Thailand Focus ขับเคลื่อน ESG ตลาดทุนไทยยั่งยืน

ภาพจาก : Visual Stories || Micheile - unsplash
ภาพจาก : Visual Stories || Micheile - unsplash

ตลอดเวลาเกือบ 2 ปีที่โลกเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จนส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวล เพราะเศรษฐกิจอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอน และไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การอาศัยการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG (Environmental, Social, and Governance) ขององค์กรต่าง ๆ กลับช่วยให้นักลงทุนรวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเห็นปัจจัยที่บ่งบอกความสามารถในการแสวงหาผลประโยชน์ในระยะยาว

โดย ESG คือกรอบการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ซึ่งเป็นปัจจัยชี้วัดความสามารถของบริษัทจดทะเบียนนอกเหนือจาก 2 ปัจจัยชี้วัดดั้งเดิมอย่างกำไรและการจัดการความเสี่ยง

ด้วยเหตุนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จึงจัดงานเสวนาใหญ่ประจำปี Thailand Focus 2021 ครั้งที่ 15 ภายใต้แนวคิด Thriving in the Next Normal บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชนมาแบ่งปันข้อมูลอันเป็นประโยชน์แก่บรรดานักลงทุนชาวไทยและต่างชาติเมื่อไม่นานผ่านมา

ด้วยหัวข้อ “เพิ่มโอกาสด้วยการลงทุนอย่างยั่งยืนในตลาดทุนไทย” (Accelerating Sustainable Investing in Thai Capital Market) โดยมี “ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์” เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), “ดร.ปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) และ “ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) มาเป็นวิทยากรร่วมฉายภาพด้านการลงทุน และ ESG

ESG ไม่มีสูตรสำเร็จ

“ดร.ศรีกัญญา” กล่าวว่า นักลงทุนให้ความสำคัญกับ 2 ปัจจัยเป็นหลักคือ ความเสี่ยง และกำไรผลตอบแทน แต่การเลือกลงทุนในบริษัทที่มี ESG ที่ดีสามารถให้ alpha (ประสิทธิภาพการลงทุนโดยเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน เช่น ตลาดโดยรวมช่วงระยะเวลาหนึ่ง) ที่ดีได้

ดร. ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

“นอกจากนั้น นักลงทุนต้องมองว่าตนเองเป็นเจ้าของโลกใบนี้ และให้ความสำคัญกับเรื่องของผลกระทบภายนอก เช่น กบข. มองบทบาทของตนเองเป็นนักลงทุนสถาบัน เราลงทุนกว่า 33 พันล้านเหรียญสหรัฐทั่วโลก ดังนั้น เราจึงไม่สามารถมองข้ามว่าบริษัทที่เราลงทุนหรือเกี่ยวข้องด้วยได้สร้างผลกระทบภายนอกอย่างไรต่อสังคมบ้าง เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์”

“ทั้งนี้ การลงทุนเพื่อความยั่งยืนโดยคำนึงปัจจัย ESG นั้นไม่มีสูตรสำเร็จ แต่สิ่งสำคัญที่ช่วยนักลงทุนได้คือกระบวนการ โดยการสอบทานบริษัทต่าง ๆ ตั้งคำถามและหาคำตอบให้คำถามเหล่านั้นในแนวเดียวกับมาตรฐานโลก นอกจากนั้นนักลงทุนต้องอ่านข้อมูลให้มาก และแทร็กสิ่งที่เกิดขึ้นในบริษัทที่ไปลงทุน เพื่อสังเกตความผิดปกติต่าง ๆ ทั้งยังต้องหาโอกาสคุยกับผู้นำของบริษัทเหล่านั้น เพราะผู้นำคือผู้ออกนโยบายต่าง ๆ ที่จะทำให้เราเห็นว่าเขาให้ความสำคัญกับ ESG จริง ๆ หรือแค่ window dressing (การใช้ ESG เพื่อทำให้ตัวเลขผลการดำเนินงานออกมาดูดีหรือมีการลงทุนเป็นไปตามนโยบาย)”

“บริษัทที่ให้ความสำคัญกับ ESG จะมีประสิทธิภาพดีกว่าบริษัทอื่นในระยะยาว และการที่บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG มีความสำคัญ แต่จะยังไม่ใช่ตอบโจทย์ถ้าข้อมูล ESG ไม่ครอบคลุมและไม่สามารถใช้เปรียบเทียบได้ ทั้งการเปรียบเทียบในระดับโลกและข้ามสาขาอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การให้ความสำคัญกับ ESG เป็นแค่จุดเริ่มต้น โดยปีหน้าเราควรหันไปมองเรื่อง impact investing การร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมการลงทุนที่ทำให้เกิดผลตอบแทนหลัก และสร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคม”

แนวทางบริษัทที่อยู่รอดยั่งยืน

“ดร.ปิติ” ยกตัวอย่างตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกาเมื่อ 125 ปีที่แล้วตอนที่มีการสร้างดัชนีดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อคำนวณมูลค่าบริษัทมหาชนที่ใหญ่สุด โดยในช่วงนั้นจัดอยู่ที่ท็อป 12 บริษัท แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็นท็อป 30 บริษัท

ดร. ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ธนาคารทหารไทยธนชาต
ดร.ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb)

“ทั้งนี้ 12 บริษัทที่ถูกจัดอันดับในช่วงแรก กลับไม่มีรายชื่อบริษัทเหล่านั้นติดท็อป 30 อันดับในปัจจุบันเลย ยิ่งไปกว่านั้นบางบริษัทถูกซื้อกิจการ และบางรายไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างถูกที่และถูกเวลา จนถึงจุดที่พวกเขาไม่สามารถเข้าสู่ท็อป 30 บริษัทมหาชนที่มีมูลค่ามากสุดได้ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่บริษัทเหล่านั้นไม่ได้รับความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจากรัฐบาลและประชาชน”

