We DO Well Together ภารกิจเพื่อสังคม “พรูเด็นเชียล”

พรูเด็นเชียล

นับตั้งแต่ต้นปี 2564 พรูเด็นเชียลเปิดตัวแคมเปญ “We DO Well Together” ซึ่งแม้จะเป็นแคมเปญใหม่ แต่จุดประสงค์หลักยังคงเน้นไปที่เรื่องการส่งเสริมสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน อันเป็นบทบาทหลักของกลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียลในฐานะบริษัทประกันชีวิต และสุขภาพนับตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจมา

สำหรับประเทศไทย We DO Well Together เป็นแคมเปญที่เน้นให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเป็นหลัก

เบื้องต้น “เปสลารี ธีระสาสน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานลูกค้าบริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงที่มาของแคมเปญนี้ว่าเริ่มต้นจากกลุ่มพรูเด็นเชียล มีความตั้งใจที่จะดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคมในทุกประเทศที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจอยู่

เปสลารี ธีระสาสน์
เปสลารี ธีระสาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานลูกค้าบริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

“โดยมีเป้าหมายหลักคือ การสนับสนุนให้คนใช้ชีวิตคุ้มค่าที่สุด เพื่อไปให้ถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดในชีวิตที่ตั้งใจไว้ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราคิดค้นโครงการหรือแคมเปญต่าง ๆ ขึ้นมา โดยเน้นไปที่เรื่องสุขภาพกายสุขภาพใจ และสถานะทางการเงินเป็นหลัก”

“เพราะเชื่อว่าก่อนที่เราจะไปถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดในชีวิตที่ตั้งไว้จะต้องมีความมั่นคงในเรื่องนี้ด้วย อย่าง We DO Well Together เป็นโครงการที่เราแบ่งกิจกรรม หรือการดำเนินงานออกเป็นหลายส่วนด้วยกัน”

โดยผ่าน 3 แคมเปญย่อยที่ดำเนินการเฉพาะในประเทศไทยตลอดจนถึงสิ้นปี 2564 นี้ ได้แก่

หนึ่ง We DO Support เป็นการช่วยเหลือสังคมไทยในสถานการณ์โควิด ทุก ๆ ปีพรูเด็นเชียลจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากพรูเด็นซ์ ฟาวน์เดชั่น องค์กรเพื่อการกุศลของพรูเด็นเชียล ทั้งในเอเชียและแอฟริกา ในการนำงบฯไปจัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีระยะยาวแก่คนไทย เช่น เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน หรือการส่งเสริมทักษะทางการเงินให้กับเยาวชน ฯลฯ

กระทั่งมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามาจึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบด้วยการนำงบประมาณที่ได้รับรายปีมาให้ความช่วยเหลือองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการรักษาโควิด

“สำหรับปีนี้เราได้งบประมาณ 5 ล้านบาท จึงนำไปช่วย 4 โรงพยาบาลคือ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, วชิรพยาบาล, โรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลสงฆ์ โดยโรงพยาบาลแต่ละแห่งเราเข้าไปสนับสนุนแตกต่างกัน อย่างโรงพยาบาลสงฆ์ ทางพรูเด็นเชียลสร้าง AI คลินิก เป็นคลินิกที่ครบวงจร สามารถตรวจ คัดกรอง รวบรวมตัวอย่าง และมีพื้นที่เฉพาะสำหรับตรวจวัณโรคด้วย”

“ส่วนที่วชิรพยาบาลเราไปสร้างวอร์ดรักษาเด็กให้ เพราะช่วงแรกที่วชิรพยาบาลไม่มีห้องความดันลบ ต้องนำเด็กไปรักษาที่วอร์ดของผู้ใหญ่ อีกอย่างเครื่องมือในการรักษาไม่เหมาะสมกับเด็ก และไม่มีแพทย์เด็กผู้เชี่ยวชาญประจำที่วอร์ดนั้น”

“นอกจากนั้น เรายังมอบเครื่องให้หลอดเลือดดำอัตโนมัติจำนวน 15 เครื่องแก่วิชรพยาบาล เป็นตัวช่วยในการปล่อยยาให้คนไข้ทางหลอดเลือดดำที่ได้มาตรฐาน ทั้งยังมีการมอบเครื่องช่วยหายใจแบบ hi-flow จำนวน 8 เครื่อง กระจายไปยังอีก 4 โรงพยาบาล รพ.ศิริราช, รพ.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต, รพ.สมุทรสาคร และ รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียนอีกด้วย”

สอง We DO Share ในสถานการณ์โควิด มี fake news เกิดขึ้นเยอะมาก จึงร่วมกับโรงพยาบาลเครือข่าย เช่น โรงพยาบาลพญาไท ด้วยการนำข้อมูลทางการแพทย์มาสร้างคอนเทนต์ด้วยเพื่อช่วยให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งยังเป็นประโยชน์

เพราะมีวิธีสื่อสารที่ทำให้ทุกคอนเทนต์มีความสนุก เข้าใจง่าย ทั้งในรูปแบบของอินโฟกราฟิก การ์ตูน และคลิปวิดีโอ ส่วนเนื้อหาไม่ได้มีแค่เรื่องโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการให้ข้อมูลด้านสุขภาพต่าง ๆ เช่น เคล็ดลับลดอาการนอนไม่หลับ การรู้ทันโรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือข้อแนะนำการทำงานที่บ้านสามารถสร้างความสมดุลระหว่างการทำงาน และดูแลครอบครัวได้อย่างไร เป็นต้น

สาม We DO Health เป็นแคมเปญเรื่องสุขภาพ ด้วยการสร้างแอปพลิเคชั่น “Pulse” ขึ้นมา พัฒนาโดยใช้เทคโนโลยี AI และใช้องค์ความรู้ของทีมแพทย์กว่า 300 คนรวมในแอปนี้ ซึ่งได้พัฒนาระบบกับบริษัท Babylon ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษที่มีชื่อเสียง และมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนา AI doctor

ความพิเศษของแอปพลิเคชั่นนี้สามารถประเมินสุขภาพของแต่ละคนได้ จากการตอบคำถามทางการแพทย์ ทั้งยังวิเคราะห์ได้เป็นรายอวัยวะ นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์หรือเครื่องตรวจอาการ (symptom checker) สำหรับสอบถามอาการและตอบคำถามด้วยแชตบอต ที่สามารถช่วยตอบโจทย์เวลามีอาการเจ็บป่วยที่อาจจะเกิดขึ้นในยามวิกาลได้

“เหมือนพูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่คอยให้คำแนะนำตรงกับอาการที่เกิดขึ้น เช่น อาการนี้สามารถหายาทานก่อนได้ หรือต้องออกไปพบแพทย์ในทันที หรือในกรณีที่ต้องไปโรงพยาบาลในขณะนั้น ก็จะมีแผนที่อัพเดตค้นหาโรงพยาบาลใกล้เคียงให้ ทั้งยังคลิกเพื่อต่อสายถึงโรงพยาบาลได้อีกด้วย นอกจากนี้ตัวแอปก็มีการแนะนำเรื่องสุขภาพอีกมากมาย”

กล่าวกันว่า แอปพลิเคชั่น “Pulse” เพิ่งเปิดตัวในประเทศไทยเมื่อปี 2563 ผ่านมา ถึงตอนนี้มียอดดาวน์โหลดใช้งานแล้วกว่า 2.7 ล้านครั้ง และภาพรวมล่าสุดมีการเปิดใช้งานไปแล้วใน 11 ประเทศ แบ่งเป็นเอเชีย 6 ประเทศ ส่วนที่เหลือคือ แอฟริกา และปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 30 ล้านครั้ง

“เปสลารี” กล่าวต่อว่า เป้าหมายหลักของเราคือ การช่วยให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดี แม้จะไม่ใช่ลูกค้าของเราก็ตาม ถ้าตามหลัก ESG (environment, social, governance) เราจะเน้นโจทย์ไปที่ social มากที่สุด เพราะไม่ว่าเราจะดำเนินงานในประเทศไหน จะต้องมีส่วนในการพัฒนาประเทศนั้น ๆ ด้วย

“อย่างก่อนโควิด-19 เรามีโครงการเสริมทักษะการเงินให้เยาวชน ที่มีหลักสูตรโดยเฉพาะแก่เด็กอายุระหว่าง 7-11 ขวบ เพื่อปลูกฝังความคิดตั้งแต่การได้เงินมา จะหักเงินอย่างไร เก็บแพลนใช้เท่าไหร่ เหลือจะบริจาคเท่าไหร่ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ได้รับการรับรองเป็นหลักสูตรนอกห้องเรียนโดยกระทรวงศึกษาธิการ”

“ตอนนี้เราร่วมกับโรงเรียนต่าง ๆ กว่า 195 โรงเรียนที่นำไปใช้ มีครูได้รับการเทรนด์ไปแล้ว 1,500 คน โครงการนี้รวมถึงอื่น ๆ ก็ยังจะดำเนินต่อไป เพียงแต่ช่วงวิกฤตนี้ถือเป็นการปรับรูปแบบความช่วยเหลือเพิ่มเติม นี่คือรูปแบบการทำงานเพื่อสังคมของพรูเด็นเชียลในปีนี้”

ถึงตรงนี้ จึงอดไม่ได้ที่จะถามว่า…มีการวัดผลแคมเปญนี้อย่างไร ?

“เปสลารี” จึงบอกว่าที่ผ่านมามีการวัดจาก brand engagement ถ้าเทียบกับปีก่อนตอนนี้มีผู้ติดตามบนโซเชียลเพิ่มขึ้น 30% จากการที่เราโปรโมตแคมเปญนี้มากขึ้น จึงส่งผลให้คนหันมาสนใจแบรนด์ และในส่วนของแอป Pulse พบว่า monthly active user มีประมาณ 150,000 ต่อเดือน


“อาจเป็นเพราะในตอนนี้คนไทยเริ่มคุ้นชินกับการปรึกษาแพทย์ออนไลน์มากขึ้นด้วย”