เปิดแล้ว ICU ศิริราชรวมใจ ระดมแพทย์ 3 รพ.ใหญ่ ประจำ 24 ชั่วโมง

รพ.ศิริราช ร่วมกับ เอสซีจี เปิดไอซียูสนาม “ICU ศิริราชรวมใจ” ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดอาการหนัก และทุกกลุ่มโรค ให้บริการแล้ว 20 เตียง ระดมแพทย์จาก 3 โรงพยาบาลใหญ่ ศิริราช ศิริราชปิยมหาราชการุณย์–ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ประจำ 24 ชั่วโมง

วันที่ 2 กันยายน 2564 ที่โรงพยาบาลศิริราช ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว) พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง อว.ได้เดินทางไปเยี่ยมชม ICU ศิริราชรวมใจ ซึ่งเป็นนวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ จำนวน 20 เตียง เป็นการผลึกกำลังสร้างนำโดย บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับดูแลผู้ป่วยหนักทั้งโควิด และทุกกลุ่มโรค

โดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ศิริราชถือเป็นป้อมปราการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทย ที่ต่อสู้ ทุ่มเทอย่างสุดชีวิตเพื่อรักษาชีวิตคนไทย การจัดสร้าง ICU ศิริราชรวมใจ เป็นการขยายการดูแลผู้ป่วยในภาวะวิกฤตที่ไม่ใช่เฉพาะผู้ป่วยโควิด แต่ยังมีผู้ป่วยโรคหนัก ๆ หรือมีโรคประจำตัว หรือโรคแทรกซ้อนที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด

นอกจากการรักษาพยาบาลแล้ว ศิริราชเองยังได้ทำวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์มากมาย เช่น การศึกษาทดลองการฉีดวัคซีนไขว้ เพื่อหาโมเดลที่เหมาะสม การเตรียมข้อมูลสำหรับการฉีดเข็มที่ 3 และมีการวิจัยเกี่ยวกับชุดตรวจ ATK จนได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน อย. เป็นแห่งแรกของประเทศไทย และได้นำออกสู่ท้องตลาดแล้ว ศิริราชจึงทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างครบถ้วน แม้จะมีกฏหมายหรือกฏระเบียบบางอย่างที่ยังทำให้ไม่คล่องตัวในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ก็ยังพยายามทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ตนในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ และแก้ไขกฏระเบียบเพื่อการทำงานให้คล่องตัวยิ่งขึ้น

รมว.อว. กล่าวต่อว่า ต้องขอขอบคุณ เอสซีจี ซึ่งเป็นบริษัทในหัวใจของคนไทย ที่เป็นผู้สนับสนุนหลักในการจัดสร้าง ICU ศิริราชรวมใจ ที่ผ่านมาเอสซีจีได้ทำสาธารณะประโยชน์ให้สังคมไทยมากมาย และร่วมนำพาเศรษฐกิจไทยสู่ทิศทางที่ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ยังทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมมามาก ตนทราบว่าเอสซีจีมีรายได้เพิ่มหลายหมื่นล้านบาทจากการทำวิจัยและพัฒนา ซึ่งเชื่อว่าหลังวิกฤตโควิด คนไทยจะสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ในหลากหลายมิติ และจะต้องมีธุรกิจ อาชีพใหม่ ๆ และผลิตภัณฑ์เกิดขึ้นอีกมากมาย สิ่งที่ศิริราชและเอสซีจีทำไม่เพียงแต่จะนำพาประเทศให้รอดพ้นวิกฤต แต่ยังจะช่วยปูทางให้ไทยก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่ใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเป็นพื้นฐานด้วย

ด้าน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หอผู้ป่วยวิกฤตโควิด 19 ที่รองรับผู้ป่วยหนักเต็มทุกเตียง ทำให้ รพ.ศิริราช ต้องขยายพื้นที่จัดตั้ง ICU สนามขึ้นรองรับผู้ป่วยหนักเพิ่มอีก 20 เตียง อย่างเร่งด่วนบริเวณข้างสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ใกล้กับท่าเรือรถไฟขณะนี้ ICU สนาม ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ภายใต้ชื่อ ICU ศิริราชรวมใจ

และเปิดรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาวันแรกเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ผ่านมา ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำใจจากประชาชน ที่ร่วมใจกันบริจาคเงินอย่างต่อเนื่อง การออกแบบและจัดสร้างอาคารแบบโมดูลาร์ โดยเอสซีจี และยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากบุคลากรทางการแพทย์ในเครือทั้ง 3 โรงพยาบาล คือ รพ.ศิริราช รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ประจำตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยหนักครอบคลุมทั่วถึงทุกกลุ่มโรคที่ติดเชื้อโควิด

ขณะที่นายแพทย์วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช กล่าวว่า ICU ศิริราช ได้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2564 งบประมาณ 100 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 อาคาร 20 เตียง เพื่อดูแลผู้ป่วยหนักโควิดที่มีโรคประจำตัวซับซ้อน หรือมีภาวะเร่งด่วนวิกฤต ครบครันด้วยเครื่องมือแพทย์มาตรฐานเดียวกับไอซียูในโรงพยาบาล มีระบบสนับสนุนเพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ อาคารสนับสนุนเพื่อเป็นที่ทำงานและที่พักบุคลากร ห้องเก็บยาและเวชภัณฑ์ มีครุภัณฑ์ที่จำเป็น ระบบปรับอากาศ ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำสำเร็จรูป รวมทั้งหน่วยงานสนับสนุนอื่น ๆ เป็นต้น

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีเล็งเห็นถึงวิกฤตการขาดแคลนห้องไอซียูของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ป่วยเข้ามารับการบริการจำนวนมาก ขณะที่ห้องไอซียูมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยขั้นวิกฤตที่เพิ่มขึ้น จึงได้เร่งสร้างนวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ (MODULAR ICU) จำนวน 20 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดขั้นวิกฤต และผู้ป่วยโควิดที่มีโรคประจำตัวแทรกซ้อนที่ต้องการรับการผ่าตัดและรักษาได้ทันท่วงที

อีกทั้งยังช่วยสร้างความมั่นใจลดความเสี่ยงการติดเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในเครือศิริราช ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ซึ่งจะช่วยสร้างความปลอดภัยและความอุ่นใจให้ผู้ป่วยและครอบครัวที่เข้ามารับการรักษา

สำหรับนวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์นี้ ใช้เวลาก่อสร้างโดย 1 อาคาร ขนาด 10 เตียง ใช้เวลาผลิตในโรงงาน 1 สัปดาห์ และติดตั้งหน้างานอีก 1 สัปดาห์ จึงทำให้สามารถรองรับการให้บริการแก่ผู้ป่วยได้ทันท่วงที ทั้งนี้ เอสซีจี ได้ให้การสนับสนุนการก่อสร้างทั้งสิ้น 5 ล้านบาท ภายใต้มูลค่าโครงการการก่อสร้างรวม 20 ล้านบาท

​นายรุ่งโรจน์ กล่าวต่อว่า นวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ออกแบบและก่อสร้างได้อย่างรวดเร็วจากการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ จากโรงงาน โดยระบบ Modular สามารถควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างตั้งแต่การออกแบบจนถึงการผลิตจากโรงงานเพื่อมาประกอบบริเวณหน้างานได้อย่างมีมาตรฐาน ถูกออกแบบตามฟังก์ชั่นการทำงานของข้อกำหนดห้อง ICU ที่มีทีมแพทย์เป็นที่ปรึกษา โดยห้องสามารถควบคุมแรงดันอากาศได้เหมาะสมและปลอดภัย ทั้งระบบความดันบวก(POSITIVE PRESSURE ROOM) เพื่อกำจัดเชื้อโรคและฝุ่น และระบบความดันลบ (NEGATIVE PRESSURE ROOM) เพื่อจำกัดการแพร่กระจายและลดเชื้อไวรัสออกสู่ภายนอกอาคาร

​สำหรับพื้นที่การใช้งานแบ่งเป็น 5 ส่วน

​1.ICU ZONE สำหรับเตียงผู้ป่วยพร้อมบอกตำแหน่งระบบยังชีพต่าง ๆ ที่จะเชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาล โดยระบบการจัดการอากาศใน ZONE นี้ใช้ระบบห้องความดันลบ (NEGATIVE PRESSURE ROOM)

​2.NURSING STATION ZONE สำหรับพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย โดยแบ่งเป็น MONITOR ROOM สำหรับพยาบาลที่ดูแลเฝ้าระวัง และ STAND-BY ROOM สำหรับพยาบาลที่เตรียมสวมชุด PPE พร้อมสำหรับเข้าไปดูแลผู้ป่วย ICU โดยระบบการจัดการอากาศใน ZONE นี้ใช้ระบบห้องความดันบวก (POSITIVE PRESSURE ROOM)

​3.MEDICAL PREPARATION สำหรับจัดเก็บเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับผู้ป่วย

4.ANTE ROOM ขาเข้าสำหรับควบคุมความดันก่อนเข้าสู่พื้นที่ ICU Zone

​5.ANTE ROOM ขาออกแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ลำเลียงผู้ป่วยเข้าและออกจากพื้นที่ ICU ส่วนสำหรับทิ้งขยะติดเชื้อต่าง ๆ ส่วนถอดชุด PPE พร้อมทางเดินไปสู่ห้องน้ำเพื่อทำความสะอาดร่างกายเมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติหน้าที่