“พลังเยาวชน” เปลี่ยนโลก

ประกอบบทความ
CSR Talk

ย้อนกลับไปเมื่อ 1-2 ปีก่อน หลายคนอาจคุ้นชื่อเด็กหญิงชาวสวีเดนตัวเล็ก ๆ นามว่า “เกรตา ทุนเบิร์ก” ผู้ลุกขึ้นมาเรียกร้องรัฐบาลอย่างกล้าหาญให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เธอตัดสินใจไม่ไปโรงเรียน ออกมาประท้วงต่อรัฐบาลทุกวัน ทำใบปลิวอธิบายปัญหาโลกร้อนแจกแก่ผู้คนที่เดินผ่านไปมา จากนั้นปรับแผนประท้วงทุกวันศุกร์ พร้อมจัดตั้งโครงการ Fridays for Future และสร้างเว็บไซต์ Fridays for Future ศูนย์กลางรายงานกิจกรรมโครงการ และนโยบายการจัดการปัญหาลดโลกร้อนของรัฐบาลแต่ละประเทศ ซึ่งมีเด็กและเยาวชนคนอื่น ๆ เข้าร่วมประท้วงด้วยจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน

การกระทำเหล่านี้กระทบใจต่อผู้ใหญ่ ทำให้ “เกรตา” ได้รับเชิญไปกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีในงานประชุมระดับโลกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 24 ที่สาธารณรัฐโปแลนด์ และยิ่งทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนกันมากขึ้น

อีกทั้งการกระทำของเธอยังสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนทั่วโลกกล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น ตามคำพูดที่เธอเคยกล่าวไว้ว่า “No One Is Too Small to Make a Difference” หรือ “ไม่มีใครเด็กเกินไปที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง”

เรื่องราวเหล่านี้ทำให้ยิ่งตอกย้ำว่า เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตนั้น มีพลังทางความคิดที่ต้องการจะเห็นประเทศของพวกเขาและโลกใบนี้พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น เฉกเช่นกลุ่มเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยกว่า 10,000 คน จาก 50 โรงเรียน ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล, พื้นที่ภูเก็ต และพื้นที่ขอนแก่น ที่ได้เข้าร่วมโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า หรือ The Electric Playground โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

โดยเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้ให้ความสำคัญและความสนใจต่อการเปลี่ยน “ขยะ” ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า ภายใต้การบูรณาการองค์ความรู้แบบ STEAM หลายสาขาทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ และคณิตศาสตร์ เพื่อช่วยลดปัญหาขยะล้นโลก ทั้งยังนำความรู้ด้านการจัดการคัดแยกขยะที่ถูกต้องส่งต่อผู้คน ตลอดจนพลิกฟื้นขยะให้มีมูลค่าเพิ่ม และมีประโยชน์คืนสู่ชุมชนและประเทศชาติ

โครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า หรือ The Electric Playground มุ่งส่งเสริมความรู้เยาวชนระดับมัธยมศึกษา รวมถึงคุณครูให้เข้าถึงองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะอย่างถูกวิธี พร้อมเปิดเวทีให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ แต่ละโรงเรียนฟอร์มทีมประลองไอเดียแข่งขันสร้างสรรค์นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจากขยะเพื่อต่อยอดสู่การทำธุรกิจจริงเพื่อเป็นว่าที่ “นวัตกรด้านนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจากขยะอนาคตไกล”

“ปัทมาวดี พัวพรหมยอด” ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรมฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติฯ เปิดเผยว่า สิ่งที่เห็นจากกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ภายใต้การทำงานโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า หรือ The Electric Playground พบว่าเด็ก ๆ เกือบ 100% ตระหนักถึงความสำคัญของอนาคตที่แต่ละคนต้องเผชิญเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะประเด็นในด้านสิ่งแวดล้อม

“เพราะที่ผ่านมาเด็ก ๆ หลายคนคุ้นชินกับภาพของขยะที่ยังไร้การกำจัดอย่างถูกวิธี รวมไปถึงผลเสียที่เกิดขึ้นในระบบห่วงโซ่ธรรมชาติ เช่น ภาพของสัตว์ที่ต้องกินขยะเป็นอาหาร ชุมชนที่รายล้อมไปด้วยสิ่งปฏิกูล หรือแม้แต่กระทั่งสัตว์ทะเลที่ต้องตายไปเนื่องด้วยขยะที่สะสมใต้ท้องทะเล ฯลฯ”

“สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปรสำคัญที่จะส่งผลถึงการใช้ชีวิตของพวกเขาในอนาคต แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็พบว่าเด็ก ๆ หลายคนมีทัศนคติที่ดีต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลง ประกอบกับประเด็นหลักเนื้อหาในหลักสูตรของโครงการที่แสดงให้เห็นว่าขยะสามารถเปลี่ยนเป็นทรัพยากรเพื่อแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ ทำให้เห็นถึงความพยายามในการเสนอทางออกผ่านการพัฒนานวัตกรรม รวมถึงมีไอเดียที่มีความสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก”

“จากประสบการณ์ที่ได้ร่วมกันทำงานกับเด็ก ๆ เชื่อว่าพลังที่สร้างสรรค์เหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงมูลค่า และเป็นเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคต นอกจากนี้ NIA ยังเชื่อว่าโครงการ The Electric Playground เป็นทางออกในด้านการให้ความรู้ด้านการจัดการขยะ และเป็นโมเดลที่สำคัญต่อวงการการศึกษาที่สามารถสร้างการตื่นรู้ให้กับอนาคตของชาติ สามารถสร้างอนาคตของตัวเองได้อย่างแน่นอน”

สำหรับในเดือนกันยายน 2564 นี้ ได้เดินทางมาแล้วครึ่งทาง โดยเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่จากทั้งหมด 250 ทีม ได้นำเสนอผลงานบนเวที pitching ต่อหน้าคณะกรรมการ คัดเหลือ 150 ทีมและคัดเหลืออีก 25 ทีม เข้าสู่ด่านที่ 3 – ELECATHON นำ 25 ทีมเข้าค่ายพัฒนานวัตกรผู้สร้างนวัตกรรมสุดพิเศษที่เข้มข้นและลงลึกทุกรายละเอียด เพื่อพัฒนาเหล่านวัตกรไปสู่รอบชิงชนะเลิศ

ทั้ง 25 ทีมจะต้องนำเสนอผลงานนวัตกรรมในเวทีระดับประเทศกับเหล่าผู้ประกอบการ บริษัท องค์กร หรือกองทุนที่สามารถร่วมลงทุนให้นวัตกรรมหรือธุรกิจที่โดดเด่น เพื่อคัดเหลือสุดยอด 10 ทีมสุดท้าย เพื่อนำผลงานจัดแสดงนิทรรศการ และ 5 ทีมสุดกะทิ เพื่อเดินทางไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ

สำหรับการเข้าค่ายครั้งนี้จะครบครันด้วยผู้เชี่ยวชาญทางภาคธุรกิจ กระบวนการและเมนเตอร์จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ร่วมให้คำปรึกษาพร้อมแนะแนวทางให้แก่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่อย่างใกล้ชิด