารธุรกิจ/พาณิชยศาสตร์ ให้ความสนใจที่สุด 5 อันดับ คือ

อันดับ 1 กูเกิล 16.89%

อันดับ 2 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 10.22%

อันดับ 3 จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ 9.62%

อันดับ 4 คิง เพาเวอร์ 8.91%

อันดับ 5 ปตท. 8.58%

แรงงานที่เรียนสายบริหารธุรกิจ/พาณิชยศาสตร์ให้ความสนใจทำงานในองค์กรภาคเอกชน มากกว่าองค์กรภาครัฐ โดยสัดส่วนอยู่ที่ 88% ต่อ 12% ทั้งยังสนใจทำงานกับบริษัทมหาชนถึง 72% ซึ่งมากกว่าบริษัทสตาร์ตอัพ ที่มีผู้สนใจอยู่ที่ 28%

นอกจากนั้นกว่า 73% คาดหวังจะได้ทำงานในองค์กรที่มีการดำเนินงานระดับโลก ส่วนรายได้ต่อปีที่แรงงานที่เรียนสายบริหารธุรกิจ/พาณิชยศาสตร์คาดหวังคือ 452,869 บาทต่อปี สัดส่วนรูปแบบการจ้างงานที่ชื่นชอบคือ ทำงานประจำ 80% งานฟรีแลนซ์ 14% และงานพาร์ทไทม์ 6%

สำหรับองค์กรนายจ้างที่แรงงานรุ่นใหม่ที่เรียนสายวิศวกรรมให้ความสนใจที่สุด 5 อันดับ คือ

อันดับ 1 ปตท. 18.00%

อันดับ 2 กูเกิล 12.40%

อันดับ 3 กฟผ. (EGAT) 12.14%

อันดับ 4 เอสซีจี 11.83%

อันดับ 5 บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป 8.38%

แรงงานที่เรียนสายวิศวกรรมให้ความสนใจทำงานในองค์กรภาคเอกชน มากกว่าองค์กรภาครัฐ โดยสัดส่วนอยู่ที่ 84% ต่อ 16% ทั้งยังสนใจทำงานกับบริษัทมหาชนถึง 75% ซึ่งมากกว่าบริษัทสตาร์ตอัพ ที่มีผู้สนใจอยู่ที่ 25%

กว่า 74% คาดหวังจะได้ทำงานในองค์กรที่มีการดำเนินงานระดับโลก ส่วนรายได้ต่อปีที่แรงงานที่เรียนสายวิศวกรรมคาดหวังคือ 434,663 บาทต่อปี สัดส่วนรูปแบบการจ้างงานที่ชื่นชอบคือ ชอบทำงานประจำ 89% งานฟรีแลนซ์ 7% และงานพาร์ทไทม์ 4%

จะเห็นได้ว่าหน่วยงานภาครัฐวิสาหกิจอย่าง ปตท. และ  กฟผ. ติด 5 อันดับแรกนายจ้างในอุดมคติในปัจจุบัน แม้แรงงานรุ่นใหม่สนใจทำงานในภาคเอกชนอย่างมากก็ตาม

นายพราทิก กล่าวว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเวลาที่ลูกจ้างบริษัทเอกชนต้องเผชิญกับการลดเงินเดือนแบบฉับพลัน ทำให้กลุ่มผู้มีทักษะสูงในอนาคตรู้สึกเปิดกว้างมากขึ้นต่อองค์กรภาครัฐบาลที่มีความมั่นคงสูง เนื่องจากข้าราชการพลเรือนยังมีอัตราเงินเดือนคงที่

“การสำรวจของเราแสดงให้เห็นว่า ปตท. เป็นบริษัทนายจ้างที่มีคุณลักษณะที่น่าสนใจอย่างมาก อาทิ การเสนอฐานเงินเดือนที่สูงกว่า ผลประโยชน์ที่มากกว่า การจ้างงานที่มั่นคง และการให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการทำงานขั้นสูง ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด 4 ข้อที่นักศึกษาต้องการ”

แรงงานรุ่นใหม่ศึกษานายจ้างผ่านโซเชียลมีเดีย

ช่องทางที่คนรุ่นใหม่ใช้ศึกษาและสื่อสารเกี่ยวกับการหางาน มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่

อันดับ 1 เว็บไซต์องค์กร 52%

อันดับ 2 เฟซบุ๊ก 47%

อันดับ 3 กูเกิลพลัส 41%

อันดับ 4 เว็บไซต์ประกาศงานโดยเฉพาะขององค์กรต่าง ๆ 34%

อันดับ 5 อินสตาแกรม 23%

นายพราทิก อธิบายว่า เฟซบุ๊กได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนไทยมากกว่าโซเชียลมีเดียอื่น ๆ อย่างอินสตาแกรม หรือลิงก์อิน ขณะที่คนที่มีทักษะสูงมักใช้เว็บไซต์ทางการของบริษัทในการศึกษาเกี่ยวกับนายจ้าง และใช้เฟซบุ๊กเพื่อพิจารณาว่า ผู้คนมีส่วนร่วมกับบริษัทนั้นอย่างไร และบริษัทนั้นแบ่งปันคอนเทนต์เกี่ยวกับองค์กรของตนเองในรูปแบบใด

“นายจ้างควรออกแบบการสร้างแบรนด์ของตนเอง ผ่านการระบุลักษณะความแตกต่างที่สำคัญ เพื่อดึงดูดผู้สมัครงานที่มีความแตกต่าง บรรดานายจ้างในประเทศไทยล้วนตื่นตัวอย่างมากบนเฟซบุ๊ก ทำให้ผู้มีทักษะสูงมักใช้เฟซบุ๊กเพื่อทำความเข้าใจถึงประสบการณ์ของลูกจ้างของบริษัทนั้น ซึ่งเป็นการใช้งานแพลตฟอร์มยอดนิยมให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะช่วยให้รู้ว่าจะสามารถคาดหวังสิ่งใดจากการทำงานในองค์กรนั้น

ในการค้นหาข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับนายจ้างในอนาคต แรงงานรุ่นใหม่มักสำรวจ เรื่องการบริหารที่ส่งเสริมความหลากหลาย และยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล 77% ตามมาด้วยโอกาสการก้าวหน้าในสายงาน 75% แนวคิดของผู้บริหารบริษัท 73% ค่าตอบแทนและผลประโยชน์ 68% และโอกาสในการฝึกอบรมและพัฒนา 65%