เภสัชฯ จุฬา เปิดตัวยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์สำหรับเด็ก สูตรแรกของไทย

อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมมือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และภาคเอกชน พัฒนายาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ สำหรับเด็กและผู้ป่วยโรคโควิด-19 ตำรับแรกในประเทศไทย ซึ่งคว้ารางวัล Prime Minister Award ประเภท Innovation for Crisis ประเภทหน่วยงานภาครัฐ ในงานสตาร์ตอัพและอินโนเวชัน ไทยแลนด์ เอ็กซ์โป 2021 (SITE 2021) จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)

วันที่ 2 ตุลาคม 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยที่มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ยาฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) เป็นหนึ่งในยาที่ใช้รักษาโรคโควิด-19 ตามแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงสาธารณสุข
จุดเริ่มต้นของการพัฒนายาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์สำหรับเด็ก

ในช่วงที่ผ่านมาทำให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงยาของผู้ป่วย เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2564 ได้มีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และเภสัชกรภาคอุตสาหกรรม นำโดย ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ และ ภญ.ศุภศิล สระเอี่ยม จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ และ ผศ.ภก.ดร. วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ภาควิชาอาหารและเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงความร่วมมือจากเภสัชกรภาคอุตสาหกรรม

ได้แก่ ภญ.ดร.อริยา ขุนวิไชย ภญ.พร้อมพร จำนงธนาโชติ ภญ.ดร.วัลลภา เหมือนนุ่มและ ภก.ดร.จิรวิร์ ปวิตรปก เพื่อหาทางออกในการเข้าถึงยาฟาวิพิราเวียร์ โดยอาศัยองค์ความรู้ทางด้านเภสัชกรรมหลายศาสตร์จากเภสัชกรหลายภาคส่วน

ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ และ รศ.ภก.ดร.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ภาควิชาอาหารและเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ผู้พัฒนายาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์สำหรับเด็ก เปิดเผยว่า ในช่วงที่โรคโควิด-19 มีการระบาดอย่างหนัก คนไข้ผู้ใหญ่ที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ในปริมาณที่ใช้สำหรับ 5 วัน จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 4,000 – 5,000 บาทต่อคน ดังนั้น คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ จึงได้นำเสนอแนวคิดในการพัฒนาตำรับยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถเตรียมยาให้ผู้ป่วย ในขณะที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีตัวยาสำคัญของฟาวิพิราเวียร์อยู่แล้ว ทำให้สามารถดำเนินโครงการได้อย่างรวดเร็ว

“ในช่วงเวลานั้นประมาณการว่าผู้ป่วยเด็กที่จำเป็นจะต้องใช้ยาในการรักษาอาจจะมีจำนวน มากขึ้น ยาตำรับน้ำเชื่อมจะช่วยให้ผู้ป่วยเด็กสามารถได้รับยาในขนาดที่ถูกต้อง และสะดวกต่อการรับประทาน จึงเป็นที่มาของการเริ่มต้นพัฒนาตำรับยาฟาวิพิราเวียร์ในรูปแบบน้ำเชื่อมสำหรับการเตรียมยาภายในโรงพยาบาล (Hospital preparation) แม้ว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วย โควิด-19 กลุ่มเด็กจะลดลงบ้างแล้ว ก็ยังมีความจำเป็นอยู่มาก เนื่องจากยังไม่มียาฟาวิพิราเวียร์ในรูปแบบน้ำเชื่อมออกจำหน่ายในท้องตลาด การพัฒนาสูตรตำรับในสถานการณ์ฉุกเฉินจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้ง่ายและเร็วขึ้นด้วยต้นทุนที่ไม่แพง”

สำหรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 สูตรโรงพยาบาลจุฬาภรณ์นี้ มีลักษณะเป็นยาน้ำเชื่อมสีส้มใสปราศจากน้ำตาล แต่งรสและกลิ่นราสเบอรี่ มี 2 ขนาด คือ ขนาด 800 มิลลิกรัมใน 60 มิลลิลิตร และขนาด 1,800 มิลลิกรัมใน 135 มิลลิลิตร รูปแบบของยาน้ำเชื่อมนี้จะช่วยให้เกิดความสะดวกสำหรับการให้ยาในเด็กหรือผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการกลืนยา โดยให้ผู้ป่วยรับประทานยาขณะ ท้องว่าง วันละ 2 ครั้ง ห่างกันทุก 12 ชั่วโมง

ปัจจุบันมีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในกลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป ยาฟาวิพิราเวียร์ในรูปแบบน้ำเชื่อมนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะในผู้ป่วยเด็กเท่านั้น ยานี้ยังสามารถให้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยจะใช้ยาในปริมาณที่แตกต่างกัน ระยะเวลาที่ใช้อย่างน้อย 5 วัน ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษาด้วย ส่วนผลข้างเคียงของยาตำรับนี้จะเหมือนยาฟาวิพิราเวียร์ ในรูปแบบเม็ด เช่น ต้องมีการปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องในระดับปานกลาง ถึงรุนแรง เป็นต้น

“เรื่องการควบคุมคุณภาพเป็นสิ่งที่ทีมผู้วิจัยให้ความสำคัญอย่างมาก เรามีการกำหนดข้อกำหนดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ยา (drug product specification) ของสูตรตำรับ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ยา ที่ได้มีปริมาณตัวยาสำคัญอยู่ในช่วงที่ต้องการ มีการควบคุมปริมาณสิ่งเจือปน(impurity)การควบคุมปริมาณสารกันเสีย(preservative)รวมถึงเรื่องคุณสมบัติทางกายภาพและเคมี (physical/chemical properties)นอกจากนี้มีการศึกษาความคงตัวของผลิตภัณฑ์ยา เพื่อให้มั่นใจว่ายามีความคงตัวตลอด อายุไขของยา”