“มหิดลเพื่อสังคม” เปิดงานวิจัยแก้ปัญหาประเทศ

ภาพจาก : ศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก รพ.รามาธิบดี
ภาพจาก : ศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก รพ.รามาธิบดี

“บทบาทของมหาวิทยาลัยไม่เพียงแต่ผลิตบัณฑิตหรือสร้างคนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำงานวิจัยควบคู่กับงานบริการวิชาการด้วย ซึ่งต้องหยิบเอาผลงานในสถาบันออกมาสู่สังคมให้ได้”

คำกล่าวเบื้องต้นเป็นคำพูดของ “รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรสมภพ ประธานธุรารักษ์” รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในงานแถลงข่าวมหกรรมมหิดลเพื่อสังคม หรือ Mahidol University Social Engagement Forum : MUSEF 2021 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในรูปแบบ virtual conference ครั้งแรกในวันที่ 7 ตุลาคมนี้

รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรสมภพ ประธานธุรารักษ์
รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรสมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

ซึ่งเป็นงานรวบรวมองค์ความรู้วิชาการงานวิจัยของบุคลากรแวดวงวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์การแพทย์มานำเสนอในหลายประเด็น พร้อมกับเปิดเวทีให้นักวิจัยพบปะกับภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันสร้างกลไกในการขับเคลื่อน หรือผลักดันงานวิจัยไปสู่การกำหนดเป็นนโยบายที่จะช่วยแก้ปัญหาประเทศ

“รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกร สมภพ” กล่าวเพิ่มเติมว่า งานวิจัยของมหิดลจะเน้นไปที่รูปแบบการหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในเชิงสุขภาพ เช่น คิดค้นยาใหม่, วิธีการรักษาใหม่ หรือในรูปแบบการเข้าไปช่วยเหลือสังคมในมิติต่าง ๆ

“ซึ่งจะปรากฏตัวอย่างให้เห็นใน MUSEF 2021 เพราะงานวิจัยเป็นเรื่องใกล้ตัว สามารถนำเอาองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น เรื่องฝุ่น PM 2.5, ความปลอดภัยเด็ก, การดูแลผู้สูงอายุ, เกษตรอินทรีย์, การลดความรุนแรง, การลดบริโภคโซเดียม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องเข้าใจง่าย ๆ”

“โดยกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมงานเราวางไว้ 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ 1.นักวิจัย เจ้าของผลงาน 2.ภาคชุมชน สังคม ผู้ที่จะนำงานไปใช้ เช่น ผู้บริหารชุมชน NGO และ 3.ระดับผู้บริหารองค์กรที่คุมนโยบายแต่ละเรื่อง เช่น นโยบายท่องเที่ยว นโยบายเกี่ยวกับเด็ก หรือแม้แต่ภาคเอกชนที่จะเข้ามาช่วยทำให้สังคมไทยดีขึ้น สิ่งเหล่านี้คือความมุ่งหวังของเราเพื่อจะช่วยกันผลักดันไปสู่นโยบายพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ”

สำหรับตัวอย่างงานวิจัยเพื่อสังคมที่นำเสนอโดย “รองศาสตราจารย์นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์” ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ยกตัวอย่างงาน “การปฏิบัติการเล่นสู่ความปลอดภัยในเด็ก” ซึ่งเป็นงานวิชาการที่จัดทำขึ้นเพื่อหวังลดอัตราการเสียชีวิตในเด็ก

“เพราะจากการสำรวจพบว่าในอดีตเด็กมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก แต่เป็นการเสียชีวิตด้วยโรคเรื้อรัง อาทิ โรคทางสมอง แต่เมื่อสภาพเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนไป พบว่าเด็กมักเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุสูงขึ้น มหิดลจึงร่วมกับเครือข่ายจัดตั้งศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็กขึ้นมาเมื่อปี 2545 เพื่อทำงานร่วมกับสังคม เราทำหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้พ่อแม่ หรือการเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันออกกฎหมายคุ้มครอง”

โดยช่วง 19 ปีผ่านมามหิดลพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จากสถิติเสียชีวิตปีละประมาณ 4,000 กว่าคน ปัจจุบันเหลือประมาณ 2,000 คน แต่เด็กอายุ 12-18 ปี สถิติไม่ลดลงเลย ส่วนใหญ่มาจากอุบัติเหตุ การจราจร ความรุนแรง การเล่นผาดโผน

