ฟื้นประเทศด้วยนวัตกรรม แก้ข้อกฎหมาย-อุปสรรคสร้างยูนิคอร์น

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ “NIA” ต่อยอดแพลตฟอร์มนวัตกรรมประเทศไทย ด้วยการดึงหน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน สถาบันการศึกษา และสมาคมธุรกิจ ร่วมสร้าง “เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย”

ทั้งนั้น เพื่อต้องการช่วยพลิกฟื้นประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยการเป็นผู้แทนสร้างภาพลักษณ์ด้านนวัตกรรม พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยล่าสุดมี 73 องค์กรร่วมเครือข่าย

อว.มุ่งวิจัยยารักษาโควิด-19

“ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศไทย ระบุวาระการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (innovation-driven economy) เ

พื่อผลักดันให้ไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งสอดคล้องกับบทบาทหลักของ อว. ในการบ่มเพาะและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการนวัตกรรม

ทั้งนั้น อว.เสนอกระบวนการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมแบบใหม่ ประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก คือ 1) ปรับเปลี่ยนจากการวิจัยสร้างความรู้ฝั่งอุปทานไปสู่ฝั่งอุปสงค์ เพื่อตอบโจทย์ภาคเศรษฐกิจและภาคประกันสังคม 2) ปรับหัวข้อวิจัยไปเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนต่อการพัฒนาของประเทศ

3) ปรับแนวทางสร้างบุคลากรทุกสาขา 4) สร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีและการใช้เทคนิคที่เหมาะสมกับประเทศ และ 5) สร้างเครือข่ายการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัย

“ล่าสุดเรามีผลงานนวัตกรรมที่ตอบสนองการแก้ไขปัญหาโควิด-19 จนเป็นที่ยอมรับหลายอย่าง เช่น วัคซีนโควิด-19 ประเภท mRNA ที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มทดลองในมนุษย์ โดยมีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นผู้นำโครงการ และยารักษาโควิด-19 จากใบยาสูบ ที่ได้อาจารย์ 2 ท่านจากคณะเภสัชกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้นำโครงการ”

NIA ดันนวัตกรรมไทยสู่ Top 30 โลก

“ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index-GII) จัดลำดับให้ไทยอยู่ที่อันดับ 43 และมีดัชนีย่อยติดอันดับ 1 ของโลก 2 ดัชนี

คือ สัดส่วนค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศไทยเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา (research and development-R&D) ระหว่างเอกชนและรัฐ รวมถึงการเติบโตของการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ นอกจากนั้น ไทยยังได้รับการจัดอันดับจากดัชนีนวัตกรรม Bloomberg Innovation Index ประจำปี 2564 ให้อยู่อันดับที่ 36 จาก 60 ประเทศ

ดังนั้น เพื่อสร้างประเทศไทยให้มีจุดยืนทางนวัตกรรมชัดเจนขึ้น NIA จึงสร้างแพลตฟอร์ม “นวัตกรรมประเทศไทย” โดยวางกรอบดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่ 1) พัฒนาไทยให้อยู่ใน 30 อันดับแรกของ GII ภายในปี 2573 2) มุ่งสร้างนวัตกรรมเพื่อการใช้ชีวิตที่ประณีต (innovation for crafted living) 7 ด้าน

3) สร้างเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย ทั้งหน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน สถาบันการศึกษา และสมาคมธุรกิจ และ 4) ขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรมด้วยฐานข้อมูล โดยรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลนวัตกรรมจากทุกภาคส่วนให้อยู่บนแดชบอร์ด (dashboard) นวัตกรรมประเทศไทย

“ขณะนี้มีองค์กร 73 แห่ง ตอบรับเข้าร่วม เพื่อจะร่วมมือกันใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) เป็นผู้แทนประเทศในการสร้างภาพลักษณ์ด้านนวัตกรรมผ่านกิจกรรม และความร่วมมือหลากหลาย 2) ทำการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างความตื่นตัวในการนำนวัตกรรมฝีมือคนไทยมาใช้ หรือต่อยอด และ 3) แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความชำนาญระหว่างกัน”

KBANK พัฒนาแชตบอตมุ่งสู่ดิจิทัลแบงก์

“ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า นวัตกรรมในประเทศไทยยังคงกระจุกตัวอยู่ในบางธุรกิจเท่านั้น เช่น โลจิสติกส์, โซเชียลมีเดีย, แฟชั่น, ประกัน และการเงินการธนาคาร แต่นวัตกรรมในส่วนภาคเศรษฐกิจจริง (real sector) เช่น ไบโอเทค, อาหาร, สุขภาพ, เกษตรกรรม และการศึกษา ยังมีไม่มาก

“ดังนั้น สิ่งที่ KBANK ทำอยู่ตอนนี้คือการใช้ช่องทางดิจิทัลเข้าหาลูกค้าที่ต้องการความช่วยเหลือ รวมทั้งการพัฒนาโมบายแบงกิ้งให้เป็นมากกว่าการโอน, เติม และจ่าย เพื่อให้ลูกค้าทำธุรกรรมได้หลากหลาย โดยไม่ต้องไปสาขา เพื่อลดการสัมผัส ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19”

“นอกจากนั้น KBANK ยังใช้แชตบอตที่มี NLP (natural language processing) เทคโนโลยีที่มีความสามารถเข้าใจภาษา ด้วยระบบประมวลภาษา ตอนนี้ระบบของเรามีความสามารถในการทำความเข้าใจภาษาไทยมากขึ้น ทั้งยังมีความแม่นยำในการเข้าใจภาษามากกว่า 70% ซึ่งขณะนี้มีการใช้แชตบอตเพื่อบริการลูกค้ากว่า 57% และยังใช้เทคโนโลยีเซอร์เวย์ความพึงพอใจลูกค้า โดยช่วยลดต้นทุนเดิม 200 บาทต่อคน เป็น 25 บาทต่อคน”

สจล.มองกฎหมายคืออุปสรรคสร้างนวัตกร

“ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และนายกสภาวิศวกร กล่าวว่า นวัตกรรมคือจุดตัดสินความเป็นความตายของชาติไทย ดูได้จากภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ของ สจล. ซึ่งเมื่อก่อนหลายคนยังไม่รู้จักดีว่าเรียนเกี่ยวกับอะไร ทั้งที่ก่อตั้งมาเกือบ 40 ปี

จนเมื่อมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงทำให้ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ สร้างเครื่องช่วยหายใจฉุกเฉินขนาดเล็ก ซึ่งสามารถช่วยระบบสาธารณสุขไทยได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องปรับปรุง และเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลงทางด้านนวัตกรรม 2 เรื่องด้วยกัน คือ

หนึ่ง การสร้างคนเก่ง และรักษาให้อยู่ในวิชาชีพที่สร้างนวัตกรรม เพราะที่ผ่านมา ไทยมีสถาบันที่เปิดสอนวิศวกรรมศาสตร์มากถึง 80 แห่ง และมีคนเรียนจบวิศวกรรมทั่วประเทศ 3.5 หมื่นคนต่อปี แต่มาขอใบอนุญาตกับสภาวิศวกรไม่ถึง 7 พันคน และที่ผ่านมาได้รับใบอนุญาตเพียง 4 พันคนเท่านั้น

นอกจากนั้น คนที่เรียนจบวิศวกรรมต่างหันไปทำงานสายอื่นค่อนข้างมาก จึงทำให้กำลังคนที่จะมาคิดค้นนวัตกรรมมีไม่มากพอ ดังนั้น เราต้องดึงคนสายนี้มาประกอบอาชีพด้านนวัตกรรม”

สอง โครงสร้างของมหาวิทยาลัยภาคเอกชนของไทยลงทุนในมหา’ลัยของรัฐน้อยมาก ๆ โดยยอดเงินบริจาคเพื่องานวิจัยส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งก็มีน้อยอีก

ดังนั้น หากมองดูบริษัทต่างชาติอย่างช้อปปี้ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีสำนักงานใหญ่ในประเทศสิงคโปร์ ล่าสุดเขาบริจาคเงิน 1,600 ล้านบาท ให้กับมหาวิทยาลัยเเห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) เพื่อนำไปพัฒนานวัตกรรมทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence-AI)

จึงทำให้ผมส่งจดหมายไปถึงช้อปปี้ที่สิงคโปร์ เพื่อขอทุนให้กับ สจล.บ้าง ซึ่งบริษัทบอกว่ากำลังพิจารณา ในขณะที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ก็ต้องขอเงินทุนวิจัยและพัฒนา จากมูลนิธิบิลล์ และเมลินดา เกตส์ ของบิลล์ เกตส์ ซึ่งเขากำลังจะพิจารณาให้

“ผมจึงมองว่าเรื่องกฎหมายค่อนข้างมีอุปสรรคต่อการต่อยอดนวัตกรรม นอกจากนั้น อาจารย์เก่ง ๆ ที่เคยไปศึกษามหาวิทยาลัยระดับโลกในต่างประเทศ และทำงานด้านสร้างสตาร์ตอัพกับ Google, Facebook และ Apple แต่พอกลับเมืองไทยไม่มีโอกาส เพราะอาจารย์มหาวิทยาลัยจะทำสตาร์ตอัพในไทยถือว่าผิดกฎหมาย หากเป็นแบบนี้ไทยก็จะไม่มียูนิคอร์น เพราะว่าใช้งานคนเก่งไม่คุ้มค่า เพราะโครงสร้างในการดูแลคนเก่งไม่เอื้อ”