3 แพลตฟอร์มฝึกทักษะอนาคต ดันแรงงานตอบโจทย์โลกหลังโควิด

3 แพลตฟอร์มออนไลน์ฝึกทักษะเพื่ออนาคต จาก 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ผลักแรงงานทุกช่วงวัย สอดคล้องความต้องการขององค์กร

วันที่ 13 กันยายน 2564 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แนะนำ 3 แพลตฟอร์มออนไลน์ฝึกทักษะอนาคต ผลักแรงงานทุกช่วงวัยตอบโจทย์โลกอนาคต ซึ่งการพัฒนาทักษะหรือยกระดับศักยภาพทุนมนุษย์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจการปฏิรูประบบการศึกษาไทย ตามกรอบการปฏิรูประบบการศึกษาไทยเชิงนโยบาย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยในทุกช่วงวัย สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้อย่างไร้ขีดจำกัด

เพราะความรู้ในตำราไม่ใช่สูตรสำเร็จเพื่อมาใช้ประกอบอาชีพ และพบว่าคนทำงานไม่สามารถอาศัยความรู้ หรือทักษะดั้งเดิมที่ได้จากการเรียนในห้องเรียนมาใช้ในการทำงานได้ ทำให้แรงงานในทุกช่วงวัยต้องพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ด้วยรูปแบบการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อความต้องการขององค์กร คือ 1. reskill การพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต 2. upskill และการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ต้องนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน 3. newskill เช่น ทักษะทางด้านดิจิทัล หรือทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence)

สำหรับแพลตฟอร์มและหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะที่น่าสนใจจาก 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย ดังนี้

CHULA MOOC เรียนฟรี ทุกที่ ทุกเวลา

CHULA MOOC คือ แพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ (Learning Innovation Center) จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย โดยยึดหลักตามแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) ด้วยการเปิดคอร์สเรียนออนไลน์ในหลากหลายวิชา สอนโดยอาจารย์ของจุฬาฯ

สร้างขึ้นสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทุกช่วงวัยที่สนใจแสวงหาความรู้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและเข้าถึงได้ผ่านอุปกรณ์ เช่น มือถือ แท็บเลต โน้ตบุ๊ก และคอมพิวเตอร์ เพื่อเป็นการขยายโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้สำหรับทุกคนอย่างไร้ข้อจำกัดในเรื่องของเวลาหรือการเดินทาง เมื่อเรียนจบคอร์สจะได้รับใบรับรองจากสถาบันอีกด้วย

ปัจจุบัน CHULA MOOC แบ่งคอร์สเรียนออกเป็น 5 หมวดหลัก ได้แก่ ภาษา เทคโนโลยี การจัดการ ศิลปะและการพัฒนาตนเอง และสุขภาพ โดยปรับเปลี่ยนไปตามกระแสและสถานการณ์ของสังคม เพื่อให้ทุกคนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้จริง ตัวอย่างวิชาที่น่าสนใจและได้รับความนิยม เช่น ความปกติใหม่ในอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย (BIM), Data Analytics เป็นต้น

TU NEXT แพลตฟอร์มเรียนรู้แห่งอนาคต

สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศ ผ่านการ reskill และ upskill จากการสั่งสมประสบการณ์ด้านการจัดการเรียนการสอนอบรมออนไลน์มาเป็นระยะเวลานาน จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการเรียนออนไลน์ที่มีชื่อว่า TU NEXT ขึ้นมา

เพื่อให้ทุกคนที่ต้องการฝึกทักษะได้เข้ามาหาความรู้และพัฒนาศักยภาพได้อย่างไร้ข้อจำกัด ผ่านการอบรมโดยทีมคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยผู้ที่สนใจสามารถเลือกลงทะเบียนและเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเรียนในเรื่องที่ตนเองต้องการได้ ตัวอย่างหลักสูตรที่น่าสนใจ เช่น หลักสูตรเส้นทางสู่โอกาสสร้างรายได้: พืชเศรษฐกิจใหม่กัญชงและกัญชา, หลักสูตรติดอาวุธการนำเสนอแบบ 360 องศา เป็นต้น

