เช็กวิธีทำงานต่างประเทศยุคโควิด สำหรับคนอยู่ไทยใจอยู่นอก

ทำงาน
ภาพ: Mimi Thian

JobsDB เผยผลสำรวจที่มีข้อมูลเป็นประโยชน์กับผู้ที่ต้องการทำงานต่างประเทศ และอันดับประเทศที่คนนิยมมากที่สุด

วันที่ 15 กันยายน 2564 คนไทยหลายคนมองหาโอกาสการทำงานในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่เจริญกว่าทั้งด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และประเทศมีค่าตอบแทนที่มากกว่า แต่การย้ายไปทำงานต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีข้อจำกัดด้านการเดินทางมากมาย

บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ JobsDB ได้นำผลการสำรวจของ Global Talent Survey (GTS) ปี 2020 มาเผยแพร่พบว่า คนไทยมีความต้องการไปทำงานต่างประเทศมากที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชียอื่น ๆ โดยตั้งแต่ปี 2014 คนไทยต้องการไปทำงานต่างประเทศอยู่ที่ 95% แต่ในปี 2020 ตกมาอยู่ที่ 46% โดย 3 กลุ่มอาชีพที่มีความต้องการไปทำงานต่างประเทศมากที่สุด ได้แก่ งานด้าน social care งานด้านสื่อและข้อมูล และงานด้านศิลปะและครีเอทีฟ ตามลำดับ

ทั้งนี้ ย้อนไปดูงานศึกษาวิจัยประเทศที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการไปทำงานต่างประเทศในปี 2018 ที่ JobsDB ทำร่วมกับ Boston Consulting Group and The Network และ Jobsteet.com (ซึ่งสำรวจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) พบว่ามีอันดับดังนี้

  1. สหรัฐอเมริกา (รั้งประเทศที่คนอยากไปทำงานมากที่สุดมาตั้งแต่ปี 2014)
  2. เยอรมัน
  3. แคนาดา
  4. ออสเตรเลีย
  5. สหราชอาณาจักร
  6. สเปน
  7. ฝรั่งเศส
  8. สวิตเซอร์แลนด์
  9. อิตาลี
  10. สวีเดน

อย่างไรก็ตาม เทรนด์การทำงานแบบที่ไหนก็ได้ (remote work), การทำงานจากบ้าน  (work from home), การทำงานไปด้วย ท่องเที่ยวไปด้วย (workation) และการทำงานเสมือนอยู่ในที่ทำงาน (virtual work) ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกของคนทำงาน (world of workforce) และเพิ่มโอกาสให้คนได้ทำงานกับองค์กรในต่างประเทศจากทางไกลผ่านเทคโนโลยีได้ โดยที่ข้อจำกัดในยุคโควิด-19 ไม่เป็นอุปสรรค

JobsDB ได้พูดถึงผลการวิจัย COVID Customer Mindset and Needs Barometer ของบริษัทรี้ด เอ็กซ์ฮิบิชั่นส์ ที่ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนทั่วโลกต้องหันมาใช้ดิจิทัลมากถึง 84% ขณะที่ใช้เพื่อการทำงานเป็นหลัก โดยเฉพาะเพื่อการประชุมออนไลน์ 62% ใช้เรียนออนไลน์ 41% ทำให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี

ซึ่ง JobsDB ได้จัดอันดับอาชีพ virtual มาแรง ที่สามารถใช้เป็นข้อมูลหางานทำกับบริษัทในต่างประเทศได้ ดังนี้

  • อาชีพ virtual assistant ผู้ช่วยเสมือน ส่วนใหญ่จะเป็นงานประเภทฟรีแลนซ์ แต่ทำหน้าที่เหมือนพนักงานประจำทั่วไป หน้าที่หลักคือ คอยเช็กและตอบอีเมล ทำนัดหมายต่าง ๆ กรอกข้อมูล ตอบข้อสงสัยในโซเชียลมีเดีย เป็นต้น
  • อาชีพ website tester นักทดสอบเว็บไซต์ เป็นอาชีพที่เหมาะมากกับคนที่ชื่นชอบการท่องเว็บ สามารถอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้เป็นเวลานาน ๆ โดยจะต้องทำหน้าที่ทดสอบการใช้งาน เว็บไซต์ที่องค์กรพัฒนาขึ้นมา ว่าใช้งานได้ง่าย มีปัญหาตรงส่วนใดบ้าง
  • อาชีพ virtual tutor ติวเตอร์เสมือน อาชีพนี้ต้องมีทักษะความสามารถและความชำนาญในวิชาที่จะให้ความรู้ และไม่จำเป็นต้องเป็นการเรียนด้านวิชาการเสมอไป เช่น วิชาภาษาอังกฤษ หรือคณิตศาสตร์ แต่อาจเป็นความชำนาญด้านวิชาชีพ เช่น สอนเย็บปักถักร้อย

ในขณะที่ 10 ประเทศที่คนไทยอยากทำงานด้วยแบบ virtual มากที่สุดมีดังนี้

  • อันดับ 1 ญี่ปุ่น
  • อันดับ 2 ออสเตรเลีย
  • อันดับ 3 สิงคโปร์
  • อันดับ 4 สหรัฐอเมริกา
  • อันดับ 5 สหราชอาณาจักร
  • อันดับ 6 ไต้หวัน
  • อันดับ 7 แคนาดา
  • อันดับ 8 สวิตเซอร์แลนด์
  • อันดับ 9 จีน
  • อันดับ 10 เกาหลีใต้

JobsDB ระบุว่า ประเทศที่คนไทยอยากทำงานด้วยอยู่ในแถบเอเชียครึ่งหนึ่ง ที่เหลือเป็นจากทวีปต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการด้านสวัสดิการแรงงาน และค่าตอบแทนของเอเชีย ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าฝั่งยุโรปและอเมริกา หากอยากทราบข้อมูลแบบละเอียด


การทำงานร่วมกับบริษัทระดับโลกหรือระดับนานาชาติ ที่มีคนทำงานมาจากหลายประเทศอาจทำมีหลายเรื่องที่น่ากังวล ทั้งวัฒนธรรม ภาษา และวิถีชีวิต แต่อย่างไรก็ตามมีข้อดีมากมาย โดย JobsDB ได้สรุปไว้ดังนี้

  1. เป็นโอกาสในการพัฒนาฝีมือการทำงาน เพราะได้ทำงานร่วมกับคนที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วทั้งเรื่องของทักษะ ความสามารถทางภาษา และความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ฉะนั้นหากได้รับโอกาสไปทำงานที่ต่างประเทศก็ยิ่งเป็นประวัติการทำงานที่ดีที่จะนำมาประดับไว้บนแฟ้มสะสมผลงาน (portfolio) ของเราได้
  2. โอกาสเติบโตในสายงาน การทำงานร่วมกับบริษัทระดับโลกนั้นไม่เพียงแต่จะเป็นประวัติการทำงานที่มาประดับบนแฟ้มสะสมผลงานของเราเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่ส่งเสริมให้เราได้รับโอกาสในการเติบโตในสายงานที่ทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานอยู่ที่ต่างประเทศหรือการกลับมาทำบริษัทในไทย ไม่ว่าจะทางไหนก็เป็นเส้นทางที่คุ้มค่าแก่การทำงานทั้งนั้น
  3. ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่มากกว่าบริษัทในไทย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ได้รับจากนายจ้างเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมากในการไปทำงานที่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบกว่าการทำงานในประเทศไทยค่อนข้างมาก ไม่เพียงแค่เงินเดือนเท่านั้น แต่ยังมีในส่วนของค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และการคุ้มครองระยะเวลาการทำงานที่มากกว่า ในบางที่อาจมีโควตาสำหรับผู้ติดตามอย่างสามี ภรรยา และลูก ๆ ให้ติดตามไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันขณะทำงานที่ต่างประเทศได้อีกด้วย
  4. ได้เรียนรู้ระบบงานและวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทต่างชาติ ถือเป็นโอกาสอันดีที่สำหรับการได้ร่วมงานกับบริษัทระดับโลก เพราะระบบการทำงานรวมไปถึงวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกัน ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพงานที่แตกต่างกันอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองในการทำงาน การวางแผน และการมองโลกในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเสียจนยากจะตามทัน ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรและระบบการทำงานนี้ส่วนใหญ่จะแตกต่างกันไปตามประเทศที่ตั้ง หรือตามนโยบายของสำนักงานใหญ่ที่กำหนดมา