กสร. ขอนายจ้างช่วยลูกจ้าง บ้านน้ำท่วมให้หยุดงาน ไม่นับเป็นวันลา

แจ้งด่วนที่สุด ปทุมธานี ทุกหน่วยงาน รับมือน้ำท่วม 24 ชั่วโมง
ภาพจากเฟซบุ๊ก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดปทุมธานี

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ออกประกาศแนวทางช่วยเหลือ ลูกจ้าง-นายจ้าง บรรเทาผลกระทบจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่”

วันที่ 29 กันยายน 2564 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน ออกประกาศขอความร่วมมือช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ ลูกจ้างเดินทางมาทำงานไม่ได้ หรือมาสาย ขอให้นายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลา และร่วมกันจัดทำแผนฉุกเฉินดูแลสถานประกอบกิจการ

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า อิทธิพลพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ที่เคลื่อนตามแนวร่องมรสุมเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางส่งผลให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ก่อให้เกิดปัญหาอุทกภัยและภัยธรรมชาติในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชน สถานประกอบกิจการ นายจ้าง และลูกจ้างได้รับผลกระทบ ไม่สามารถประกอบกิจการและทำงานได้ตามปกติ

อภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดี กสร.

“ซึ่งนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กำชับให้ กสร.ดูแลสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างในพื้นที่ที่ไม่สามารถทำงานได้เพราะประสบภาวะน้ำท่วม เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น กสร.จึงออกประกาศขอความร่วมมือช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564”

โดยมีแนวทาง 3 ข้อดังนี้

  • กรณีที่อยู่อาศัยของลูกจ้างได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติเป็นเหตุให้เดินทางไปทำงานไม่ได้ หรือมาทำงานสาย ขอความร่วมมือนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลา หรือเป็นความผิดต่อข้อบังคับ เกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้าง
  • ขอให้นายจ้างจัดทำแผนฉุกเฉินกรณีเกิดภัยธรรมชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญและแก้ไขสถานการณ์ บรรเทาความเดือดร้อนและความสูญเสีย
  • ขอให้คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ของสถานประกอบกิจการ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ได้ร่วมมือปฏิบัติตามแผนฉุกเฉิน ตรวจสอบเกี่ยวกับไฟฟ้า เครื่องจักร อาคารสถานที่ ในสถานประกอบกิจการเพื่อ ป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย

อธิบดี กสร.กล่าวเพิ่มเติมว่า ประกาศฉบับดังกล่าว ยังมีจุดประสงค์ให้คณะกรรมการสวัสดิการ ในสถานประกอบกิจการ ร่วมมือกับนายจ้างในการดูแล และสนับสนุนการจัดสวัสดิการให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง ที่ประสบภัยตามความเหมาะสม และให้เครือข่ายด้านแรงงานติดตามข้อมูลข่าวสารจากลูกจ้าง ผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อแจ้งข้อมูลให้หน่วยงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทราบ และประสานงานเพื่อขอความช่วยเหลือตามความเหมาะสม

รวมถึงขอให้นายจ้าง ลูกจ้าง และองค์กรแรงงานปรึกษาหารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหา โดยหลักสุจริตใจ เพื่อเสริมสร้างสันติสุขในการบริหารแรงงาน ทั้งนี้ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ที่ประสบภัย เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และขอให้นายจ้าง ลูกจ้าง แสดงความเห็นอกเห็นใจกันเพื่อให้ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ คลี่คลายและผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยดี