จีนประกาศผ่านเวที UN หยุดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน BRI ลดปล่อยมลพิษ

ภาพ: REUTERS/David Gray/File Photo

จีนให้คำมั่นหยุดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในต่างประเทศ และสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาผลิตพลังงานสีเขียวคาร์บอนต่ำ

วันที่ 25 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ประกาศผ่านบันทึกวิดีโอจากประเทศจีน เพื่อเผยแพร่ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (United Nation’s General Assembly) ครั้งที่ 76 ที่จัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (United Nations) นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมาว่า จีนจะไม่สร้างโครงการเชื้อเพลิงถ่านหินใหม่ในต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการปล่อยมลพิษทั่วโลก ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement)

ซึ่งที่ผ่านมาจีนได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการถ่านหินในประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ภายใต้โครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 “Belt and Road Initiative” หรือ BRI ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักของจีนที่เริ่มในปี 2013 ในการขยายอิทธิพลบนเวทีโลกผ่านการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งกับนานาประเทศ ครอบคลุมกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา

ภาพ: UN/Eskinder Debebe

นายจิ้นผิงกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า จีนจะเพิ่มการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา ในการพัฒนาพลังงานสีเขียวและคาร์บอนต่ำ และจะไม่สร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ในต่างประเทศ ทั้งนี้ไม่มีการให้รายละเอียดเพิ่มเติม

นายดูแลน เดอซูซา (Durand D’Souza) นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล จาก Carbon Tracker ให้ความเห็นผ่านสำนักข่าวไทม์ว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวของจีนจะช่วยจำกัดการขยายตัวของโรงงานถ่านหินภายใต้โครงการ BRI ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ

“นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบการใช้ถ่านหินในฐานะแหล่งพลังงานหลักของโลก (ปัจจุบันถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานอันดับที่ 2 รองจากน้ำมัน) ซึ่งจีนเป็นผู้จัดหาพลังงานถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของโลก”

ก่อนหน้าที่ก็มีสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานจากประเทศจีน เพราะจีนไม่ทำการลงทุนสนับสนุนโครงการถ่านหินทั่วโลกในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ดังนั้น การประกาศของนายจิ้นผิงครั้งนี้ นับเป็นนโยบายการเปลี่ยนอย่างเป็นทางการ


อย่างไรก็ตาม จีนยังคงพึ่งพาพลังงานถ่านหินภายในประเทศเป็นอย่างมาก และเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยผลิตพลังงานถ่านหินมากกว่า 53% ของพลังงานถ่านหินโดยรวมในโลกในปี 2020 (ตามรายงานของกลุ่มวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Ember)