วิศวะมหิดล โชว์หุ่นยนต์ผ่าตัดช่วยแพทย์

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีและผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และชีวการแพทย์ (BART LAB)
CSR Talk

เนื่องเพราะงานนิทรรศการ AI และ Big Data กองทัพเรือ ประจำปี 2564 ผ่านระบบออนไลน์เสมือนจริง (virtual exhibition) โดยกรมการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือกองทัพเรือ ซึ่งมี “พลเรือเอกชาติชาย ศรีวรขาน” ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานเปิดงานเมื่อเร็ว ๆ นี้

ขณะที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย “รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์” คณบดีและผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และชีวการแพทย์ (BART LAB) แสดงผลงานหุ่นยนต์ AI ช่วยผ่าตัด นวัตกรรมฝีมือคนไทย เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนเสริมสร้างความตื่นตัวการใช้นวัตกรรมของคนไทย และเผยแพร่องค์ความรู้การประยุกต์ใช้หุ่นยนต์และ AI ในการแพทย์และสุขภาพมากยิ่งขึ้น

“รศ.ดร.จักรกฤษณ์” กล่าวว่า สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลก่อตั้งเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและอาเซียน โดยนำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ผสมผสานแพทยศาสตร์มาตอบโจทย์แก้ปัญหา สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ มาเสริมประสิทธิภาพบุคลากรทางการแพทย์ในการทำงานบำบัดรักษาผู้ป่วยได้สะดวกและแม่นยำยิ่งขึ้น

“ทั้งนี้ วิศวกรชีวการแพทย์เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานทั่วโลกสูงมาก โดยจะต้องมีความรู้ในศาสตร์เทคโนโลยีวิศวกรรม และพื้นฐานทางการแพทย์ ปัจจุบัน BART LAB มีห้องแล็บผ่าตัดจำลอง และได้พัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง (www.BARTLAB.org) เพื่อแก้ปัญหาของประเทศไทยซึ่งขาดแคลนแพทย์ที่มีความชำนาญสูง ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย เช่น DoctoSight หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์อัจฉริยะ ระบบนำทางผ่าตัดมะเร็งเต้านมและหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ที่ทำงานร่วมกับศัลยแพทย์ได้”

“จุดเด่นของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะสามารถทำงานได้ดีกว่ามนุษย์ในหลายด้าน เช่น ความแม่นยำสูงในพื้นที่ทำงานอันจำกัด ลดระยะเวลาการผ่าตัด และเพิ่มประสิทธิผล ลดความผิดพลาดจากความเหนื่อยล้า ทำงานได้ตลอด 24 ชม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสำหรับการเปิดแผลเล็กนั้น”

“เพราะปกติการผ่าตัดประเภทนี้จะต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก และมีความชำนาญในพื้นที่อันละเอียดอ่อนและจำกัด เมื่อมีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะช่วยแพทย์ให้การผ่าตัดได้รับความแม่นยำและมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น พร้อมลดภาระบุคลากรลงด้วย”

“รศ.ดร.จักรกฤษณ์” กล่าวต่อว่า หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Minimal Invasive Surgery : MIS) ที่นำมาแสดงสาธิตในงานนี้ คือ หุ่นยนต์ผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งในการผ่าตัดจะเจาะรูเล็ก ๆ เพียง 1-2 ซม.บริเวณผิวหนังที่ต้องการจะผ่าตัด เพื่อสอดอุปกรณ์ผ่าตัดและกล้องขนาดเล็กเข้าไป หุ่นยนต์จะทำหน้าที่ช่วยถือจับอุปกรณ์การผ่าตัดอย่างมั่นคง โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ควบคุมการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ ซึ่งจะอิงอยู่กับจุดที่ผ่าตัดที่กำหนดไว้ไม่ให้เคลื่อนออกพ้นจากจุดที่ผ่าตัดเปิดแผลไว้ ช่วยป้องกันความเสียหายของเนื้อเยื่อ

“ที่สำคัญ เมื่อต้องฆ่าเชื้อสามารถถอดอุปกรณ์ออกมาได้ หรือระหว่างการผ่าตัดต้องเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องมือบ่อยครั้ง ไม่เป็นอุปสรรคในลักษณะของการขับเคลื่อน หุ่นยนต์จะขับเคลื่อนเข้ามาช่วยให้แพทย์ทำงานอย่างแม่นยำเพิ่มมากขึ้น โดยใช้ระบบขับเคลื่อนผ่านสายส่งกำลัง เป็นระบบที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษ จะมีตัวส่งกำลังระบบมอเตอร์สำหรับขับเคลื่อนหุ่นยนต์อยู่ด้านหลัง”

“นอกจากนี้ ในยุคเทคโนโลยีสื่อสารก้าวหน้า เรายังพัฒนาระบบผ่าตัดที่ควบคุมระยะไกล ทำให้ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถเชื่อมต่อกับหุ่นยนต์และทีมแพทย์ที่อยู่หน้างานกับผู้ป่วยได้แม้จะอยู่ในที่ห่างไกลกัน เช่น กรณีศัลยแพทย์อยู่ในกรุงเทพฯ แต่ผู้ป่วยอยู่ต่างจังหวัดต้องได้รับการผ่าตัดด่วน การมีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่หน้างานจะสามารถตัดสินใจและเรียนรู้การทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์กับหุ่นยนต์ได้ใช้งานง่าย”

“ซึ่งถอดแบบจากผู้ที่มีประสบการณ์ความชำนาญสูง ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้แพทย์ในการรักษาบำบัดผู้ป่วยได้แม่นยำรวดเร็ว สามารถเข้าถึงอวัยวะที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนได้ในพื้นที่ทำงานอันจำกัด ผู้ป่วยได้รับการบำบัดรักษาที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น แผลเล็กเสียเลือดน้อย เจ็บแผลน้อยฟื้นตัวเร็ว”

ทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยคนอื่นมากขึ้น


เพราะปัจจุบันทีม BART LAB กำลังพัฒนาการเชื่อมต่อโดยยึดหลักความปลอดภัย และประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์และหุ่นยนต์เป็นสำคัญ