วิธียื่นรับเงินชดเชยค่าจ้าง 50% ลูกจ้าง ม.33 กรณีรัฐปิดกิจการช่วงโควิด

ประกันสังคมย้ำ ช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ไม่ได้รับค่าจ้างเพราะรัฐสั่งปิดกิจการ ยื่นรับเงินชดเชย 50%

วันที่ 7 กันยายน 2564 สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เผยผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากรัฐมีคำสั่งปิดสถานที่ หรือประเภทกิจการตามคำสั่งรัฐเป็นการชั่วคราว สปส.พร้อมจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยแก่ผู้ประกันตน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน (แต่ไม่เกิน 90 วัน)

นางสาวลัดดา แซ่ลี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมเร่งดำเนินการอนุมัติจ่ายเงินว่างงานเหตุสุดวิสัย ตามข้อสั่งการของนายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ลูกจ้างที่เป็นประกันตนมาตรา 33

โดยเงินว่างงานเหตุสุดวิสัย หรือเงินทดแทนการขาดรายได้เป็นเป็นเงินจากกองทุนประกันสังคม เพื่อให้ลูกจ้างมาตรา 33 ที่ถูกหยุดจ้างงาน ทำให้ไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง เนื่องจากกิจการถูกปิดจากผลกระทบจากมาตรการของรัฐในการควบคุมการระบาดโควิด-19

ลัดดา แซ่ลี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคม

คุณสมบัติของผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย มีดังนี้

  • เป็นผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ใน 15 เดือนย้อนหลัง ก่อนวันที่ว่างงานจากรัฐสั่งปิด
  • ไม่ได้ทำงานเนื่องจากนายจ้างหยุดประกอบกิจการ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่ หรือสถานประกอบการ
  • ผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้าง
  • ผู้ประกันตนดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน (ไม่เกิน 90 วัน)

นายจ้างยื่นจะต้องเป็นผู้ดำเนินการขอรับสิทธิประโยชน์ชดเชยให้ลูกจ้าง ตามขั้นตอนดังนี้

  1. ลูกจ้างผู้ประกันตนมาตรา 33 กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) เพื่อส่งให้นายจ้าง โดยสามารถดาวน์โหลดแบบได้ที่ www.sso.go.th (ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม สปส.2-01/7) พร้อมระบุเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ และแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากที่ถูกต้อง
  2. นายจ้างเข้าระบบ e-services ของสำนักงานประกันสังคม เพื่อบันทึกข้อมูลลูกจ้างตามแบบ สปส. 2-01/7 (นายจ้างที่ใช้ระบบครั้งแรกต้องลงทะเบียน เพื่อใช้ระบบก่อน)
  3. เมื่อนายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างเสร็จสิ้นในระบบ e-services ให้รวบรวมแบบ สปส.2-01/7 พรอ้มกับสำเนาสมุดบัญชีธนาคารของลูกจ้างประเภทออมทรัพย์ พร้อมหนังสือรับรองการหยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว แล้วนำส่งสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ทางไปรษณีย์แบบลงทะเบียน ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-services
  4. เมื่อสำนักงานประกันสังคมได้รับข้อมูลของนายจ้างถูกต้องครบถ้วน จะทำการอนุมัติจ่ายเงินเข้าบัญชีเงินฝากของลูกจ้าง
ตัวอย่างแบบฟอร์ม สปส.2-01/7

ทั้งนี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคมย้ำว่า ฝั่งนายจ้างต้องยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ (สปส.1-10) (โหลดได้โดยคลิ๊กที่นี่) ทั้งส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ทุกเดือน โดยในเดือนที่ไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามข้อเท็จจริงเพราะรัฐมีคำสั่งปิดนั้น ให้ระบุในช่องค่าจ้างและเงินสมทบเป็นจำนวนค่าจ้างที่จ่ายจริงให้แก่ลูกจ้าง จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยตามเงื่อนไขข้างต้น

ตัวอย่างแบบฟอร์ม สปส.1-10 ส่วนที่ 1

ซึ่งหากลูกจ้างยังได้รับค่าจ้าง จะไม่เข้าเงื่อนไขการจ่ายสิทธิประโยชน์ ทั้งนี้ นายจ้างสามารถนำส่งแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบ สปส.1-10 ในระบบ e-service ได้โดยไม่ต้องเดินทางมาติดต่อที่สำนักงานประกันสังคม หากมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง