มหา’ลัยค้านกฎหมาย จป.วิชาชีพ หวั่นเด็กตกงาน ก.แรงงานเสนอหางานให้

มหาวิทยาลัยและเครือข่ายวิชาชีพความปลอดภัย รวมตัวคัดค้านกฎกระทรวงฯ ข้อ 21 (3) เกี่ยวกับ จป.วิชาชีพ หวั่นบัณฑิตโดนแย่งงาน กระทรวงแรงงานเสนอจับคู่งานกับสถานประกอบการ

วันที่ 8 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงแรงงาน โดยนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการหารือร่วมกับผู้แทนสภาสถาบันการศึกษาและเครือข่ายวิชาชีพอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (สคอป.) นำโดย ดร.เด่นศักดิ์ ยกยอน อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมตัวแทนอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันอื่น ๆ ที่ได้มายื่นหนังสือร้องเรียน เพื่อคัดค้านการจัดให้มีการอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพฯ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานเข้าร่วม ณ กระทรวงแรงงาน

นายสุเทพกล่าวว่า ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาทั่วประเทศที่มีหลักสูตรความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน จำนวน 48 แห่ง และขณะนี้มีสถานประกอบการที่มีความต้องการเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพฯ จำนวนประมาณ 3,000 กว่าแห่ง ซึ่งกระทรวงแรงงาน จะได้ตั้งคณะทำงานเพื่อหารือในรายละเอียดและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

และจากการหารือเรื่องร้องเรียนเพื่อคัดค้านการจัดให้มีการอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพฯในวันนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนหลักสูตรความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน สภาวิชาชีพ สถานประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลในการจับคู่ตำแหน่งงาน (matching) แก่นักศึกษาจบใหม่หลักสูตรความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน แก่สถานประกอบการที่มีความต้องการเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 คณาจารย์สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ยื่นหนังสือคัดค้าน (ร่าง) กฎกระทรวงฯ ข้อ 21 (3) จัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ……” ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดขอนแก่น

โดย รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู หัวหน้าสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า คณะสาธารณสุขศาสตร์ มข. เป็น 1 ใน 48 สถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เล็งเห็นผลกระทบของกฎกระทรวงฯ ข้อ 21 (3) ต่องานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยทั้งระยะสั้นและระยะยาว

“การอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพของกระทรวงแรงงาน ตามร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 21 (3) ยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่าผู้ที่ผ่านการอบรมจะมีความเชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ขณะที่บัณฑิตที่จบจากสถาบันการศึกษาต้องเรียนพื้นฐานทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างน้อย 44 หน่วยกิต”

“นอกจากนั้นที่ผ่านมาสถาบันที่เปิดสอนด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยทั้งประเทศ 48 แห่ง สามารถผลิตบัณฑิตเพื่อเป็น จป.วิชาชีพ (เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานวิชาชีพ) ได้ปีละประมาณ 12,000 คน เพียงพอต่อความต้องการของสถานประกอบกิจการ (เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องมี จป.วิชาชีพ โดยในประเทศไทยมีมีบริษัทขนาดนี้ 16,027 แห่ง) ดังนั้น กฎกระทรวงฯ ข้อ 21 (3) อาจจะส่งผลต่อการผลิตแรงงาน จป.วิชาชีพ มากเกินความต้องการของตลาดแรงงาน”

และเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 มี 4 สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา ที่มีการเรียนการสอนสาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา วิทยาลัยนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้าน (ร่าง) กฎกระทรวงฯ ข้อ 21 (3) ต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดนครราชสีมา เช่นกัน

โดย ผศ.ดร.พงษ์สิทธิ์ บุญรักษา หัวหน้าสาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวว่า สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เป็นสาขาผลิต จป.วิชาชีพ ตามกฎหมายของกระทรวงแรงงาน ได้รวมตัวกันกับอีก 3 สถาบันยื่นหนังสือคัดค้านการออกกฎกระทรวง ในการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ตามข้อ 21 (3) เท่านั้น

“เราเล็งเห็นว่าข้อกฎหมาย ข้อ 21 วรรค 3 เป็นการอนุญาตให้ผู้ที่จบสาขาใดก็ได้ มีประสบการณ์การทำงานด้านไหนก็ได้ระยะเวลา 5 ปี เมื่อเข้ารับการอบรมที่จะจัดขึ้นโดยกระทรวงแรงงานแล้วทำให้สามารถเป็น จป.วิชาชีพได้เลยตามกฎหมาย เทียบเท่าคนที่เรียนจบตรงในสาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ที่ใช้เวลาเรียนมา 4 ปี”