ภาคเอกชน ชูกลยุทธ์ความยั่งยืน นำพาธุรกิจเติบโตในอนาคต

ภาคเอกชน ชูกลยุทธ์ความยั่งยืน นำพาธุรกิจเติบโตในอนาคต ชี้ทุกภาคส่วนต้องจับมือกัน และให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกัน

วันที่ 30 กันยายน 2564 ภาคเอกชนร่วมกันจัดงาน THAILAND SUSTAINABILITY EXPO 2021 (TSX) ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” ในรูปแบบ Virtual Expo โดยภายในงานได้มีการจัดเสวนา CEO Panel Discussion : Post COVID Outlook on Sustainability โดยนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวในช่วงหนึ่งของงานเสวนาว่า สถานการณ์โควิดทำให้ภาคธุรกิจต้องตั้งสติมากขึ้น และปรับตัว ปรับโครงสร้างการทำงานในองค์กร เพื่อเตรียมพร้อมให้กลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิม

ซึ่งโควิดได้ทำให้แต่ละองค์กรเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตนเองมากขึ้น ขณะเดียวกันก็โฟกัสในเรื่องของ sustainability หรือการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งผมมองว่าธุรกิจจะยั่งยืนได้ต้องสร้างความสมดุลย์ทั้ง 3 ด้านที่กล่าวมา และที่สำคัญ แต่ละภาคส่วนจะต้องผนึกกำลังทำงานร่วมกันมากขึ้น ใครมีความถนัด หรือความเก่ง เชี่ยวชาญเรื่องใดก็นำมาแบ่งปันกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างเดิน เราควรจะจับมือแล้วเดินไปข้างหน้าด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น การทำงานร่วมกันระหว่าง ไทยเบฟ และไทยยูเนี่ยน ซึ่งไทยเบฟมีความคุ้นเคยในเรื่องการตลาดจัดจำหน่ายสินค้า ส่วนกลุ่มไทยยูเนี่ยนมีองค์ความรู้ ความถนัดเรื่องวัตถุดิบอาหาร เราก็วางแผนจะร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีสารอาหารมาจากปลาทูน่าในทะเลน้ำลึก ซึ่งก็เป็นความเชี่ยวชาญที่เราได้มาจากไทยยูเนี่ยน เป็นต้น 

นอกจากนี้ก็ต้องฟังเสียงของเยาวชนมากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสนใจกับความยั่งยืน ดังนั้นการรับคนเข้ามาทำงานด้วยก็อาจจะต้องโฟกัสและเลือกรับฟังกลุ่มคนเหล่านี้มากขึ้น 

ส่วนทางด้านนายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่อง sustainability สำหรับไทยยูเนี่ยนไม่ใช่แค่กิจกรรมซีเอสอาร์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของเรา หลายคนอาจมองว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องของส่วนรวม หรือเป็นการช่วยสังคม แต่จริง ๆ แล้ว ก็เป็นการช่วยตัวเอง หรือธุรกิจตัวเองด้วย เพราะไทยยูเนี่ยนมองว่ายิ่งให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากเท่าไหร่ บริษัทจะได้ประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น อย่างเรื่อง climate change การลดก๊าซเรือนกระจก การลดพลังงาน เศษอาหาร ฯลฯ ถ้าทำได้จะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนของเราไปด้วย 

สำหรับแผน 5 ปีจากนี้ไปของไทยยูเนี่ยนเป็นเรื่อง Healthy Living, Healthy Oceans ซึ่งก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพกายและสุขภาพทะเล สองส่วนนี้อยู่ในบริบทธุรกิจของเราอยู่แล้ว ล่าสุดเราสามารถนำเอาความยั่งยืนมาช่วยในการลดต้นทุน ทำให้เป็นกำไรมากขึ้น ก็คือเรื่อง Sustainability linked Financing Framework เรามีนโยบายภายในปี 2025 ว่าเงินกู้ของเรา 75% จะต้องมาจาก blue finance ซึ่งจะเชื่อมกับ KPI ในเรื่องของ sustainability ถือเป็นครั้งแรกที่สถาบันการเงินให้การสนับสนุนว่าถ้าเราสามารถทำได้ตามเป้า จะลดดอกเบี้ยให้ นี่ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการหลายส่วน ซึ่งวันนี้ดีมานด์ของ blue finance หรือ green financeมีค่อนข้างมาก เป็นที่ต้องการของตลาด 

ขณะที่นายฐาปน กล่าวเสริมว่า ประเด็นนี้เราคุยกันมานานหลายสิบปีแล้ว ว่าจะมีกระบวนการไหนที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ทุกฝ่ายได้ลงมือทำเรื่องความยั่งยืนด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือสถาบันการเงินเริ่มพูดคุยกันว่าทำอย่างไรจะปล่อยกู้แล้วตัวเขาเองมีส่วนช่วยทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ผมมองว่าสถาบันการเงินก็ปรับตัว และเรียนรู้ที่จะขับเคลื่อนโลกใบนี้ให้น่าอยู่ การพัฒนาเพื่อความยั่งยืนได้สะท้อนถึงขีดความสามารถ การตระหนักรู้ที่เห็นถึงผลกระทบต่อผู้ผลิต ทำให้รวมพลังกันได้ดีมากยิ่งขึ้น เป็นสัญญาณที่ดีที่โลกของเราไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แต่มีการรับรู้ในภาพที่กว้างขึ้น เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบน้อยที่สุด