เปิดวิธีลูกจ้าง ม.33 ยื่นรับเงินทดแทน 50% กรณีว่างงานเหตุน้ำท่วม

โอนเงินเยียวยา

ลูกจ้าง ม.33 รับเงินทดแทน 50% กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย (น้ำท่วม) ส่วนนายจ้างยื่นกู้ดอกเบี้ยต่ำได้สูงสุด 30 ล้านบาท

วันที่ 6 ตุลาคม 2564 สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดจากอิทธิพลพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ ได้ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก จนกระทบต่อนายจ้าง/สถานประกอบการจำนวนมากไม่สามารถเปิดกิจการได้ ขณะเดียวกันมีลูกจ้างหลายคนไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้เนื่องจากน้ำท่วมที่พักอาศัย

นางสาวลัดดา แซ่ลี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย (น้ำท่วม) จนต้องหยุดงาน ไม่ได้รับค่าจ้าง ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย สามารถยื่นรับเงินทดแทนจากเงินกองทุนประกันสังคมได้

“จะได้รับเงินทดแทนในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ไปทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย แต่ไม่เกิน 180 วัน โดยมีเงื่อนไขว่า สถานประกอบการต้องไม่สามารถประกอบกิจการได้ชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัย เช่น น้ำท่วม หรือบ้านลูกจ้างถูกน้ำท่วมจนไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้ ทั้งนี้ ลูกจ้างต้องยังไม่ถูกเลิกจ้าง และจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 ใน 15 เดือน นับย้อนหลังตั้งแต่วันที่หยุดงานด้วยเหตุสุดวิสัย”

ขั้นตอนการยื่นขอเงินทดแทนมีดังนี้

  • โหลด แบบคำขอรับผลประโยชน์ ในกรณีว่างงาน หรือ สปส. 2-01/7 (คลิกที่ลิงก์)
  • กรอกรายละเอียดในแบบฟอร์ม และลงรายมือชื่อ
  • แนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของลูกจ้าง และหนังสือรับรองจากนายจ้างว่ามีเหตุน้ำท่วมจนไม่สามารถประกอบกิจการได้ชั่วคราว หรือรับรองว่าบ้านลูกจ้างถูกน้ำท่วมจนไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้ จากวันที่เท่าไหร่ ถึงวันที่เท่าไหร่ ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องแนบสำเนาบัตรประชาชน
  • ส่งทางไปรษณีลงทะเบียน ไปที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่กรุงเทพมหานคร/จังหวัด/สาขา ที่ท่านสะดวก

“การจ่ายเงินกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยเป็นการจ่ายเงินหลังจากวันที่ลูกจ้างมาทำงานได้แล้ว ดังนั้น เมื่อน้ำลดแล้วจึงค่อยยื่น นอกจากนั้น ลูกจ้างไม่ต้องขึ้นทะเบียนคนว่างงานและรายงานตัวกับกรมการจัดหางาน เนื่องจากยังมีสถานะเป็นพนักงาน ไม่ได้ลาออก หรือถูกเลิกจ้าง”

เอกสาร สปส.2-01/7

ส่วนการช่วยเหลือนายจ้าง นางสาวลัดดาอธิบายว่า มีการลดอัตราส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมจำนวน 3 เดือน นับตั้งแต่กันยายน-พฤศจิกายน 2564 โดยลดอัตราเงินสมทบเหลืออัตราร้อยละ 2.5 จากร้อยละ 5 ทั้งนี้ นายจ้างที่ไม่สามารถเปิดกิจการได้และไม่ได้จ่ายค่าจ้าง ไม่ต้องส่งเงินสมทบ

นอกจากนั้นมีโครงการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยนายจ้างที่รักษาจำนวนลูกจ้างไว้ไม่น้อยกว่า 80% ของจำนวนผู้ประกันตนทั้งหมด สามารถยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารที่ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ไว้กับสำนักงานประกันสังคมได้ โดยปัจจุบันธนาคารมีจำนวน 5 ธนาคาร ได้แก่

  • ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)
  • ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

นายจ้างที่มีจำนวนลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ได้วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท และนายจ้างที่มีจำนวนลูกจ้างตั้งแต่ 201 คนขึ้นไป ได้วงเงินไม่เกิน 30 ล้านบาท ซึ่งกำหนดวงเงินรวมที่ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 201 คนขึ้นไป ไม่เกิน 20% ของวงเงินสินเชื่อที่ธนาคารได้รับจัดสรรปัจจุบัน (วงเงินธนาคารละ 2,000 ล้านบาท)

การพิจารณาให้สินเชื่อเป็นไปตามระเบียบและดุลพินิจของแต่ละธนาคาร กรณีมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 2.75% ต่อปี และกรณีไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 4.75% ต่อปี

ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถขอหนังสือรับรองสถานะความเป็นสถานประกอบการในระบบ e-service ของประกันสังคม (www.sso.go.th/eservices/esv/index.jsp) โดยเลือกหัวข้อ ขอหนังสือรับรอง (โครงการสินเชื่อฯ) หรือสแกน QR code ซึ่งผู้ประกอบการสามารถติดต่อยื่นคำขอสินเชื่อที่ธนาคารทั้ง 5 แห่งข้างต้นได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564