ระดมสมองรับมือโลกร้อน GCNT+UN ติดอาวุธภาคธุรกิจไทย

ภาวะโลกร้อน

จากการประชุมเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “Race to Zero : Meet the World’s Race to Zero Heroes for Climate Action” เมื่อไม่นานผ่านมา โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ร่วมกับสหประชาชาติ และศูนย์ความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชียและ
แปซิฟิกของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติในกรุงเทพมหานคร (UNFCCC RCC Bangkok)

ที่มีการเชิญชวนบุคคลแนวหน้า และผู้มีบทบาทต่อการขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลกมาร่วมรับฟัง และแบ่งปันข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ เพื่อทำความเข้าใจถึงกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการรับมือปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม จนที่สุดจึงเกิดมุมมองในหลายภาคส่วนด้วยกัน

โลกร้อนเข้าสู่ภาวะรุนแรง

เบื้องต้น “นพปฎล เดชอุดม” ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ในฐานะเลขาธิการสมาคมเครือข่าย เปิดเผยว่า ขณะนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความร้ายแรงขึ้นทุกขณะ โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ได้เผยแพร่รายงานประเมินสถานการณ์สภาพภูมิอากาศโลก ล่าสุดที่เลขาธิการสหประชาชาติเรียกรายงานฉบับนี้ว่า “Code Red” สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์โลกร้อนเข้าสู่ภาวะที่รุนแรงมาก

จากรายงานสรุปว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ได้ส่งผลกระทบต่อการเกิดสภาวะอากาศแปรปรวนอย่างสุดขั้วในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยขณะนี้กิจกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกภาคพื้นดินร้อนขึ้น 1.59 องศาเซลเซียส ส่วนในมหาสมุทรอุณหภูมิสูงขึ้น 0.88 องศาเซลเซียส

ดังนั้น สภาพอากาศที่แปรปรวนสุดขั้วกำลังอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้น นอกจากนี้ สิ่งที่น่าห่วงคือความล่มสลายของความหลากหลายทางชีวภาพ ปัจจุบันเกิดปรากฏการณ์ความเป็นกรดในน้ำทะเล ปัญหาปะการังฟอกขาว อันเป็นสาเหตุทำให้สัตว์ทะเลต้องสูญเสียแหล่งขยายพันธุ์ สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงถึงแหล่งโปรตีนสำหรับประชากรโลกด้วย และไม่เพียงเท่านี้ยังส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพอื่น ๆ จนทำให้สิ่งมีชีวิตบนโลกเกือบล้านสายพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์

“วันนี้ทั่วโลกเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกัน และทำงานให้หนักขึ้นเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะภาคธุรกิจต้องมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ ซึ่ง GCNT ทำงานร่วมกับองค์กรธุรกิจที่หลากหลายเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทเป็นผู้นำในการจัดการกับความท้าทายทางสภาพภูมิอากาศ”

“โดยเน้นการขับเคลื่อนในรูปแบบความร่วมมือที่มุ่งมั่น และแบ่งปันความรู้ในการจัดการปัญหานี้ร่วมกัน ทั้งยังทำให้ภาคเอกชนเข้าใจในเนื้อแท้เพื่อนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง เห็นเป้าหมายที่ชัดเจนและเข้าใจถึงการขับเคลื่อนต่าง ๆ ผ่านคำที่มีชื่อเรียกในทางเทคนิคทั้ง Race to Zero, Net Zero, Carbon Neutral, Science-based targets เป็นต้น”

ระดมสมองช่วยโลกร้อน

“นพปฎล” กล่าวต่อว่า GCNT จึงจัดให้มีเวทีระดมสรรพกำลังของภาคธุรกิจไทย เพื่อต่อสู้กับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเข้มข้นในการประชุมสุดยอดผู้นำความยั่งยืน GCNT Forum 2021 ในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจะถึงการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 เดือนพฤศจิกายน เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร

“โดยจะเปิดพื้นที่ให้กับทุกประเทศในการนำเสนอประเด็นต่าง ๆ การตั้งเป้าหมายเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อนภายในปี 2030 และจะทำอย่างไรเพื่อไปถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ net zero หรือการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปมากกว่าที่สามารถกำจัดได้ภายในปี 2050 ที่สำคัญจะได้เห็นความก้าวหน้าในเรื่องการสร้างกฎระเบียบในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เข้มแข็งและจริงจังมากขึ้น”

เอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว

ขณะที่ “กีต้า ซับบระวาล” ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า จากผลสำรวจของ Deloitte ระบุว่า กว่า 80% ของผู้นำธุรกิจทั่วโลกแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั่นหมายถึงผู้คนส่วนใหญ่ยอมรับว่าโลกกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยน ซึ่งต้องการความรับผิดชอบร่วมกันเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับการลงทุนกับเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเดิมทีการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมจะถูกมองว่าเป็นภาระต้นทุนต่อเศรษฐกิจ

“อย่างไรก็ตาม รายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ให้เห็นว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมสามารถก่อให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจสีเขียว 2-7 เท่า นี่คือเหตุผลว่าทำไมการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อเศรษฐกิจสีเขียวและความยั่งยืนของธุรกิจจึงเป็นสิ่งจำเป็น”

“ทั้งยังระบุอีกว่า ภาคเอกชนมีส่วนสำคัญมากในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งภาคเอกชนมีส่วนช่วยทำให้เกิด GDP มากกว่า 80% จึงมีบทบาทต่อการเป็นผู้นำที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศได้”

“ภาคเอกชน” หัวหอกสำคัญ

“เยนส์ หราดชินสกี้” หัวหน้าศูนย์ความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติในกรุงเทพมหานคร (UNFCCC RCC Bangkok) กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้เราอยู่ในจุดเริ่มต้นการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศต่าง ๆ สรุปแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศหลังปี 2020

“โดยปรับให้เข้ากับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศ พร้อมย้ำว่างานข้างหน้านั้นยิ่งใหญ่มาก และภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเร่งให้เกิดการแข่งขันเพื่อลดการปล่อยก๊าซให้เป็นศูนย์ อย่างช้าสุดภายในปี 2050”

นอกจากนี้ ในวงเสวนายังกล่าวถึงความสำคัญของภาคธุรกิจเอกชนทั่วโลก ที่ต้องร่วมมือเป็นแนวหน้ากับภาครัฐในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศให้บรรลุตามเป้าหมายความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่พยายามจำกัดให้อุณภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส รวมทั้งนำเสนอแนวทางปฏิบัติที่ภาคเอกชนจะมีส่วนร่วม

โดยผ่านโครงการริเริ่มเพื่อเป้าหมายที่อิงวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets Initiative) ที่มีการกำหนดแนวนโยบายและตัวชี้วัดของภาคเอกชนต่าง ๆ ต่อนโยบายด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่
น่าเชื่อถือ และวัดผลได้ทางวิทยาศาสตร์

พร้อมกับนำเสนอแคมเปญ Race to Zero ที่มีหน่วยงานและภาคธุรกิจจากทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 4,500 ราย มาร่วมปฏิญาณและให้พันธสัญญาร่วมกันที่จะดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์

กำหนดเป้าหมายอิงวิทยาศาสตร์

สำหรับ “เอ็มมา วัทสัน” จากโครงการริเริ่มเพื่อเป้าหมายที่อิงวิทยาศาตร์ (Science Based Targets Initiative) อธิบายว่า Science Based Targets (SBT) หรือเป้าหมายอิงทางวิทยาศาสตร์ เป็นการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีส บนพื้นฐานทาง climate science

“ซึ่งการตั้งเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์มีหลักการสำคัญ โดยพิจารณาปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมที่สามารถปล่อยทั้งโลก และจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไว้ให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ทั้งยังมุ่งสู่การจำกัดอุณหภูมิไว้ให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส”

ปัจจุบันมีบริษัทกว่า 1,713 แห่งทั่วโลกเข้าร่วมดำเนินเป้าหมายนี้แล้ว ซึ่งหลักการคือจะมีการตั้งเป้าหมายระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อให้แต่ละบริษัทตั้งไว้ว่าจะต้องดำเนินงานเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง และต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่เพื่อไปถึงเป้าหมายของตนเอง

“แต่ละบริษัทจะมีการปฏิญาณตนแตกต่างกัน บางบริษัทบอกจะลดแค่ CO2 ขณะที่บางบริษัทตั้งไว้ว่าจะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตทั้งหมด ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะธุรกิจของแต่ละแห่งที่มีการวางแผนไม่เหมือนกัน และก็จะคำนวณปริมาณการปล่อยตามหลักวิทยาศาสตร์”

“อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของการกำหนดเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์สำหรับองค์กรธุรกิจจะมีการผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งยังสนับสนุนให้เกิดความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่อกฎระเบียบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสริมสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีแก่นักลงทุน ส่งเสริมความสามารถการแข็งขันทางธุรกิจ และสนับสนุนการพัฒนานโยบายด้านความยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์กร”

เปิดแคมเปญ Race to Zero

“ฟิโอนา แมคลิน” ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์ Race to Zero กล่าวตอนสุดท้ายว่า สำหรับ Race to Zero เป็นแคมเปญร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศสุทธิเพิ่มขึ้นจากการดำเนินธุรกิจหรือการบริการของผลิตภัณฑ์ ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ UNFCCC ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเริ่มเปิดตัวเมื่อช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา

“โดยมีผู้เล่นหรือองค์กรธุรกิจจากทั่วโลกประกาศเจตนารมณ์ Race to Zero หรือปฏิบัติการแข่งขันเพื่อลดคาร์บอนเป็นศูนย์สุทธิกว่า 4,500 ราย ครอบคลุมถึง 31 ภูมิภาค 733 เมือง มีภาคธุรกิจ 3,067 แห่ง นักลงทุน 173 ราย กลุ่มเฮลท์แคร์ 37 กลุ่มรวมถึงภาคการศึกษาอีก 624 แห่ง ที่เห็นความสำคัญนำโลกไปสู่สังคมไร้คาร์บอน อันเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดการขยายเศรษฐกิจโลกในอนาคต”

“ดิฉันหวังว่าจะมีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นภายหลังจากการประชุม COP26 ในเดือนพฤศจิกายนนี้ พร้อมกันนี้จึงอยากเชิญชวนภาคธุรกิจมาร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพราะการเข้าร่วมของสมาชิกต้องมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนทุกด้าน”

“โดยแบ่งหลักเกณฑ์ออกเป็น 4P ได้แก่ Pledge การตั้งเป้าหมายลดคาร์บอนภายในปี 2030, Plan แผนระยะสั้น กลาง ยาว เป็นอย่างไร, Proceed การดำเนินงานจะเป็นแบบไหนต้องมีการระบุกิจกรรมชัดเจนว่า จากวันนี้เป็นต้นไปจะทำอะไรบ้าง และ Publish ความโปร่งใส่ สมาชิกทุกรายต้องตีพิมพ์ผลงานทุกปีตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพื่อจะได้เห็นความก้าวหน้า”

ซึ่งสมาชิกทุกรายต้องทำตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวอย่างครอบคลุม