ส่อง “สิงคโปร์” การทำงานแห่งอนาคต ปรับออฟฟิศ-ดูแลคน-ดึงนักลงทุน

ภาพ: Reuters

ส่องสิงคโปร์พัฒนา future of work เน้นการดูแลพนักงาน เชื่อมโยงคนจากระยะไกล หาทางออกให้การทำงานยุคใหม่ไม่กระทบนักลงทุนไหลออกจากประเทศ

วันที่ 3 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ประเทศสิงคโปร์ได้ระดมนักคิดชั้นนำ จากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อหารือเกี่ยวกับอนาคตที่ดีของการทำงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และวิธีที่จะสร้างสถานที่ทำงานในประเทศที่ดีขึ้น พร้อมกับขับเคลื่อนผลลัพธ์อย่างยั่งยืน ในฟอรัมประจำปี Ricoh Eco Action Day 2021 ซึ่งจัดโดย Ricoh Singapore ร่วมกับ Eco-Business บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา

“เกรซ ฟู” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม สิงคโปร์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน โดย 3 ประเด็นหลักที่สิงคโปร์นำมาพิจารณา คือ

1) form of work (รูปแบบการทำงาน) องค์กรต่าง ๆ เคลื่อนไปสู่รูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น (flexible) ไม่ว่าจะเป็นด้านสถานที่ หรือด้านเวลา แต่คำถามสำคัญคือ จะดูแลสวัสดิภาพของพนักงานได้อย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์ที่ขอบเขตการทำงานที่บ้าน (work from home) กับการใช้ชีวิตส่วนตัวผสานกันแทบจะเป็นเรื่องเดียว

“รูปแบบการทำงานที่บ้านทำให้เราได้ยินเรื่องปัญหาด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น ไม่เพียงคนทำงานบริษัท แต่รวมถึงคนที่ทำงานอิสระ หรือ gig workers ก็มีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงด้านค่ารักษาพยาบาล หรือด้านการเงินหลังจากเกษียณ สิ่งเหล่านี้เป็นความเครียดที่วนเวียนอยู่ในสังคมการทำงาน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ การดูแลสภาพจิตใจของคนทำงานด้วย”

ภาพ: ยูทูป Eco-Business, เกรซ ฟู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม สิงคโปร์

2) work culture (วัฒนธรรมการทำงาน) สถานที่ทำงานต้องมีรูปแบบที่เป็นประชาธิปไตย มีการใช้ hotdesking ซึ่งคือการที่ผู้บริหารระดับสูงและพนักงานระดับปฏิบัติการทำงานในพื้นที่เปิดร่วมกัน และพนักงานทุกคนสามารถนั่งทำงานตรงไหนก็ได้ในสำนักงาน

“ที่สิงคโปร์เราเริ่มเห็นการลดโครงสร้างลำดับขั้น (hierarchical structure) มากขึ้น ถึงแม้ในมุมของกระบวนการทำงานหรือการอนุมัติเรื่องสำคัญ ๆ ยังมีลำดับขั้นที่จำเป็นอยู่ แต่การสื่อสารมีลำดับขั้นลดลงมาก การทำโครงสร้างองค์กรให้แบน (flat) มีความจำเป็นต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ในองค์กร”

3) work infrastructure (โครงสร้างพื้นฐานในสำนักงาน) ออฟฟิศจะไม่ใช่ที่รวมตัวของพนักงานทุกคน ดังนั้นองค์กรต่าง ๆ ต้องคิดหาวิธีการสร้างการเชื่อมต่อระหว่างพนักงาน ทำให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีม และหาทางจัดการกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยทำแบบมารวมตัวกัน ให้แบบทำระยะไกลได้

“นอกจากนั้น เรื่องพื้นที่สำนักงานก็เป็นเรื่องสำคัญที่สิงคโปร์นำมาพิจารณา โดยมุมมองของหน่วยงานภาครัฐ เรามองถึงการจัดรูปแบบเมืองที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจเปลี่ยนไป เพราะเห็นเทรนด์ของบริษัทต่าง ๆ มีการจัดการรูปแบบสถานที่ทำงานใหม่ และไม่ต้องการใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ต้องพิจารณาด้านธุรกิจมากขึ้นเช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังตัดสินไม่ได้ชัดเจน เพราะเราเริ่มเห็นว่า บ้านไม่ใช่สถานที่ทำงานระยะยาว เพราะคนต้องการมีพื้นแยกออกจากคนอื่นในครอบครัว เพื่อความส่วนตัวในการทำงาน และการล็อคดาวน์เป็นเวลาหลายเดือนและข้อจำกัดทางการเข้าสังคมในการหยุดการแพร่กระจายของโควิด-19 ทำให้คนต้องการมาพบปะกัน

ทั้งนี้ การที่คนทำงานในสายงานที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้คน (non-essential worker) ต้องทำงานอยู่ที่บ้าน เพื่อช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้กับประเทศ เพราะมีลดการเดินทางโดยยานพาหนะ ทั้งช่วยยังลดค่าใช้จ่ายของบริษัท

“แต่เราจะได้ประโยชน์จากการที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) น้อยลงได้แท้จริงอย่างไร หากบริษัทต่าง ๆ ไม่เปลี่ยน (remake) ตัวเองใหม่ ต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรในสำนักงานใหม่ เช่น หากมีพนักงานมาทำงานที่ออฟฟิศน้อยลง ก็ต้องเปิดไฟและเครื่องปรับอากาศน้อยลงไปด้วย เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่หลาย ๆ บริษัทในสิงคโปร์มีการเปลี่ยนไปใช้ระบบเซนเวอร์เปิดปิดไฟ และเครื่องปรับอากาศมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังคงต่ำอยู่”

“ฟู” กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญที่ประเทศสิงคโปร์พยายามหาคำตอบคือ เรื่อง “future location of work” (ตำแหน่งพื้นที่สำนักงานในอนาคต) เพราะที่ผ่านมาพื้นที่ที่เป็นจุดศูนย์กลางของธุรกิจมีความสำคัญในการดึงดูนักลงทุนมาที่สิงคโปร์

แต่เมื่อรูปแบบการทำงานเปลี่ยนไปอย่างในปัจจุบัน การทำงานเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ในประเทศ ซึ่งก็เท่ากับว่า การทำงานเกิดขึ้นที่นอกประเทศได้เหมือนกัน ดังนั้น เมื่อความสำคัญเรื่องของเอกลักษณ์ด้านพื้นที่น้อยลง การมีภาพจำว่าสิงคโปร์เป็นแหล่งการลงทุนอาจเปลี่ยนไปด้วย

“เราต้องหาคำตอบว่า จะดึงคนให้ทำงานอยู่ในประเทศได้อย่างไร สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศได้อย่างไร ที่ไหนจะเป็นฐานที่สร้างรายได้ และสิงคโปร์จะอยู่จุดไหนท่ามกลางการแข่งขันในโลก”

ภาพ: ยูทูป Eco-Business, Shee Tse Koon ผู้บริหารกลุ่มและหัวหน้าประเทศ ธนาคาร DBS

“Shee Tse Koon” ผู้บริหารกลุ่มและหัวหน้าประเทศ ธนาคาร DBS สิงคโปร์ กล่าวถึงการวิจัยของ DBS ว่า การกำหนดสูตรการทำงาน 60-40 ช่วยให้เกิดทำงานดีที่สุดสำหรับพนักงาน

โดย 60 เปอร์เซ็นต์เป็นการทำงานที่สำนักงาน และ 40 เปอร์เซ็นต์เป็นการทำงานจากที่ไหนก็ได้ (remote work) ซึ่งอาจเป็นสัปดาห์นี้ทำงานที่สำนักงาน 2 วัน และสัปดาห์ทำงานที่สำนักงาน 3 วัน เป็นต้น

“อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถมีการทำงานจากบ้านได้ 100% เพราะการปฏิสัมพันธ์และการทำงานร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญต่อวัฒนธรรมขององค์กร การที่ผู้คนไม่ใช้เวลาในสำนักงาน เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของบริษัทอาจสูญหายไป”