“บางจาก” ตั้งเป้า net zero ปี 2050 เพิ่มธุรกิจสีเขียว-ซื้อขายคาร์บอน

ภาพ: Aappolinar Kalashnikova

กลุ่มบางจากตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 เน้นนวัตกรรมสีเขียว ลดปล่อยมลพิษในทุกธุรกิจ สร้างคลับร่วมมือพันธมิตรซื้อขายคาร์บอนเครดิต

วันที่ 30 สิงหาคม 2564 บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เผยเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero) ในปี 2050 และมีเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ (carbon neutral) ในปี 2030 โดยนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเรื่องนี้ในงานสัมมนาเป้าหมายลดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) กับทิศทางพลังงานไทยโดยฐานเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า ทิศทางของอุตสาหกรรมน้ำมันจะถึงจุดสูงสุดของความต้องการน้ำมันโลก (peak oil demand) ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ดังนั้น องค์กรที่อยู่ในธุรกิจนี้จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างอย่างแน่นอน

“ภาพรวมของโลกในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas : GHG) ปัจจุบันอยู่ที่มากกว่า 45,000 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นประมาณ 0.9-1.0% ของโลก (หรือประมาณ 400 ล้านตัน/ปี) ซึ่งเมื่อพิจารณาจาก GDP ของไทย คิดเป็น 0.5% ของ GDP โลก แสดงว่าประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินไปเป็นเท่าตัว ดังนั้น ไทยควรดำเนินการเร่งและกระตุ้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร็วที่สุด”

สำหรับธุรกิจของกลุ่มบางจาก คิดเป็นประมาณ 1% ของ GDP ของประเทศไทย และปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ประมาณ 0.2% ของปริมาณที่ประเทศไทยปล่อยเท่านั้น

แผน 2 ระยะ มุ่งสู่ net zero

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

นอกจากนั้น กลุ่มบางจากยังได้ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2050 โดยระหว่างทางพยายามจะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2030 ซึ่งขณะนี้การบริหารธุรกิจต่าง ๆ ได้มุ่งหน้าสู่เป้าหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ

  1. การปรับปรุงประสิทธิภาพต่าง ๆ ในกระบวนการผลิตและใช้ผลิตภัณฑ์ เพื่อจะทำให้การปล่อยมลพิษ (emission) ลดลงให้ได้ 20% ในปี 2024 และไปได้ถึง 30% ภายในปี 2030
  2. มีกลไกอื่นที่จะมาช่วย เช่น การลงทุนในธุรกิจพลังงานสีเขียวและการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนให้ได้อีก 70%

ลดการปล่อย emission ในทุกธุรกิจ

นายชัยวัฒน์กล่าวด้วยว่า ธุรกิจหลักของกลุ่มบางจากคือ โรงกลั่นและสถานีบริการน้ำมัน แต่บริษัทได้ปรับเปลี่ยนเพิ่มสัดส่วนธุรกิจอื่น ๆ เข้ามา โดยเฉพาะธุรกิจสีเขียว ได้แก่ โรงไฟฟ้าสีเขียว ธุรกิจชีวภาพ ธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติต้นน้ำ

“ระหว่างปี 2014-2019 บางจากมี EBITDA เพิ่มขึ้น 50% แต่การปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้นไม่ถึง 20% เป็นผลจากการควบคุมการปล่อยมลพิษของกลุ่มบางจาก ส่วนในอีก 7-8 ปีข้างหน้า เราวางแผนขยายธุรกิจโดยจะมี EBITDA เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า แต่ให้มีการทยอยการลดการปล่อย CO2 จนเป็นศูนย์ในปี 2030 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญและท้าทาย”

ส่วนธุรกิจโรงกลั่นมีการปรับเป็น niche products refinery โดยในอนาคต 30% ของผลิตภัณฑ์ที่มาจากโรงกลั่น จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่น้ำมัน เพื่อลดการปล่อยมลพิษใน scope 3 (การปล่อยจากผู้ที่นำผลิตภัณฑ์ไปใช้) ในขณะเดียวกันก็เพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน และเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยใน scope 1 (การปล่อยโดยตรงจากกระบวนการผลิต) และ scope 2 (การปล่อยทางอ้อมจากพลังงานที่ใช้ในการผลิต)

ขณะที่ธุรกิจการตลาด สถานีบริการน้ำมัน greenovative destination มีการเพิ่มประสิทธิภาพ (efficiency improvement) ต่าง ๆ เช่น ติดตั้งหลังคาโซลาร์ นำน้ำจากหลังคามารดน้ำต้นไม้ และติดตั้ง EV Charger

ธุรกิจโรงงานไฟฟ้าพลังงานสีเขียว บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าแห่งเดียวในประเทศไทยที่ทุกอิเล็กตรอนที่ผลิตออกมาเป็นอิเล็กตรอนสีเขียว คือมาจากพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น และวันนี้กำลังเข้าสู่ธุรกิจการกักเก็บพลังงาน (energy storage)

ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพของบีบีจีไอใช้นวัตกรรม synthetic biology ผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากพืชแทนสัตว์ เช่น เนื้อจากพืช เสื้อผ้า เครื่องสำอาง โดยไม่ต้องทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยมลพิษ โดยเฉพาะก๊าซมีเทนได้ และกำลังก่อตั้ง Syn Bio Consortium ร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อสร้างเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดธุรกิจ bio-based ต่าง ๆ นอกจากนั้น ยังมีธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีการลงทุนในธุรกิจที่เป็น frontier ธุรกิจที่จะเปลี่ยนโลก โดยล่าสุดคือธุรกิจไฮโดรเจน

สร้างคลับหนุนธุรกิจพลังงานสะอาด

กลุ่มบางจากร่วมกับพันธมิตรรวม 11 บริษัท ก่อตั้ง Carbon Markets Club สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาด กระตุ้นให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะช่วยทำให้มีการจัดสรรทรัพยากรโดยภาคเอกชนกันเอง

โดยธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษมาก จะนำเงินส่วนหนึ่งมาซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อเป็นการชดเชย และ Carbon Markets Club นำเงินส่วนนั้นมาพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาด โดยไม่ต้องพึ่งเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ซึ่งเป็นกลไกที่จะมาช่วยปิดช่องว่างในช่วง 5-10 ปีนี้ ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสีเขียวหรือพลังงานสะอาด เพื่อให้ธุรกิจด้านพลังงานสะอาดสามารถพัฒนาได้


โดย Carbon Markets Club วางแผนให้มีการซื้อขายกันทุก ๆ ไตรมาส และยินดีต้อนรับสมาชิกใหม่ทั้งประเภทองค์กรและประเภทบุคคล