“ประวิตร” นำประชุมเร่งกระทรวงแรงงาน ปรับกำลังคนรองรับ S-Curve

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

พลเอก ประวิตร เร่งกระทรวงแรงงานระดมสมองวางแผนคนรองรับ new normal ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve)

วันที่ 9 กันยายน 2564 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ 4/2564 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล และผ่านระบบ video conference โดยมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, ศ.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน, นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน, นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.), ผู้แทนสภาองค์การนายจ้าง ผู้แทนสภาองค์การลูกจ้าง ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนร่วมประชุม

โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเสนอ 4 เรื่องให้ที่ประชุมพิจารณา ได้แก่ 1. การเสนอรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กพร.ปจ. แทนตำแหน่งที่ว่างลง 2. การแก้ไขเพิ่มเติมรายชื่ออนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กพร.ปจ. 3. (ร่าง) แผนพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve (พ.ศ.2565-2570) และ 4. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการเพื่อรองรับการประกอบอาชีพ (พ.ศ.2564-2570)

วางแผนคนรองรับ new normal

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า กพร.ปช. มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแนวทางการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพของผู้อยู่ในกำลังแรงงานของประเทศในทุกมิติ การดำเนินงานของ กพร.ปช.จึงสำคัญอย่างยิ่ง การประชุมในวันนี้ มีวาระสำคัญ 4 เรื่อง เพื่อให้แรงงานไทยทุกกลุ่ม สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม

ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่อย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกัน พร้อมกำชับให้กระทรวงแรงงานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อระดมความคิดเห็นในการวางแผนพัฒนากำลังคนของประเทศรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ต่อไปด้วย

ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า การประชุมในวันนี้นอกจากเรื่องที่เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอแล้ว กระทรวงแรงงานยังได้รายงานถึงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ได้ปรับปรุงคำสั่งให้เป็นปัจจุบัน เพิ่มองค์ประกอบของ กพร.ปช. และปรับปรุงอำนาจหน้าที่แล้ว

กระทรวงแรงงานยังรายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน 3 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) คณะอนุกรรมการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการเพื่อรองรับการประกอบอาชีพ และคณะอนุกรรมการพัฒนาทักษะฝีมือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ที่ประชุมรับทราบ

“กระทรวงแรงงานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อระดมความคิดเห็นในการวางแผนพัฒนากำลังคนของประเทศรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยใช้กลไกของ กพร.ปช.ในการขับเคลื่อนต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อยกร่างแผนผังตำแหน่งงานและแนวโน้มการจ้างงานในแต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมายต่อไป”

(ซ้าย) ธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, (กลาง) สุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน และ (ขวา) สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ปรับผังตำแหน่งงาน S-Curve

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) มีองค์ประกอบมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยร่วมกันบูรณาการและวางแผนการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศ เพื่อให้แรงงานมีความรู้และทักษะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ให้แรงงานไทยสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ และเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง โดย กพร.ปช.มีหน้าที่หลัก ๆ ดังนี้

  • กำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาแรงงาน และประสานงานการฝึกอาชีพของกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • ประสานแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างระบบการศึกษากับระบบการพัฒนากำลังแรงงาน
  • ประสานนโยบายแผนการพัฒนาฝีมือแรงงาน และแผนการฝึกอาชีพของ ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

“เพื่อความเป็นเอกภาพในการพัฒนาแรงงาน ขจัดปัญหาความซ้ำซ้อนและความสิ้นเปลือง รวมถึงติดตามและประเมินผลการดำเนินงานการพัฒนาแรงงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพ โดยมีคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) เป็นกลไกระดับจังหวัดในการขับเคลื่อนติดตามและดำเนินงานตามแผนการพัฒนากำลังแรงงานในพื้นที่จังหวัด”

ดึงเอกชนพัฒนาแรงงานผู้พิการ

นายธวัชกล่าวด้วยว่า การดำเนินงานพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ขณะนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์จัดทำแผนพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพเสร็จแล้ว ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ๆ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อยกร่างแผนผังตำแหน่งงานและแนวโน้มการจ้างงานในแต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนั้น การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการ เพื่อรองรับการประกอบอาชีพ สรุปการจัดงานสัมมนาออนไลน์ “ให้กลไกตลาดทุน เกื้อหนุนผู้พิการ สร้างงานสร้างอาชีพ” เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ผ่านระบบไมโครซอฟท์ทีม และถ่ายทอดสดผ่านเฟสบุ๊ค ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.), กระทรวงแรงงาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีผู้เข้าร่วมงานสัมมนาประกอบด้วยผู้บริหาร ผู้แทนบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ องค์กร สมาคมคนพิการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน กว่า 524 คน มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์สนใจทำ CSR ด้านคนพิการ จำนวน 75 แห่ง ซึ่ง กพร.จะติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานต่อไป

รวมถึงมีการสนับสนุนซิมการ์ดพัฒนาฝีมือแรงงานออนไลน์ 500 ซิม จากบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้รับมอบซิมการ์ดแล้วเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ณ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยร่วมกับสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ดำเนินการแจกจ่ายซิมการ์ดให้แก่กลุ่มแรงงานคนพิการและกลุ่มเปราะบาง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ยกระดับศักยภาพด้านดิจิทัล ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

และการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาทักษะฝีมือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผลการช่วยเหลือแรงงานกลุ่มเปราะบาง ประจำปี 2564 กระทรวงแรงงานเป้าหมาย 72,150 แห่ง ผลการสำรวจแล้ว 22,370 แห่ง และการเตรียมรองรับการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 อีกด้วย