วิกฤตเปลี่ยนเทรนด์จ้างงาน พนักงานสายการบินแห่ร่อนใบสมัครงานใหม่

พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์

จ๊อบส์ ดีบี เผยข้อมูลสถานการณ์ตลาดแรงงานไทย หลังเกิดวิกฤตโควิด จำนวนประกาศงานลดลง พนักงานสายการบินแห่ร่อนใบสมัครงานใหม่

ต้องยอมรับขณะนี้สภาพการหางาน และการจ้างงานในปัจจุบันระส่ำอย่างมาก เพราะผลมาจากมหันตภัยไวรัสร้ายตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทั้งยังทำท่าว่าวิกฤตครั้งนี้น่าจะอยู่อีกหลายปี ผลเช่นนี้ จึงทำให้จ๊อบส์ ดีบี (JobsDB) เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ตลาดแรงงานไทย หลังเกิดวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 และ 4 (ช่วงครึ่งแรกปี 2564) พร้อมกับเปิดผลสำรวจ “ถอดรหัสลับ จับทิศทางความต้องการคนทำงานยุคใหม่” (Global Talent Survey) สำรวจคนทำงานกว่า 200,000 คน ใน 190 ประเทศ จาก 20 กลุ่มอาชีพ เพื่อศึกษาเทรนด์ของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป หลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19

“พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์” ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า GDP (Gross Domestic Product) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่ลดลง ส่งผลให้อัตราการจ้างงานพลอยลดลงไปด้วย โดยเมื่อมองย้อนหลังตลอด 10 ปีที่ผ่านมา GDP ของไทยเป็นบวกมาโดยตลอด ทั้งยังพุ่งสูงสุดในปี 2555 อยู่ที่ 7.24%

แต่พอหลังจากเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ทำให้ GDP ไทยติดลบ -6.1% และถึงแม้ไตรมาสแรกของปี 2564 ทำท่าจะดีขึ้น เพราะติดลบเพียง -2.6% แต่จากการคาดการณ์ GDP ตลอดปี 2564 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย เชื่อมั่นว่าน่าจะมีผลเป็นบวกเพียง 1.8% เท่านั้น (จากรายงานนโยบายการเงินเดือน มิ.ย. 2564)

“การที่ GDP ลดลงจะส่งผลกระทบต่ออัตราการว่างงานของไทย จากเฉลี่ยอยู่ที่ 1% มาตลอดช่วงก่อนมีการระบาดของโควิด-19 ตอนนี้กลับพุ่งสูงขึ้นเท่าตัวในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2563 (ช่วงโควิด-19 ระลอก 1) โดยอยู่ที่ 1.95% ส่วนไตรมาส 3 และ 4 ปี 2563 การว่างงานดีขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 1.9% และ 1.86% ตามลำดับ แต่พอมาไตรมาส 1 ปี 2564 อัตราการว่างงานในไทยสูงสุดเมื่อเทียบกับ 5 ปีย้อนหลัง และสูงที่สุดตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 โดยอยู่ที่ 1.96% โดยมีจำนวนผู้ว่างงานราว 7.58 แสนคน”

วิกฤตโควิดทุบตลาดหางานซึมยาว

“พรลัดดา” กล่าวต่อว่า สำหรับความต้องการทางด้านแรงงาน เมื่อพิจารณาจากแพลตฟอร์มหางาน และช่องทางสื่อกลางออนไลน์อื่น ๆ ตามช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอก 1-4 พบว่า การระบาดระลอก 1 (ช่วง มี.ค. 2563) มีจำนวนประกาศงานทั้งประเทศติดลบ -35.6% (เทียบกับ ม.ค. 2563) เพราะสถานการณ์ตอนนั้นมีการล็อกดาวน์ครั้งแรกจนทำให้ธุรกิจหลายรายปิดกิจการชั่วคราว แต่หลังจากนั้นคนก็เริ่มกลับมาทำงานเป็นปกติอีกครั้ง ส่งผลให้มีการประกาศงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วง 6 เดือน

“แต่เมื่อมีการระบาดระลอก 2 (ช่วงปลาย ธ.ค. 2563) ที่ถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่มากเท่าปัจจุบัน แต่จำนวนประกาศงานกลับหล่นลงไปติดลบที่ -45.5% (เทียบกับ ม.ค. 2563) จนเมื่อมีการระบาดระลอก 3 (ช่วง พ.ค. 2564) ตอนนั้นจำนวนประกาศงานกลับเพิ่มขึ้นอย่างผิดคาด โดยติดลบแค่ -12.5% (เทียบกับ ม.ค. 2563) เหตุผลอาจเป็นได้ว่าผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวได้ และไม่คิดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศจะเพิ่มขึ้น จึงจ้างงานเพิ่ม ส่วนปัจจุบันที่เป็นการระบาดระลอก 4 (ช่วง ก.ค. 2564) มีเคสผู้ติดเชื้อใหม่สูงถึง 2 หมื่นกว่าคนตลอดหลายวันที่ผ่านมา ส่งผลให้จำนวนประกาศงานลดลงมาต่ำที่สุดอยู่ที่ -48.3% (เทียบกับ ม.ค. 2563)”

“โควิด-19 ระลอก 4 กระทบการจ้างงานรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่มีการระบาดเกิดขึ้น และคาดว่าการจ้างงานอาจจะลดลงยาวไปจนถึงสิ้นปี 2564 เพราะช่วงปลายปีเป็น low season ของตลาดงานด้วย ส่วนช่วง high season ของตลาดงานไทยจะเป็นช่วง ม.ค.และ พ.ค.ของทุกปี ทั้งนี้ จำนวนประกาศงานจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลง และการฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น”

ไอที-การผลิต-ค้าปลีกตลาดต้องการ

นอกจากนั้น “พรลัดดา” ยังกล่าวถึงจำนวนประกาศงานบนเว็บไซต์ JobsDB ว่ามีผลกระทบบ้าง แต่ยังไม่มาก เพราะตัวเลขจำนวนประกาศหางานบน JobsDB ในครึ่งปีแรกของปี 2564 เป็นบวก 23.5% (เทียบกับครึ่งปีหลัง 2563) และยังเป็นบวก 10.9% (เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก 2563)

ดังนั้น เมื่อดูจากข้อมูลจำนวนประกาศหางานบน JobsDB ช่วงครึ่งแรกของปี 2564 พบว่าประเภทอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมไอที คิดเป็น 9.6%, อุตสาหกรรมการผลิต คิดเป็น 6.2% และอุตสาหกรรมการค้าปลีก-ส่ง คิดเป็น 5.5%

ส่วนประเภทอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไป โดยเติบโตขึ้นจากเดิมเมื่อเทียบระหว่างไตรมาส 1 ปี 2564 กับครึ่งปีหลังปี 2563 สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ อุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โตขึ้น +52.6%, อุตสาหกรรมประกันภัย โตขึ้น +48.0% และอุตสาหกรรมการผลิต โตขึ้น +41.7%

“แต่ทั้งนั้นอุตสาหกรรมไอทีติดอันดับต้น ๆ ของการจ้างงานมาโดยตลอด ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตที่เคยได้รับผลกระทบรุนแรงก่อนหน้านี้ จนต้องปิดโรงงานชั่วคราว ก็กลับมาดำเนินการแทบจะเหมือนเดิม จึงทำให้เกิดความต้องการแรงงาน จนมีประกาศรับคนเพิ่ม”

ท่องเที่ยว-โรงแรมการจ้างงานยังติดลบ

เมื่อพิจารณาเป็นสายงาน “พรลัดดา” กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 จากข้อมูลจำนวนประกาศหางานบนเว็บไซต์ JobsDB ปรากฏว่ากลุ่มสายงานที่มีความต้องการมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 15.3%, สายงานไอที คิดเป็น 14.8% และสายงานวิศวกรรม คิดเป็น 10.0%

ขณะที่สายงานที่มีการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไป โดยเติบโตขึ้นจากเดิมเมื่อเทียบระหว่างครึ่งปีแรกของปี 2564 กับครึ่งปีหลังปี 2563 สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ สายงานการจัดซื้อ โตขึ้น +43.0%, สายงานขนส่ง โตขึ้น +37.4% และสายงานประกันภัย โตขึ้น +36.4%

“การที่กลุ่ม 3 สายงานดังกล่าวมีสัญญาณฟื้นตัว เป็นเพราะได้รับแรงขับเคลื่อนจากวิกฤตโควิด-19 ที่มีคนต้องการซื้อสินค้าออนไลน์ และต้องใช้บริการขนส่งมากขึ้น ขณะเดียวกัน ตอนนี้คนเป็นห่วงเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทำให้มีผู้สนใจซื้อประกันต่าง ๆ และด้านธนาคารเองก็ต้องรองรับการทำธุรกรรมมากขึ้นด้วย ขณะที่สายงานการท่องเที่ยว การโรงแรม เป็นสายงานเดียวที่ยังคงติดลบ -5% เมื่อเทียบระหว่างครึ่งแรกปี 2564 กับครึ่งหลังปี 2563”

แอร์, สจ๊วตเปลี่ยนอาชีพแห่สมัครงานใหม่

ที่ผ่านมามีพนักงานสายการบิน (แอร์, สจ๊วต) หางานใหม่จำนวนมาก จากที่พูดคุยกับผู้ประกอบการหลายรายพบว่างานที่ไม่ได้กำหนดทักษะเฉพาะทาง แต่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ จะมีคนที่ทำงานสายการบินส่งใบสมัครมาเยอะที่สุด ส่วนการจ้างงานระยะสั้นหรือฟรีแลนซ์โตสวนทางกับการจ้างงานแบบเต็มเวลา ตอนนี้ตลาดงานฟรีแลนซ์โตขึ้นหลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19

“เหตุผลหลัก ๆ คือ ผู้ประกอบการต้องการลดการจ้างพนักงานประจำ เพื่อลดต้นทุน โดยหันมาใช้ฟรีแลนซ์แทน ซึ่งช่วงที่มีการระบาดระลอกแรกงานสายกราฟิกดีไซน์ต้องการแรงงานฟรีแลนซ์จำนวนมาก รองลงมาคือ การตลาดออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซ ส่วนแนวโน้มการลดค่าจ้างครึ่งปีแรกของปี 2564 ได้รับผลกระทบน้อยลงจากปีที่แล้ว ทั้งยังไม่มีกระแสการลดเงินเดือน”

เทรนด์คนทำงานออฟฟิศเหลือ 7%

นอกจากนั้น “พรลัดดา” ยังกล่าวถึงผลสำรวจเพื่อศึกษาเทรนด์ของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19 พบว่า 73% ของคนทำงานเลือกจะทำงานแบบผสมผสาน ระหว่างการทำงานออฟฟิศสลับกับการทำงานระยะไกล หรือที่บ้าน ที่สำคัญปัจจุบันมีพนักงานเลือกเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลาเพียง 7% เท่านั้น

นอกจากนั้น ปัจจัยที่คนทำงานให้ความสำคัญมากที่สุดในการทำงานเปลี่ยนแปลงไปช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 โดยสิ่งที่คนให้ความสำคัญ อันดับ 1 คือ อัตราเงินเดือนและผลตอบแทน, อันดับ 2 ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงาน และอันดับ 3 ความรู้สึกภาคภูมิใจกับงาน ในขณะที่เมื่อก่อน (ปี 2562) สิ่งที่คนให้ความสำคัญ อันดับ 1 คือ ความสมดุลของชีวิตและงาน, อันดับ 2 ความภาคภูมิใจกับงาน และอันดับ 3 ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงาน