“ดาว” ผนึก “พันธมิตร” เปลี่ยนขยะทะเลเป็นวัสดุก่อสร้าง 

ขยะทะเล

นับเป็นอีกครั้งที่กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (DOW) ประกาศเป้าหมายให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนในการลดปริมาณขยะพลาสติก ทั้งยังป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน

ด้วยการจับมือกับภาคประชาคมวิจัยได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ลงนามบันทึกข้อตกลง “ความร่วมมือภาคีเครือข่าย ขยะทะเล…สู่…การเพิ่มรายได้ชุมชนระยอง” โดยร่วมกับวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพชุมชนเกาะกก และหมู่บ้านเอื้ออาทร จ.ระยอง (วังหว้า)

ทั้งยังส่งเสริมให้ทั้ง 2 ชุมชนนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ ด้วยการถ่ายทอดนวัตกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้างจากพลาสติกใช้แล้วให้กับชุมชน เพื่อหวังสร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิต และลดปัญหาขยะในทะเลไทยอย่างยั่งยืน

ตลอดเวลาผ่านมากลุ่มดาว ประเทศไทยให้การสนับสนุนหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาพลาสติกมาโดยตลอด ยกตัวอย่าง การเข้าร่วมเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง PPP Plastic ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเชื่อมเครือข่ายเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน

ด้วยการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ เน้นให้ความรู้การแยกขยะที่ต้นทางให้กับชุมชนหลายแห่งทั่วประเทศ รวมถึงโครงการถนนพลาสติกที่ร่วมกับเอสซีจีพัฒนาเทคโนโลยีการทำถนนจากพลาสติกใช้แล้ว โดยพัฒนาให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและการใช้งานในประเทศ ทั้งยังร่วมกับบริษัทอื่น ๆ ในการส่งเสริมการบริหารจัดการพลาสติกในประเทศไทย

“ฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย” ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะที่ดาวเป็นหนึ่งในบริษัทด้าน materials science รายใหญ่ที่สุดของโลกจึงตระหนักถึงปัญหาพลาสติกใช้แล้วที่หลุดรอดไปสู่สิ่งแวดล้อม และพยายามหาวิธีการต่าง ๆ เข้ามาจัดการอย่างยั่งยืน

“โดยตั้งเป้าจะช่วยหยุดขยะพลาสติก ทั้งยังมุ่งมั่นผลักดันให้พลาสติกใช้แล้วจำนวน 1 ล้านตันจากทั่วโลกถูกเก็บกลับมาใช้ประโยชน์หรือรีไซเคิล ซึ่งความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายครั้งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งในโครงการที่จะนำผลงานด้านการศึกษา และงานวิจัยแต่ละแห่งมาใช้ประโยชน์ ซึ่งดาวพร้อมที่จะเป็นฟันเฟืองในการประสานงานระหว่างประชาคมวิจัย และกลุ่มชุมชน เพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จ”

“โครงการความร่วมมือระหว่างภาคประชาคมวิจัยและชุมชนระยอง นับเป็นการต่อยอดจากโครงการเก็บขยะชายหาดระยองที่กลุ่มดาวดำเนินมาตลอดในวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 3 ของเดือนกันยายนทุกปี และจากการสังเกตขยะที่เก็บได้ส่วนใหญ่บริเวณชายหาดล้วนเป็นถุงพลาสติก ขวดพลาสติกหลากหลาย”

“สิ่งเหล่านี้เล็งเห็นว่าหากทิ้งไว้นาน หรือมีการเคลื่อนตัวลงไปลอยแช่ในน้ำทะเลเป็นระยะเวลานาน ไม่เพียงแต่ทำลายระบบนิเวศ ยังทำให้คุณสมบัติบางอย่างของพลาสติกสูญเสียไปด้วย ทั้งนี้การจะนำกลับมาใช้ใหม่ หรือเก็บเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลจะทำได้ยาก แต่ขณะเดียวกัน ยังพอมีองค์ประกอบบางส่วนที่ใช้งานได้ แทนที่จะทิ้งแต่นำไปประกอบเป็นวัสดุก่อสร้าง และสามารถสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ ที่สุดจึงเป็นความร่วมมือขึ้น”

“ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง” ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า การร่วมมือครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการนำผลงานการวิจัย และนวัตกรรมของแผนงาน “วิจัยท้าทายไทย ทะเลไทยไร้ขยะ” สู่การนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ไขและลดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติก

“โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะพลาสติกเพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน สร้างเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในพื้นที่จนก่อให้เกิดการผลักดันนโยบายและสร้างความตระหนักต่อปัญหาการจัดการขยะในวงกว้าง รวมถึงยังสร้างระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่มุ่งลดของเสีย และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด”

“วช.ในฐานะหน่วยงานวิจัยจะสนับสนุนชุมชนด้วยการนำความรู้งานวิจัยลงไปถ่ายทอด รวมถึงจะมีการร่วมสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์ผลิตวัสดุก่อสร้างจากพลาสติกใช้แล้ว เพื่อทำให้ภาคชุมชนทั้ง 2 แห่ง จากที่เป็นต้นแบบการบริหารจัดการขยะกลายเป็นต้นแบบนำร่องนำพลาสติกมาผลิตวัสดุก่อสร้าง กระทั่งขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ ต่อไป”

“ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองในอีกมุมว่า ม.เกษตรศาสตร์เป็นหน่วยงานซึ่งได้รับจัดสรรทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ทั้งยังเป็นผู้บริหารแผนงานวิจัยท้าทายไทย : ทะเลไทยไร้ขยะ ที่มีเป้าประสงค์ในการจัดการปัญหาขยะพลาสติกในทะเล

“พร้อมกับดำเนินงานการวิจัยในหลายส่วน อาทิ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมในการรวบรวมจัดเก็บขยะพลาสติกตกค้างทั้งทางบกทางทะเล, การติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการตกค้างของขยะพลาสติก รวมทั้งนวัตกรรมการนำขยะพลาสติกมาแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม”

“โดยมีเครือข่ายนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีเป็นผู้ร่วมดำเนินการ และอย่างที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันพลาสติกคือตัวทำลายระบบนิเวศทางทะเล เพราะทำให้เกิดไมโครพลาสติกอันเป็นตัวร้ายเข้าไปสะสมในร่างกายสัตว์ทะเล ทั้งยังส่งผลร้ายต่อสุขภาพมนุษย์ตามมา ฉะนั้น เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนในการแก้ปัญหา”

“ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวเสริมว่า ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในฐานะหน่วยงานวิจัยหนึ่งภายใต้แผนงานวิจัยท้าทายไทย : ทะเลไทยไร้ขยะ ได้วิจัยและออกแบบนวัตกรรมในการนำขยะพลาสติกจากทะเลมาเป็นวัตถุดิบในวัสดุก่อสร้างที่ชุมชนสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้เอง เช่น กระเบื้องพื้นสนาม, กระถางต้นไม้

“เพราะนอกจากจะเป็นการกำจัดขยะพลาสติก ยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในระยะยาว ซึ่งเรามีความภูมิใจที่งานวิจัยที่ประชาคมวิจัยร่วมกันทุ่มเทได้รับการยอมรับ และถูกนำมาใช้งานผ่านการสนับสนุนจากภาคเอกชน และความพร้อมของกลุ่มชุมชน ส่วนการนำพลาสติกมาผสมใช้ในวัสดุก่อสร้างจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีน้ำหนักเบา และลดการใช้วัสดุที่ใช้แล้วหมดไป เช่น ทราย และหิน หากนำก้อนอิฐไปทำเป็นวัสดุปูพื้นนอกอาคารก็จะช่วยลดความร้อนของพื้นผิว สามารถเดินหรือทำกิจกรรมในเวลากลางแจ้งได้”

“วัสดุก่อสร้างที่ได้จากโครงการนี้จะมีมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ใช้สำหรับการก่อสร้างภายนอกอาคาร เช่น บล็อกปูพื้น คอนกรีตบล็อก และขอบคันหิน โดยจะใส่พลาสติกทดแทนหินและทรายในสัดส่วน 0.4-1.5 กิโลกรัมต่อชิ้น หรือประมาณ 6-10% ของน้ำหนักทั้งหมด ซึ่งราคาไม่ต่างจากวัสดุทั่วไป ทั้งยังมีความคงทนเทียบเท่าของเดิมอีกด้วย”

“สำหรับความคุ้มค่า ผมมองว่าเดิมทีพลาสติกเป็นสิ่งที่เราต้องเสียเงินในการกำจัดด้วย ฉะนั้น การนำมาใช้ประโยชน์ใหม่หรือผสมให้เกิดเป็นชิ้นงานใหม่ขึ้นมาจึงเป็นการลดต้นทุนในการกำจัดพลาสติกในประเทศด้วย ผมมองว่างานนี้คุ้มค่าเพราะนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในเชิงอุตสาหกรรม คาดว่าเมื่อทำสำเร็จจะสร้างรายได้ให้ชุมชนถึงกว่า 400,000-1,500,000 บาทต่อปี ทั้งยังช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกกว่า 30,000 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม”

“สำราญ ทิพย์บรรพต” ประธานวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมอาชีพชุมชนเกาะกก กล่าวเสริมว่า ชุมชนเกาะกกเป็นการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อผลิตสินค้าเกษตร และการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อจำหน่ายเป็นหลัก มีทั้งวางขายหน้าร้านและบนเว็บไซต์ของชุมชน รวมถึงตลาดอื่น ๆ ทั้งลาซาด้า, เว็บไซต์ไปรษณีย์ไทย

“โดยหัวใจหลักการทำงานของชุมชนแบ่งออกเป็น 2 ด้านคือ ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน ส่วนอีกด้านคือชุมชน ด้วยการส่งเสริมให้รวมกลุ่มกัน โดยแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม เพื่อผลิตแปรรูปสินค้าจำหน่าย”

“ซึ่งโครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นวัสดุก่อสร้างครั้งนี้ นับเป็นการต่อยอดสู่เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ชุมชนมุ่งเน้นจะดำเนินอย่างจริงจัง เพราะนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ยังตอบโจทย์ในเรื่องเศรษฐกิจสังคมด้วย คิดว่าโครงการนี้จะทำให้เกิดการสร้างทักษะเล็ก ๆ และสร้างงานใหม่ ๆ ให้กับชุมชน”

“สายัณห์ รุ่งเรือง” ประธานชุมชนหมู่บ้านเอื้ออาทรจังหวัดระยอง (วังหว้า) กล่าวในตอนท้ายว่า ชุมชนของเราเป็นต้นแบบการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยจะให้ผู้อาศัยในชุมชนคัดแยกขยะเป็น 2 ประเภทคือขยะทั่วไปและขยะรีไซเคิล เพื่อง่ายต่อการคัดแยก และจะมีจุดทิ้งขยะอันตรายไว้

“จากนั้นจะมีจิตอาสาของชุมชนเก็บขยะตามบ้าน แบ่งวันเวลาชัดเจน ขยะที่ใช้ได้จะนำส่งเทศบาลเมืองแกลงเพื่อทำลายอย่างถูกวิธี ส่วนขยะที่เหลือไม่สามารถรีไซเคิลได้จะนำมาทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมโรงเลี้ยงไส้เดือน, กิจกรรมโรงหมักน้ำชีวภาพ, กิจกรรมปุ๋ยหมักชีวภาพ”

“อีกทั้งยังมีการจัดตั้งธนาคารขยะรีไซเคิลให้ผู้อาศัยนำขยะรีไซเคิลมาขาย และแลกของใช้ส่วนตัว หรือของใช้ครัวเรือนได้ เพื่อให้พวกเขารู้ถึงคุณค่าของขยะรีไซเคิล ทั้งยังเป็นการช่วยจำกัดขยะตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง และจากการดำเนินการผ่านมาทำให้เราเป็นชุมชนต้นแบบมีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศมาเยี่ยมชมโครงการอย่างต่อเนื่อง”

“โดยเรามุ่งหวังว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างงานใหม่ ๆ แก่คนในชุมชน ทั้งยังช่วยส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน อันส่งผลให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”

ด้วยการเป็นต้นแบบของความร่วมมือในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาในชุมชน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี จนนำไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน