ลูกจ้างติดโควิด นายจ้างมีสิทธิไม่ขึ้นเงินเดือน-ไม่จ่ายโบนัส หรือไม่ ?

กสร. แจง นายจ้างกำหนดมาตรการป้องกันโควิดได้ แต่ต้องเป็นธรรมกับลูกจ้าง
ภาพจาก pixabay

กสร. ชี้แจงนายจ้างสามารถกำหนดมาตรการปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัยจากโควิด-19 ได้ แต่ข้อกำหนดนั้นต้องไม่สร้างภาระแก่ลูกจ้างเกินสมควร

วันที่ 5 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้ชี้แจงนายจ้างที่กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ในบริษัท แม้จะมีวัตถุประสงค์ในการกำหนดมาตรการความปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของลูกจ้าง แต่ถ้าข้อกำหนดนั้นสร้างภาระแก่ลูกจ้างเกินสมควร ลูกจ้างมีสิทธิคัดค้านนายจ้างได้

นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีและโฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ตามที่มีข่าวว่าบริษัทแห่งหนึ่งได้มีประกาศเกี่ยวกับการปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) หากพบว่าพนักงานผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำตามประกาศของบริษัท จนเป็นเหตุให้พนักงานติดเชื้อ และทำให้พนักงานอื่นต้องหยุดงานกักตัว

บริษัทจะลงโทษทางวินัย โดยการตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร งดการพิจารณาปรับเงินเดือน 1 ปี และงดการพิจารณาจ่ายโบนัส 1 ปี แม้นายจ้างจะมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการความปลอดภัยต่อสุขภาพและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของลูกจ้าง แต่เมื่อพิจารณาประเด็นที่ว่า หากลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งประกาศดังกล่าว บริษัทจะลงโทษโดยการงดการปรับเงินเดือนหรืองดการจ่ายโบนัส

ซึ่งการปรับเงินเดือนประจำปีและการจ่ายโบนัส เป็นสวัสดิการและสิทธิประโยชน์นอกเหนือจากที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับมากน้อยเพียงใดจึงขึ้นกับเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่แต่ละสถานประกอบกิจการเป็นผู้กำหนด ก็ถือเป็นสภาพการจ้างที่ผูกพันให้ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติต่อกันตามข้อตกลงนั้น

ดังนั้น หากนายจ้างนำเงื่อนไขการกระทำผิดของลูกจ้างมาเป็นหลักเกณฑ์ในการงดการปรับเงินเดือน หรืองดจ่ายโบนัส ซึ่งไม่เคยมีการกำหนดหลักเกณฑ์เช่นนี้มาก่อน ย่อมเป็นการสร้างหลักเกณฑ์เงื่อนไขใหม่ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งทำให้ลูกจ้างที่มีคุณสมบัติได้รับการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนและโบนัสตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขเดิม จะต้องถูกงดการพิจารณาปรับเงินเดือน 1 ปี หรืองดการพิจารณาจ่ายโบนัส 1 ปี

การลงโทษดังกล่าวเช่นนี้ ย่อมเป็นการไม่ชอบและไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณต่อลูกจ้าง หากนายจ้างนำหลักเกณฑ์นี้มาใช้ ลูกจ้างมีสิทธิโต้แย้งคัดค้านนายจ้างได้ และหากนายจ้างไม่ปรับ หรือ จ่ายสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดไว้ ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิกับทางศาลต่อไปได้

โฆษก กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า หากนายจ้างได้กำหนดระเบียบหรือคำสั่งที่สร้างภาระแก่ลูกจ้างเกินสมควรหรือทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร ศาลแรงงานมีอำนาจสั่งให้ระเบียบหรือคำสั่งนั้นมีผลบังคับใช้ได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี ตามมาตรา 14/1 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541