“คำถามคือการจะเป็นบริษัทที่อยู่มาได้อย่างยั่งยืนต้องทำอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าการจะเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง เริ่มต้นจากการคิดถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์หลักของบริษัทว่าส่งเสริมต่อการเพิ่มผลกำไรให้ผู้ถือหุ้น หรือสร้างมูลค่าของผู้ถือหุ้นให้สูงสุดหรือไม่”

“หากตอบว่าไม่ ก็ต้องเร่งส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและมีคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และต้องแน่ใจว่าบริษัทมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เพราะจะเป็นแนวปฏิบัติให้ทั้งองค์กร นอกจากนั้น การจะเป็นบริษัทที่ยั่งยืนต้องกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ไม่เพียงสร้างคุณค่าด้านเศรษฐกิจ แต่ต้องสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า พนักงาน และในสังคมที่ดำเนินกิจการอยู่”

ธนาคารต้องทำให้คนมีชีวิตดีขึ้น

“ดร.ปิติ” กล่าวด้วยว่า ttb มองศึกษาทางปฏิบัติของบริษัทอื่น ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ และนำกรอบการทำงานของ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) รวมถึงแนวปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) มาใช้ จากนั้นพอได้เรียนรู้ทุกอย่างแล้วจึงมาคิดหาแนวทางความยั่งยืน และสร้างกรอบงาน ESG ในแบบตนเอง

“ttb สรุปประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัทและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีกระบวนการ 4 ขั้นตอน คือ การระบุประเด็น การจัดลำดับความสำคัญ การตรวจสอบความถูกต้องและการทบทวนพิจารณา ซึ่งจากกระบวนนี้ทำให้เห็นสิ่งที่บริษัทต้องติดตามและปรับปรุง นอกจากนั้น ยังทำให้เรากำหนดกรอบทำงานที่ปรับปรุงสภาพการเงินให้ลูกค้าเราได้ ช่วยลูกค้ารู้วิธีใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของธนาคารอย่างถูกต้อง รู้วิธีการใช้จ่าย และรู้วิธีกู้เงินอย่างเหมาะสม รวมถึงช่วยทำให้ลูกค้าสามารถจัดการการลงทุนเพื่ออนาคตได้”

“ดร.ปิติ” บอกอีกว่า ปัญหาด้านการเงินที่สำคัญของคนไทยคือ คนที่เกษียณไม่มีเงินออมเพียงพอ เมื่อพวกเขาเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองเพียงพอ และกลายเป็นภาระแก่ผู้ที่อยู่ข้างหลัง นอกจากนั้นยังกู้เงินเกินตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลพวงจากการที่ธนาคารต่าง ๆ ไม่ได้ส่งเสริมพวกเขาให้รู้จักวางแผนการใช้จ่ายและเก็บออมที่ดีพอ แต่ไปเน้นด้านการปล่อยกู้มากขึ้นจนทำให้พวกเขาถึงจุดที่ไม่สามารถชำระเงินคืนได้

“ขณะเดียวกัน จำนวนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในไทยกว่า 1 ใน 10 ไม่สามารถอยู่รอดได้ภายใน 5 ปี ปัญหาเหล่านี้สะท้อนถึงธุรกิจธนาคารให้ต้องมุ่งสู่ความยั่งยืน มีบทบาททำให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น และทำให้บริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะ SMEs รู้วิธีอยู่รอด”

3 เสาหลักการทำธุรกิจ

“ดร.คงกระพัน” กล่าวเสริมว่า สิ่งแรกคือต้องเข้าใจว่า ESG คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรต่อองค์กร จากนั้นถึงจะสร้างความเชื่อให้คนในองค์กรได้ แล้วถึงจะออกนโยบายที่รวมความยั่งยืนในทุกมุมได้

ดร. คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC)

“พีทีที โกลบอล เคมิคอล มี 3 เสาหลักในการทำธุรกิจคือ 1) step change เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน และสร้างความยืดหยุ่นให้องค์กร 2) step out สร้างการเติบโต และ 3) step up บูรณาการความยั่งยืนในทุกมิติ และคติพจน์ของเราคือ Chemistry for Better Living (คุณภาพชีวิตคนดีขึ้นได้ด้วยนวัตกรรมพลาสติกและเคมีภัณฑ์)”

“โดยเราวัดผลแนวทางและความคิดเหล่านั้นของบริษัทจากหลายปัจจัย ยกตัวอย่าง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ที่ตั้งเป้าภายในปี 2050, สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน และปัจจัยใหม่คือการใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ (decarbonization)”

“ทั้งนี้ ด้านกำไรต้องสมดุลกับการสร้างความยั่งยืน เราโฟกัสที่ EBITDA (ตัวเลขวัดความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงานของบริษัท) ต้องเติบโตมากกว่า 4% ต่อปีอย่างต่อเนื่อง และมีมาร์จิ้น EBITDA ในระยะยาวมากกว่า 13% ไปพร้อม ๆ กับการมุ่งมั่นด้านความยั่งยืน ความโปร่งใส และการแบ่งปันข้อมูล ESG เพราะเป็นเรื่องสำคัญมากต่อทั้งนักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”

นับเป็นการระดมความคิดที่สะท้อนความสำคัญของการปรับตัวเพื่อคว้าโอกาสการเติบโตที่ยั่งยืนในสภาวะที่เศรษฐกิจเอาแน่นอนไม่ได้ ทั้งยังต้องใส่ใจกับผลกระทบของการลงทุนต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานทางเลือก