กสร. ชี้แจงสิทธินายจ้าง-ลูกจ้าง หลังคลายล็อกดาวน์ จ่ายค่าจ้างปกติ

ภาพ: Vanna Phon

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงสิทธิหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้างในกิจการที่ได้รับการผ่อนคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564

วันที่ 31 สิงหาคม 2564 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงสิทธิหน้าที่ของนายจ้าง และลูกจ้าง ในกิจการที่ได้รับการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 29 จังหวัด (กทม. กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครนายก นครราชสีมา นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยะลา ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สงขลา สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง) ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564

พร้อมเน้นย้ำให้ดำเนินกิจการตามมาตรการและเงื่อนไขตามที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กำหนด เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เห็นชอบมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 29 จังหวัด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป มีผลให้สถานประกอบกิจการตามข้อกำหนดดังกล่าวสามารถเปิดและดำเนินกิจการได้ เช่น กิจการร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม เป็นต้น ซึ่งนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้กำชับให้ กสร.ดูแลสิทธิประโยชน์ของนายจ้างและลูกจ้าง

อภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

สำหรับกิจการที่ทางราชการผ่อนคลายให้ดำเนินกิจการได้ ดังนี้ ให้นายจ้างเรียกลูกจ้างมาทำงานตามปกติ หากนายจ้างไม่เรียกให้ลูกจ้างมาทำงาน นายจ้างยังมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้ อาจถือเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างโดยปริยาย ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง

สำหรับลูกจ้างมีหน้าที่ต้องไปทำงานตามที่นายจ้างเรียก หากลูกจ้างไม่ไปทำงานโดยไม่ได้ลางาน หรือหยุดงานโดยนายจ้างไม่อนุญาตหรือให้ความยินยอม อาจเป็นการขาดงาน ลูกจ้างอาจถูกลงโทษทางวินัยจากนายจ้างได้ และหากลูกจ้างขาดงาน 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร อาจถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย”


อธิบดี กสร. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้นายจ้างดำเนินกิจการตามมาตรการและเงื่อนไขที่ ศบค.ได้กำหนดไว้ เพื่อเป็นการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) และเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานรวมถึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้รับบริการหรือผู้บริโภคด้วย

ประกอบกิจการตามข้อกำหนด

อย่างไรก็ตาม ยังคงห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ตั้งแต่เวลา 21.00 น.- 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น และมาตรการการปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัย (Work From Home) ยังคงใช้ต่อไปอย่างน้อย 14 วัน