ผลเช่นนี้จึงเกิดข้อสรุปคือ 1.เราต้องฝังชิปความปลอดภัยตั้งแต่วัย 5-6 ขวบ 2.สร้างห้องปฏิบัติการศูนย์เรียนรู้และเล่นในชุมชนต่าง ๆ โดยมีผู้นำคอยสอดส่องดูแลด้วย จึงเป็นที่มาโปรเจ็กต์ปฏิบัติการเล่นสู่ความปลอดภัยในเด็ก

ด้วยการทำงาน 2 ด้านดังที่กล่าวมา จึงผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ในชุมชน สร้างห้องปฏิบัติการให้เด็กได้มีพื้นที่เล่นอย่างปลอดภัย และนำไปสู่การเรียนรู้ต่าง ๆ โดยการมีครู ผู้นำ ดูแลในแต่ละชุมชน เพื่อปลูกฝังความปลอดภัยให้เขาก่อนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น

“เราทำโปรเจ็กต์นี้มา 2 ปี มีเด็กเข้าร่วมประมาณ 8,000 กว่าคน มีการสร้างครู ผู้นำ พร้อมกับสร้างห้องจำลอง หรือห้องเรียนรู้ตามชุมชนหลายแห่ง อนาคตอยากให้มีการขยายพื้นที่มากขึ้น เพื่อให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเด็ก เพราะสุดท้ายแล้วเป้าหมายคือเราต้องการลดจำนวนอัตราการเสียชีวิตของเด็กลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง หรือลดให้ได้ปีละพันกว่าคน”

ขณะที่ “รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ” คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงงานวิจัยลดการบริโภคเกลือโซเดียมว่าเป็นวิจัยที่รณรงค์ลดการบริโภคเกลือโซเดียม หรือลดการกินเค็ม เพราะว่าการกินเค็มจะนำไปสู่การเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ ไตวาย อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคสมอง ฯลฯ

“อันเป็นสาเหตุทำให้เกิดการสูญเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เช่น โรคไต ใน 1 ปีรัฐใช้เงินไม่ต่ำกว่า 2-3 หมื่นล้านสำหรับเฉพาะการฟอกไต ฟอกเลือด”

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกแนะนำทุกประเทศให้ลดการบริโภคเกลือให้ได้ 30% ภายในปี 2568 จึงทำให้ประเทศไทยรับนโยบายนี้มากำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน 2559-2568 ผ่านสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยกระทรวงสาธารณสุข

เครื่องตรวจวัดความเค้ม
ภาพจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล

“ดังนั้น เราอยากขับเคลื่อนเรื่องนี้จึงสำรวจร่วมกับหลาย ๆ หน่วยงานเกี่ยวกับสถิติการบริโภคโซเดียม พบว่าคนไทยบริโภคโซเดียมสูงกว่าความต้องการปกติถึง 2 เท่า โดยเฉพาะภาคใต้เป็นภูมิภาคที่พบว่าบริโภคมากสุด อาจเป็นเพราะได้รับอิทธิพลอาหารต่างชาติ พฤติกรรมเน้นรับประทานอาหารนอกบ้าน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มหิดลรณรงค์ร่วมกับเครือข่ายผ่านสื่อ และมีนวัตกรรมเครื่องวัดค่าความเค็มอย่างง่ายที่ผลิตโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์”

“เพียงนำไปจุ่มลงในอาหารก็จะปรากฏค่าออกมา เพื่อเตือนว่าอาหารมีความเค็มมากหรือน้อย ซึ่งนวัตกรรมนี้ถูกนำไปใช้ในทางคลินิกแล้ว โดยเฉพาะคนไข้ในโรงพยาบาลรามาธิบดีหลังจากมีการใช้ไปสักระยะพบว่าคนไข้มีความดันลดลง โดยไม่ต้องปรับยา และค่อนข้างได้ผลดีมาก”

“ดังนั้น ต่อไปเราจะขยายผลสู่การนำไปใช้ในชุมชนมากขึ้น เพราะมองว่ามีความจำเป็นต่อการดูแลสุขภาพคนไทย ใช้งานง่าย หาซื้อแบตเตอรี่เปลี่ยนได้ตามท้องตลาดทั่วไป เพราะเรามองว่าความสามารถในการรับรสอาหารของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงจำเป็นต้องใช้กับคนบางกลุ่มเพื่อเตือนปริมาณการบริโภคโซเดียมแต่พอเหมาะ”


นับว่าน่าสนใจทีเดียว