วันคุมกำเนิดโลก 26 ก.ย. กรมอนามัย-ออร์กานอน ลดปัญหาท้องไม่พร้อม

ภาพ: REUTERS/Chaiwat Subprasom

กรมอนามัยจับมือออร์กานอน ลดปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม สนับสนุนการสร้างพื้นที่พูดคุย และรับฟังปัญหา

วันที่ 25 กันยายน 2564 สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ ออร์กานอน ประเทศไทย บริษัทด้านยาและเภสัชภัณฑ์ชั้นนำ ที่ก่อตั้งขึ้นจากการแยกตัวจากบริษัท เมอร์ค จำกัด รณรงค์แก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อมในสังคมไทย ส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์อย่างทั่วถึง พร้อมสนับสนุนการสร้างพื้นที่ในการพูดคุยและรับฟังปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในวงกว้าง เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้แก้ปัญหาร่วมกัน เนื่องในวันคุมกำเนิดโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 26 กันยายนของทุกปี

นพ.พีระยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรอายุ 10-19 ปี จำนวน 8 ล้านคน แบ่งเป็น เพศชาย 4 ล้านคน และเพศหญิง 4 ล้านคน อายุเฉลี่ยเพศหญิงที่กายภาพพร้อมในการตั้งครรภ์อยู่ที่ 11.57 ปี

ทั้งนี้ มีประชากรอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่มีสถานะสามี-ภรรยา จำนวน 3 เปอร์เซ็นต์ ประชากรอายุอายุต่ำกว่า 18 ปี มีสถานะสามี-ภรรยา จำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้เป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และพบว่าวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ใช้ถุงยางอนามัย จำนวน 20 เปอร์เซ็นต์

นพ.พีระยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

จากสถิติในปี 2562 พบว่า วัยรุ่นอายุ 15-19 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 169 คน ในขณะที่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้กำเนิดบุตรเฉลี่ยวันละ 6 คน ด้านจำนวนคุณแม่วัยใสพบว่าในปีเดียวกัน มีจำนวนผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปีที่ให้กำเนิดบุตรอยู่ที่ 63,831 ราย โดยแยกเป็นอายุระหว่าง 15-19 ปี จำนวน 61,651ราย และอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 2,180 ราย และยังมีผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปีที่มีการคลอดซ้ำอีกถึง 5,222 ราย (สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์2564)

นพ.พีระยุทธกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาท้องไม่พร้อมเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย เพราะเด็กที่เกิดมาจากการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม และผู้ปกครองที่ไม่สามารถดูแลเด็กอย่างมีคุณภาพ ย่อมส่งผลต่อความแข็งแรงของสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ในฐานะที่สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์มีหน้าที่ส่งเสริมสุขภาวะด้านอนามัยการเจริญพันธุ์โดยตรง

เพื่อเป็นการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (พ.ศ. 25602569) อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการส่งเสริมวัยรุ่นที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ให้สามารถเข้าถึงบริการคุมกำเนิดกึ่งถาวร ด้วยการใส่ห่วงคุมกำเนิดและฝังยาคุมได้ฟรีทุกกรณี ที่สถานบริการเครือข่ายของ สปสช.ทั่วประเทศ

โดยในปี 2563 ได้จัดบริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรเพิ่มขึ้น ครอบคลุม 85.6 เปอร์เซ็นต์ของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในปี 2563 มีวัยรุ่นเข้าถึงบริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรสะสมตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2557–31 มีนาคม 2564 รวม 210,997 คนตามข้อมูลจาก E-Claim ของ สปสช.

นอกจากนั้น แก้ไขปัญหาหญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 20 ปีขึ้นไปในกรณีหลังยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งการดำเนินยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังนำไปสู่การผลักดันและบังคับใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2564 เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงให้ได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยได้ในระบบบริการสุขภาพอย่างทั่วถึงและครอบคลุม และสนับสนุนค่าบริการการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

และจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2569) เพื่อให้ทุกการตั้งครรภ์เป็นการตั้งครรภ์ที่เกิดจากความตั้งใจ มีการวางแผน แม่และเด็กได้รับการดูแลที่เหมาะสมทั้งก่อนและหลังคลอด สนับสนุนค่าบริการในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย และการให้บริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น เพื่อสนับสนุนให้วัยรุ่นกล้าที่จะเข้ามาปรึกษาหรือรับบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ได้ โดยไม่ต้องกังวลถึงการตัดสินในแง่ลบจากสายตาของสังคม

ล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัว Line Official Account TEEN CLUB เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลข่าวสาร ประเด็นความรู้ที่น่าสนใจ และข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในการเข้ารับบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ของวัยรุ่น ผู้สนใจสามารถแอดไลน์ TEEN CLUB ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/@teen_club

“กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสำคัญในการป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อม ด้วยการผลักดันพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 โดยร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้เกิดแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 20 ปี ที่กำหนดให้ภายใน 10 ปีแรก (ภายในปี 2569) จะต้องมีอัตราการคลอดในกลุ่มอายุ 15-19 ปีไม่เกิน 25 คนต่อ 1,000 คน และภายใน 20 ปี (ภายในปี 2579) จะต้องมีอัตราการคลอดในกลุ่มอายุ 15-19 ปี ไม่เกิน 15 คนต่อ 1,000 คน”

นพ.พีระยุทธกล่าวด้วยว่า นโยบายข้างต้นสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัท ออร์กานอน จำกัด ในความมุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อมในประเทศไทย ด้วยการรับฟังเสียงของผู้หญิง และนำความเชี่ยวชาญด้านเภสัชภัณฑ์มาตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของผู้หญิงไทย จึงนำไปสู่ความร่วมมือในการรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาคุณแม่วัยใสร่วมกัน

“ล่าสุดออร์กานอนได้สนับสนุนสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับปัญหาท้องไม่พร้อมในประเทศไทย ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศในรูปแบบออนไลน์เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา”

คุง คาเรล เคราท์บ๊อช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออร์กานอน (ประเทศไทย) จำกัด

นายคุง คาเรล เคราท์บ๊อช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออร์กานอน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ออร์กานอนเชื่อว่าผู้หญิงเป็นรากฐานของสุขภาพที่ดีของโลกในภาพรวม โดยเฉพาะสุขภาพในด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ เพราะถ้าคุณแม่มีความพร้อมในการตั้งครรภ์แล้ว ลูกที่เกิดมาก็จะได้รับการดูแลที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามมา

“การรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้ผู้หญิงทราบถึงความรุนแรงของผลจากการท้องไม่พร้อม ที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตในระยะยาวในด้านต่าง ๆ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ รวมไปถึงด้านการเงิน จะช่วยให้ผู้หญิงสามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบมากขึ้น และเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด

นอกจากนี้ การให้ความรู้ด้านเพศศึกษา การมอบทางเลือกในการคุมกำเนิดที่เหมาะสมต่อผู้หญิงแต่ละคน ไปจนถึงการสนับสนุนบริการคุมกำเนิดที่ปลอดภัยและไม่มีค่าใช้จ่าย ถือเป็นอีกภารกิจสำคัญในการป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อมในระยะยาว ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน”

เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของวันคุมกำเนิดโลกปี 2564 ออร์กานอน ประเทศไทย ยังได้ร่วมกับสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ประกอบการร้านยารวมใจไทย ซึ่งมีเครือข่ายสมาชิกทั่วประเทศไทยถึง 3,000-4,000 ราย ในการส่งเสริมความรู้เรื่องการวางแผนครอบครัวแก่ประชาชน  ผ่านเภสัชกรและเครือข่ายร้านขายยาทั่วประเทศ

และเพื่อเป็นการสร้างพื้นที่ในการรับฟังปัญหาและแลกเปลี่ยนแนวทางในการลดปัญหาการท้องไม่พร้อมร่วมกัน ออร์กานอนจึงขอเชิญชวนผู้หญิงทุกคน ครอบครัวและคนรอบข้าง ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และผู้ขับเคลื่อนนโยบายในระดับประเทศ มาร่วมแลกเปลี่ยนบทสนทนาและเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อมไปด้วยกันผ่านทางเว็บไซต์ HereforHerHealth.com

(ซ้าย) คุง คาเรล เคราท์บ๊อช และ (ขวา) นพ.พีระยุทธ สานุกูล