KLIX ร่วม 6 องค์กร พัฒนาศักยภาพคนไทย

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เปิดตัว KLIX หรือ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ในระบบ EdX เพื่อนำเสนอการศึกษาในรูปแบบการเรียนออนไลน์ ในโครงการผลิตวิชาออนไลน์ 6 Masterclass ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่เกิดขึ้นในโอกาสครบรอบ 60 ปี พระจอมเกล้าลาดกระบัง

สำหรับนักศึกษาและบุคคลทั่วไป โดยมีทั้งแบบเสียค่าใช้จ่ายและฟรี ด้วยการดึงศักยภาพสถาบันการศึกษาสำหรับโลกแห่งอนาคต สร้าง 6 วิชานำร่อง ร่วมกับ 6 องค์กรชั้นนำในการผลิตสื่อการเรียนการสอน ตอบโจทย์การศึกษายุคใหม่ด้วยการออกแบบวิชาที่หลากหลายสำหรับคนทุกช่วงวัยอย่างทันสมัย และทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยี ทำให้มีผู้สนใจสมัครเรียนและได้รับความนิยมอย่างมาก ตัวอย่างหลักสูตรที่ได้รับความนิยม เช่น Digital Media Production: การผลิตสื่อดิจิทัล (Introduction), Modern Entrepreneur: ผู้ประกอบการสมัยใหม่ (Introduction) เป็นต้น

ตอบโจทย์งานโลกหลังวิกฤต

วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบให้ทุกภาคส่วนต้องเร่งปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดต่อสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สถานประกอบการหลายแห่งต้องหยุดหรือเลิกกิจการไปเพราะมาตรการลดการระบาดของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ นำไปสู่ภาวะการเลิกจ้างและว่างงาน รวมถึงกระทบต่อบัณฑิตที่กำลังจะจบการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงาน อีกทั้งเรื่องของเทคโนโลยีดิสรัปชั่นที่เข้ามามีบทบาทสำคัญและกลายเป็นความท้าทายของตลาดแรงงานทั่วโลก

ดังนั้น เมื่อการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยไม่สามารถตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันอุดมศึกษาต้องเร่งดำเนินการปรับบทบาทในกระบวนการผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพ เพื่อให้แรงงานในทุกช่วงวัยได้เข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคต รวมถึงการพัฒนาประเทศตามแนวคิดการพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเผยว่า นอกจากแพลตฟอร์มพัฒนาทักษะแรงงานผ่านการเรียนการสอนออนไลน์ของสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ 3 แพลตฟอร์มดังกล่าว ยังมีแพลตฟอร์มในรูปแบบดิจิทัลจากภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศอีกมากมายที่มีเป้าหมายมุ่งพัฒนาทักษะ reskill, upskill และ newskill ให้แรงงานในทุกช่วงวัยได้เลือกเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจและต้องการนำไปต่อยอด ตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนในอนาคต สร้างโอกาส สร้างรายได้ รองรับการทำงานในอนาคตหลังภาวะวิกฤต รวมถึงในปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งได้มีการเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตร (non-degree) ภายใต้โครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการพัฒนากำลังคนของประเทศ

โดยส่วนหนึ่งของตัวอย่างความสำเร็จ คือ โครงการ “พัฒนามหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยเพื่อการจัดการเรียนการสอนในระบบเปิด” Thai-MOOC โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  ที่ในปัจจุบันได้เปิดหลักสูตรให้ผู้สนใจเลือกศึกษาเพื่อเพิ่มพูนทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต หรือจำเป็นต่อการทำงานในโลกยุคดิจิทัลเป็นจำนวนมากกว่า 500 หลักสูตร ครอบคลุมสถาบันการศึกษาทั่วประเทศรวมกว่า 120 แห่ง

ทั้งนี้ ในบางหลักสูตรเมื่อเรียนจบหรือสอบวัดผลผ่านเกณฑ์การเรียนรู้ ผู้เรียนสามารถทำรายการในระบบเพื่อขอรับใบประกาศนียบัตรได้ด้วย อย่างไรก็ตามในอนาคตคาดว่าประเทศไทยจะมีโครงการหรือกลไกอื่น ๆ ที่จะสามาระช่วยผลักดันให้ผลิตผลทางการศึกษาของไทยตอบโจทย์ความต้องการของโลกที่มีเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง